สารคดีแนะนำ เกร็ดความรู้เรื่อง ‘แมว’ และควอนตัมฟิสิกส์

-

นอกเหนือจากหนังสือที่ได้รับรางวัล ‘หนังสือดีเด่น’ เซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2566 ซึ่งคอลัมน์ถนนวรรณกรรมได้มีแนะนำไปแล้วนั้น เรายังอยากกล่าวถึงหนังสือกลุ่มที่ได้รับรางวัล ‘หนังสือแนะนำ’ ซึ่งมีความน่าสนใจ และมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ในหมวด ‘สารคดี’ นั้น แต่ละเล่มต่างนำเสนอเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันไป ผู้อ่านจะได้เปิดโลกทัศน์จากความรู้หลากหลายแขนง เชื่อว่าต้องมีสักเล่มที่ตรงใจคุณ เราขอประเดิมด้วยการเอาใจทาสแมวทั้งหลาย ด้วยหนังสือ 2 เล่มที่ว่าด้วยเรื่อเล่าของแมวในประวัติศาสตร์ และแมวที่อยู่ในการทดลองยากๆ อย่างควอนตัมฟิสิกส์

ประวัติศาสตร์แมว 

เขียนโดย ชาครีนรทิพย์ เสวิกุล

ผมเป็นคนรักสัตว์ แต่ชื่นชอบหมากับแมวเป็นพิเศษ ตอนไปทำงานที่ประเทศตุรกี มีโอกาสไปเจอแมวดังของที่นั่นชื่อ ‘กลิ’ (Gli) เป็นแมวเฝ้ามัสยิดอายาโซเฟีย แม้แต่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาก็เคยเล่นกับแมวตัวนี้ พอได้ข่าวว่าแมวตัวนี้ตายแล้ว ผมพลอยรู้สึกโศกเศร้า และเกิดแรงบันดาลใจอยากเขียนหนังสือเกี่ยวกับแมว 

โครงเรื่องหนังสือเริ่มต้นที่ ‘กลิ’

การเลือกประเด็นและวางโครงเรื่องหนังสือนั้น เริ่มต้นด้วยความอยากเล่าเรื่องของกลิ แต่ความเป็นมาของเขาอาจไม่มากพอที่จะทำเป็นเล่มได้ ทำยังไงจะดำเนินเรื่องราวไปถึงกลิ เลยค้นคว้าเพิ่มเติม จากนั้นก็เจอประเด็นที่น่าสนใจ จึงแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ เช่น ‘แมว ความเชื่อ โชคลาง และไสยศาสตร์’ สมัยก่อนแมวเคยได้รับการยกย่องบูชาเป็นเทพเจ้า ‘บทบาทของแมวในการต่อสู้และสงคราม’ ช่วงสงครามเย็นเคยมีความพยายามฝึกแมวเป็นสายลับ แมวบางตัวไม่น่าจะอยู่หัวข้อเดียวกันได้ แต่ผมก็พยายามมองหาประเด็นเพื่อร้อยเรียงเข้าด้วยกัน หนังสือเล่มนี้ส่งท้ายด้วยหัวข้อ ‘คาเฟ่แมว’ เป็นความตั้งใจแต่แรกที่อยากพิมพ์คำว่า ‘จบบริบูรณ์’ ขณะที่นั่งอยู่ในคาเฟ่แมวครับ

 แกะรอยสืบค้นเจ้าเหมียวทั่วโลก

ข้อมูลประกอบการเขียนมาจากทั้งหนังสือและอินเทอร์เน็ต แม้โฟกัสที่เรื่องของแมวแต่ก็ต้องสืบค้นถึงประวัติศาสตร์ช่วงนั้นๆ เพื่อเล่าให้เห็นภาพ ตัวอย่างยุคกลางซึ่งมีการล่าแม่มดเกิดขึ้นในยุโรป แมวถูกโยงกับความเป็นแม่มด นำไปสู่การฆ่าแมวนับล้านตัว

เล่าเรื่องเดิมให้แปลกใหม่

มีผู้เขียนเรื่องของแมวค่อนข้างเยอะ และหลากหลายรูปแบบ จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งว่าจะนำเสนออย่างไรให้ไม่ซ้ำ ไม่มองว่าลอกกันมา 

