การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ปรับเปลี่ยนวงโคจรของโลกในชั่วพริบตา ทันใดนั้นคนกว่าครึ่งโลกกักตัวอยู่ในบ้าน
หลายคนเจ็บป่วย หลายคนตาย หลายคนตกงาน
วิถีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อว่า เทคโนโลยีและความรู้ในศตวรรษที่ 21 สยบต่อเชื้อโรคตัวเล็กๆ ราบคาบ
การปิดเมืองกักตัวทำให้เราไม่สามารถกินอาหารที่ร้าน ต้องซื้อหรือสั่งอาหารกลับไปกินที่บ้าน หมดเวลาสำหรับการไปดูหนังสักเรื่องในโรงภาพยนตร์ การกินไอศครีมหรือจิบกาแฟในร้าน
แม้แต่การตัดผม!
เราเสียไปหลายอย่าง
ใช่ เราเสียไปหลายอย่าง แต่เราก็ได้มุมมองชีวิตใหม่หลายอย่างที่เราอาจไม่เคยมองมาก่อน
แต่ก่อนเวลาที่เราไปร้านอาหาร เรามักคุยว่าอาหารอร่อยหรือไม่อร่อย ถ้าอาหารไม่อร่อย เราก็อาจบ่นแล้วไปแชร์ในโลกโซเชียล เวลาขับรถ ถ้ามีรถเยอะหน่อย เราบ่นว่า “รถติดจังเลย” ไปดูหนังที่เราไม่ชอบ เราก็บ่น
หลังจากโควิด เราอาจจะมีโอกาสมองโลกใหม่ ทั้งที่มันเป็นโลกใบเดิม
หลังจากโควิด การแค่ได้ไปนั่งในร้านอาหารก็คือความสุขแล้ว รสชาติยังไม่สำคัญเท่าการได้ไปนั่งในร้านอาหารโดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหวาดระแวงว่าเราจะปลอดภัยหรือไม่
หลังจากโควิด การไปดูหนังอาจไม่เหมือนเดิม คราวนี้หนังไม่ดีก็ไม่เป็นไรเพราะการได้ไปดูหนังก็คือความสุขแล้ว การได้เดินไปตามถนนสกปรก อากาศมีฝุ่นก็อาจเป็นความสุข!
แม้แต่การเบียดเสียดในรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ ก็อาจไม่เลวร้ายเมื่อเทียบกับความไม่สะดวกในช่วงโควิดระบาด เช่นต้องเดินทิ้งระยะห่างสองเมตรกับคนอื่นตลอดเวลาที่ออกนอกบ้าน และใบหน้าจมอยู่ใต้หน้ากากอนามัย
คนเรามักเห็นคุณค่าของสิ่งหนึ่งเมื่อสูญเสียมันไป
นอกจากชีวิตของมนุษย์ ยังมีการเปลี่ยนแปลงในสเกลใหญ่กว่ามนุษยชาติ ผลจากการที่คนลดกิจกรรมนอกบ้านทำให้ธรรมชาติฟื้นตัว ท้องฟ้าสดใสขึ้น อากาศเมืองใหญ่หลายเมืองสะอาดขึ้น เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่ชาวอินเดียมีโอกาสเห็นเทือกเขาหิมาลัยด้วยตาเปล่าอีกครั้ง หลังจากอากาศปกคลุมด้วยฝุ่นควันทั้งปีทั้งชาติ
ทะเลสะอาดขึ้น ป่าเงียบขึ้น เต่าวางไข่มากขึ้น ปลามีความสุขขึ้น แม้แต่สิงโตก็ออกมานอนเล่นตามท้องถนนบางสาย
บางทีโควิด-19 บอกเราทางอ้อมว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราทำลายธรรมชาติจนบอบช้ำเพียงไร
มองแบบนี้ก็อาจเห็นว่าโควิดมิเพียงเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็น New Normal มันยังเปลี่ยนวิธีคิด มุมมองต่อโลกและชีวิตเป็น New Notion (วิธีคิด)
ประสบการณ์โควิดยังทำให้เรามองเห็นว่า ถ้าเพียงการกักตัวทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในคุก คนที่อยู่ในคุกจริงๆ นานเป็นปีๆ จะรู้สึกแย่กว่านี้ขนาดไหน
มันทำให้เราเห็นคุณค่าของการอยู่อย่างอิสระในโลกที่เราบ่นว่าไม่ดีพอ มันอาจทำให้เราระวัง ไม่ทำตัวเสี่ยงคุกตะราง
มันยังทำให้เรานึกถึงสัตว์ป่าในสวนสัตว์ พวกมันถูกกักตัวทุกวันจนวันสุดท้ายของชีวิต และสัตว์ที่ถูกเลี้ยงในกรงอย่างปล่อยปละละเลย
มันทำให้เราเข้าใจประโยค “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” มากขึ้น ทั้งต่อมนุษย์ด้วยกัน และธรรมชาติ
เรายังอาจใช้ประสบการณ์โควิดขยายโลกทัศน์และมุมมองต่อชีวิตในเรื่องความตาย
ความตายที่ปรากฏขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนทั่วโลก ทำให้เราพบว่า เราทุกคนสามารถตายเมื่อไรก็ได้ ง่ายกว่าเร็วกว่าที่คิด
มันสอนให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท และเข้าใจสัจธรรมของความไม่แน่นอน
ตัวอย่างทั้งหมดนี้ย่อมมิได้บอกว่าเป็นเรื่องดีที่โควิดมาเยือน แต่บอกว่า แม้แต่ประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดก็เป็นครูสอนเราได้
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เขียนว่า “ในทางพระพุทธศาสนา ท่านสอนให้รู้จักถือเอาประโยชน์จากสถานการณ์ และจากประสบการณ์ทุกอย่าง เรื่องราว ความเป็นไป และสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าดี ไม่ว่าร้าย ถ้ามองให้ดี มองให้เป็นแล้ว ก็ได้ประโยชน์ทุกอย่าง”
ทุกวิกฤติมีโอกาส ทุกสถานการณ์สามารถเป็นครูของเรา
ทุกเหตุการณ์สามารถเปิดโลกทัศน์ของเรา
ถ้าเรามองให้ดี บางทีเชื้อโรคเล็กๆ ก็สอนเราได้
คอลัมน์ ลมหายใจ
เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/