เหตุการณ์ประทับใจ

ระหว่างเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นช่วงที่คลั่งแมวมาก ผมทำงานต่างประเทศไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ จึงชอบเล่นกับแมวจรจัด ครอบครัวรับรู้และตามใจ แถมยังช่วยถ่ายรูปแมวมาให้ด้วย ที่ตุรกีมีสถานที่คล้ายหมู่บ้านสำหรับแมว เทศบาลเป็นผู้สร้างเพื่อดูแลแมวจรจัดและแมวป่วย ให้อาหารและจัดการรักษาพยาบาล ที่นี่แมววิ่งเล่นได้อย่างเสรี ผมติดต่อขอเข้าไปดู ทว่าตรงกับช่วงโควิดซึ่งเขาปิดการเข้าชม แต่ถ้าเราสามารถเดินทางไปได้ เขาก็ยินดีเปิดให้ ผมและครอบครัวแพ็กกระเป๋าแล้วเดินทางทันที พอถึงที่หมายเจ้าหน้าที่ก็พาชมพื้นที่ต่างๆ ภายในนั้นซึ่งเป็นเหมือนนิคมของแมวเลยครับ กรูเข้ามารุม เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจ

แมวตัวโปรด

เรามักคุ้นเคยกับเรื่องของลิงหรือหมา ซึ่งเป็นสัตว์ที่ถูกส่งขึ้นไปในอวกาศ แต่ไม่ค่อยรู้ว่ามีแมวที่ถูกส่งขึ้นไปยังอวกาศด้วย ผมเองก็ไม่รู้มาก่อนเหมือนกัน พอค้นเจอก็ชอบ น่าสนใจ ต้องหาทางเล่าเรื่องนี้ในเล่มด้วย

สิ่งที่อยากสื่อสารผ่านหนังสือเล่มนี้

หนังสือเล่มนี้เป็นผลพลอยได้จากการนำความชอบส่วนตัวของผม คือแมว มาถ่ายทอดเป็นเรื่องราว ทำนองเดียวกับที่นักเขียนต่างประเทศสามารถเอาสิ่งที่ชอบและหลงใหลมาเขียนเป็นหนังสือเล่มได้ เช่นเรื่องเกี่ยวกับกล้วย ไก่ หรือขนมปัง 

3 เล่มในดวงใจของ ชาครีนรทิพย์ เสวิกุล

  • ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน The Alchemist

เขียนโดย Paulo Coelho

เป็นเรื่องที่ทำให้เชื่อมั่นในอานุภาพแห่งความฝันและความหวัง ผมมักมอบเล่มนี้เป็นของขวัญแด่คนที่รักและเคารพ และไม่ว่าผมจะย้ายไปทำงานที่ประเทศไหน ต้องนำเล่มนี้ติดตัวไปด้วยเสมอ

  • วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี Tuesday with Morrie

เขียนโดย Mitch Albom

เล่มนี้สอนให้รู้คุณค่าของการใช้ชีวิต

  • ปกรณัมปรัมปรา Mythology

เขียนโดน Edith Hamilton 

เป็นเล่มที่ทำให้เริ่มชอบอ่านหนังสือ ชอบประวัติศาสตร์ และชอบเทพปกรณัมจนถึงทุกวันนี้


ควอนตัม จากแมวพิศวง…สู่ควอนตัมคอมพิวเตอร์

เขียนโดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ

เล่มนี้เกิดจากการเล็งเห็นปัญหาบางอย่าง กล่าวคือ ศาสตร์เกี่ยวกับควอนตัมมีมานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่บ้านเรายังไม่มีหนังสือดีๆ ให้คนทั่วไปได้อ่าน มีแต่ตำราเรียนและหนังสือควอนตัมของฝรั่ง แต่ละเล่มจะเจาะลึกเป็นประเด็นๆ ไป เช่น เล่มนี้พูดถึงประวัติของทฤษฎีควอนตัม เล่มนั้นพูดถึงควอนตัมยุค 2.0 อีกเล่มพูดถึงควอนตัมคอมพิวเตอร์ ทีนี้เลยเกิดปัญหากับคนไทยที่อ่านหนังสือแปล เพราะเล่มนี้เล่าท่อนหนึ่ง เล่มนั้นก็เล่าอีกท่อน ยากที่จะเห็นภาพรวมและอ่านเข้าใจ เพราะหลายเล่มไม่เคยอธิบายพื้นฐานเลย เขาทึกทักว่าคุณน่าจะรู้อยู่แล้ว หรือถ้ายังไม่รู้ก็ไปอ่านเล่มอื่น
            ผมจึงเขียนเล่มนี้เพื่อเป็นคู่มือการอ่านหนังสือควอนตัมเล่มอื่น โดยนำเสนอตั้งแต่ประวัติ ประเด็นพื้นฐาน ไปจนถึงการประยุกต์และแนวคิดทางปรัชญาที่เกี่ยวกับควอนตัม รวมทั้งเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ด้วย พูดง่ายๆ คือเก็บครบทุกประเด็นสำคัญ

อ่านได้ทุกวัย แต่ต้องใช้ความพยายามสักหน่อย

ความท้าทายของเล่มนี้คือการเล่าเรื่องยากๆ ล้ำๆ อย่างแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับของเล็กๆ อย่างอะตอมที่มนุษย์มองไม่เห็น หรือแนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาทางควอนตัม ให้เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เล่มนี้นักเรียน ม.ปลาย น่าจะอ่านได้ ส่วนนักเรียน ม.ต้น ก็ต้องเป็นคนที่ชอบและสนใจวิทยาศาสตร์พอสมควร เนื้อหามีแทรกสมการฟิสิกส์ด้วย 

            ผมเคยเขียนหนังสือสัมพัทธภาพฯ ซึ่งใส่สมการเยอะกว่านี้ ปรากฏว่าพิมพ์ซ้ำถึง 5 ครั้ง คือหากคิดในกรอบเดิมว่าคนจะอ่านไม่รู้เรื่อง เราก็ไม่พัฒนาไปไหน สังคมไทยต้องการการยกระดับความรู้ แต่ก็ยอมรับว่าเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือที่คนทั่วไปอ่านได้ง่ายนักครับ

ควอนตัมคืออะไร 

ทฤษฎีควอนตัมคือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ซึ่งศึกษาพฤติกรรมของสสารในระดับเล็กมากๆ  อย่างอะตอม หรืออนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม นักวิทยาศาสตร์ศึกษาว่าอะตอมหรืออนุภาคเล็กๆ เหล่านั้นมีอันตรกิริยาต่อกันอย่างไร เช่น หากอะตอมจับตัวกันเกิดเป็นพันธะ แล้วพันธะนั้นแข็งแรงแค่ไหน โครงสร้างของโมเลกุลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร สมบัติต่างๆ เช่น สมบัติทางไฟฟ้าเป็นเช่นไร ตัวอย่าง โซลาร์เซลล์ หากต้องการพัฒนาโซลาร์เซลล์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ต้องไปศึกษาอะตอมและการจัดเรียงตัวของอะตอมซึ่งประกอบเป็นโซลาร์เซลล์ ว่ามีพฤติกรรมอย่างไร เรื่องแบบนี้ต้องใช้ทฤษฎีควอนตัมในการศึกษา

ของใช้จากเทคโนโลยีควอนตัม

เทคโนโลยีควอนตัมแบ่งเป็น 2 ยุค ยุคแรกเรียกว่าเทคโนโลยีควอนตัม 1.0 ซึ่งผลผลิตมีใช้กันจนเป็นปกติแล้ว เช่น หลอดไฟ LED, แสงเลเซอร์ และเครื่อง MRI 

ส่วนเทคโนโลยี 2.0 กำลังพัฒนากันอยู่และจะมีอุปกรณ์ต่างๆ ให้ใช้กันแพร่หลายในอนาคตไม่ไกลนัก หากเป็นควอนตัมคอมพิวเตอร์ก็จะคำนวณโจทย์ปัญหาบางอย่างได้เร็วมาก หรือหากเป็นควอนตัมเซ็นเซอร์ ก็จะมีความไวในระดับตรวจจับสูงมาก สมมติว่ามีธนบัตรร่วงหล่นบนพื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร ตัวเราอยู่ชั้น 4 ก็อาจใช้ควอนตัมเซ็นเซอร์ตรวจจับการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นได้ พูดตอนนี้อาจฟังดูล้ำสมัยจนไม่น่าเป็นไปได้ แต่อีกไม่นานเทคโนโลยีควอนตัมเหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติธรรมดา

‘แมว’ ในควอนตัมฟิสิกส์

ทฤษฎีควอนตัมมีลักษณะโดดเด่นแตกต่างจากวิทยาศาสตร์แขนงอื่นอยู่บ้าง ตรงที่ทฤษฎีควอนตัมมี 3 แง่มุม ได้แก่ 1. วิทยาศาสตร์ 2. เทคโนโลยี เมื่อนำวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้งาน และ 3.ปรัชญา ของควอนตัมคือการตั้งคำถามว่าความจริงคืออะไร

ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นการโยนเหรียญ เราโยนเหรียญไปขึ้นในอากาศ เมื่อเหรียญตกบนพื้น เราบอกได้ชัดเจนว่า ไม่ออก ‘หัว’ ก็ต้องออก ‘ก้อย’ พูดในภาษาฟิสิกส์นั้น เหรียญที่ตกบนพื้นแล้วมี 2 สถานะ ไม่หัวก็ก้อย ทีนี้หากถามว่าแล้วเหรียญที่ยังลอยอยู่กลางอากาศ ยังไม่ตกสู่พื้น สถานะของมันคืออะไร หากตอบแบบทฤษฎีควอนตัมคือ ‘มีความน่าจะเป็นหัวและก้อยอย่างละ 50%’ 

บรรดาของเล็กๆ หรืออะตอมที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษานั้นพบว่า สถานะหรือสมบัติต่างๆ ของมันก่อนการตรวจวัดจะไม่ชัดว่าเป็นแบบไหน เช่น ถ้าพูดถึงสปิน (spin) ก็มีสปินขึ้นกับสปินลง ก่อนการตรวจวัดพบว่ามีโอกาสที่จะเจอสปินขึ้นค่าหนึ่ง เช่น 70% และสปินลงอีกค่าหนึ่ง เช่น 30% แต่โอกาสของสองค่านี้รวมกันแล้วเป็น 100% เสมอ จนกว่าเราจะตรวจวัดด้วยอุปกรณ์ ซึ่งจะพบว่าสถานะของสปินมีแบบเดียว คือ ไม่ขึ้นก็ลง ด้วยความน่าจะเป็นเท่ากับ 100% คือหลังการตรวจวัดมี ‘สถานะชัดเจน’ 

ประเด็นนี้นำมาซึ่งข้อถกเถียงระหว่างกลุ่มนักฟิสิกส์ที่สนับสนุนกับกลุ่มที่ไม่สนับสนุนแนวคิดนี้ กลุ่มที่ไม่เชื่อและเห็นแย้งบอกว่าโลกเราควรมีความชัดเจน  ตัวอย่างหนึ่งเป็นการทดลองในจินตนาการอันโด่งดังซึ่งมีแมวมาเกี่ยวข้อง นักฟิสิกส์ชื่อ แอร์วิน ชเรอดิงเงอร์ ได้คิดค้นทดลองว่า มีกล่องใบหนึ่ง ติดตั้งอุปกรณ์ปลดปล่อยสารพิษ อุปกรณ์นี้ทำงานเชื่อมโยงกับสารกัมมันตรังสี กล่าวคือ หากเวลาผ่านไป เจ้าสารกัมมันตรังสีเกิดสลายตัว สารพิษจะถูกปลดปล่อย ในทางกลับกัน หากเจ้าสารกัมมันตรังสีไม่สลายตัว สารพิษก็ไม่ถูกปลดปล่อย ไคลแมกซ์อยู่ที่หากนำแมวตัวหนึ่งใส่ไว้ในกล่องใบนี้ ปิดทึบ เรามองไม่เห็นแมวและไม่ได้ยินเสียง เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ถามว่าแมวตัวนี้จะยังมีชีวิตอยู่ หรือตายไปแล้วเพราะโดนสารพิษ หากตอบตามแนวทางทฤษฎีควอนตัม ก็จะพูดว่า ‘เนื่องจากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีเกิดขึ้นแบบสุ่ม กล่าวคือมีความน่าจะเป็นเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงบอกไม่ได้ว่า ณ เวลาที่ถามนั้น สารกัมมันตรังสีสลายตัวแล้วหรือยัง ส่งผลให้แมวมีสถานะทั้งเป็นและตายในเวลาเดียวกัน!’  ชเรอดิงเงอร์กับไอน์สไตน์ไม่เห็นด้วยกับการตีความแบบนี้ เพราะมันขัดกับปรัชญาสัจนิยม พูดง่ายๆ คือ ฟังดูไม่มีเหตุผลเลยที่แมวจะเป็นและตายในเวลาเดียวกัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมหนังสือควอนตัมจำนวนหนึ่งจึงนำแมวขึ้นปก รวมทั้งเล่มที่ผมเขียนนี้ด้วย

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้จนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการทดลองไหนมาล้มล้างผลการทำนายตามทฤษฎีควอนตัมได้ ตัวทฤษฎีควอนตัมจึงเป็นที่ยอมรับในบรรดานักฟิสิกส์ทุกคน แต่ความพยายามตีความ ‘ความจริง’ อาจต่างกันได้กว่า 10 แบบ 

เสน่ห์ของฟิสิกส์

ฟิสิกส์ตั้งคำถามและพยายามอธิบายกลไกธรรมชาติ และมีแง่มุมประยุกต์ในเชิงเทคโนโลยี แต่ฟิสิกส์ยังมีแง่มุมที่เป็นปริศนา เป็นปรัชญา ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้ใช้จินตนาการและนำมาถกเถียงกันสนุกๆ เช่น การเดินทางไปในเวลา ซึ่งทฤษฎีสัมพัทธภาพไม่ปฏิเสธว่าเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง หรือมัลติเวิร์สที่บูมเมื่อไม่นานนี้ ก็มีฐานคิดมาจากฟิสิกส์เช่นกัน

หนังสือแนะนำประเภทสารคดี เซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2566

ขอขอบคุณผู้บริหารของบริษัทซีพี ออลล์ ที่ให้ความสำคัญแก่หนังสือ และส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านด้วยการมอบรางวัล ซึ่งเป็นการไฮไลต์หนังสือที่น่าสนใจสำหรับผู้อ่าน ขอบคุณคณะกรรมการที่ให้เกียรติหนังสือวิทยาศาสตร์เล่มนี้ และเล็งเห็นว่าหนังสือ ‘ควอนตัมแมวเหมียว’ ซึ่งเป็นชื่อเล่นที่ผมชอบเรียก เป็นหนังสืออันทรงคุณค่า

53 เล่มในดวงใจของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ

  • สิมม่วนชื่น

เขียนโดย อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย

วิธีการเล่าของเล่มนี้น่ารักมาก เพื่อนวัยรุ่นเขียนจดหมายถึงกัน อ่านแล้วรื่นรมย์ ภาพประกอบก็สวยงาม คุณภาพสูง สะท้อนความละเมียดละไมของวัฒนธรรมอีสานและการจัดทำหนังสือ

  • ริมขอบฟ้า

เป็นหนังสือที่ระลึกในงานศพของ คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้สร้างเมืองโบราณ ผมรู้สึกทึ่งที่คุณเล็กมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล สร้างสิ่งที่เป็นมรดกไว้ให้โลก ให้คนรุ่นหลัง คนรวยสามารถลงทุนทำอะไรก็ได้ แต่น้อยคนจะลงทุนเพื่อมนุษยชาติเช่นนี้ ทุกครั้งที่ผมรู้สึกท้อแท้ใจ เพียงแค่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเปิดบางหน้าก็จะสบายใจขึ้น

  • กว่าจะครองอำนาจนำ

เขียนโดย อาสา คำภา

เล่มนี้ช่วยให้เข้าใจการปฏิสัมพันธ์และเอื้อประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำในสังคมไทย ช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมืองในบ้านเมืองเราอย่างถึงแก่น


คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!