สวัสดีปีใหม่พ.ศ. 2567 ค่ะ ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านมีความสุขความเจริญตลอดปีนะคะ ฉบับนี้ผู้เขียนจึงใคร่นำเสนอสำนวนซึ่งใช้ในบริบทด้านดี ได้แก่สำนวน ‘ส้มหล่น’ ‘ราชรถมาเกย’
ส้มหล่น
‘ส้ม’ เป็นผลไม้ที่นิยมบริโภค มีหลายชนิด บ้างก็ปลูกไว้กินเองหรือปลูกไว้ขาย บางชนิดต้นมีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง บางชนิดก็มีขนาดกลาง เช่น ส้มเกลี้ยง ส้มโอ เป็นต้น ถ้าเป็นต้นส้มขนาดกลางซึ่งสูงประมาณ 3-7 เมตร ปกติก็จะเก็บผลส้มโดยสอยจากต้น แต่อาจมีบางครั้งที่ไม่ต้องออกแรงสอย แต่ส้มหล่นมาให้กินเอง
เมิ่อ ‘ส้มหล่น’ ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนจึงมีความหมายไปในด้านบวก หมายถึงการได้รับผลประโยชน์โดยไม่ได้คาดฝันคาดคิด ไม่ต้องออกแรง ไม่ต้องลงทุน ซึ่งนับว่าเป็นโชคดี เช่น วันหนึ่งศุภโชคกลับจากงานก็เรียกหาภรรยาแล้วบอกข่าวดีว่า “นี่เธอ วันนี้คุณย่าโทรมาเรียกให้ไปกินข้าวบ้านท่านตอนพักกลางวัน บอกว่าจะยกที่ดินแถวดอนเมืองซึ่งท่านซื้อไว้นานแล้วให้เป็นของเรา โชคดีชะมัดที่อยู่ๆ ก็ส้มหล่นลงมาอย่างไม่คาดฝัน วันเสาร์นี้พาลูกไปกราบขอบคุณท่านด้วยกันนะ”
ราชรถมาเกย
ในพระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ 4 ภาคที่ 2 ตอนอรรถมหานิบาต มหาชนกชาดกที่ 2 มีเนื้อความตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องราชรถมาเกยว่า พระอริฏฐชนกราชเป็นกษัตริย์แห่งเมืองมิถิลา แคว้นวิเทหะ มีพระอนุชาคือพระโปลชนกทรงดำรงตำแหน่งอุปราช ต่อมาอำมาตย์ผู้ใกล้ชิดทูลยุยงพระราชาว่าจะถูกอุปราชปลงพระชนม์ พระอริฏฐชนกจึงจับพระอนุชาจำขังไว้ แต่พระโปลชนกเสด็จหนีออกจากที่คุมขังมาอยู่ที่ปัจจันตคามแห่งหนึ่ง ทรงประชุมไพร่พลแล้วเดินทางมายังเมืองมิถิลาโดยมีชาวมิถิลาเข้ามาร่วมทำสงครามด้วย ในการสงครามครั้งนี้พระอริฏฐชนกราชถูกทหารของพระโปลชนกปลงพระชนม์ พระมเหสีซึ่งทรงครรภ์อยู่ได้เสด็จหนีออกจากเมืองมิถิลาไปยังนครจัมปากะด้วยการช่วยเหลือของท้าวสักกเทวราช และได้พราหมณ์เฒ่าผู้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์พาไปอยู่ด้วยในฐานะน้องสาว ในเวลาต่อมาพระมเหสีก็ประสูติโอรส ตั้งพระนามว่ามหาชนกกุมาร พระกุมารได้ทรงเรียนไตรเพทและศิลปศาสตร์ทั้งปวง ครั้นมีพระชนมายุ 16 ชันษา ได้ทรงทราบความเป็นมาแต่หนหลัง ก็ทรงคิดจะเอาราชสมบัติของพระบิดาคืนมา จึงทูลลาพระมารดาเดินทางไปเมืองสุวรรณภูมิโดยทางเรือ แต่เกิดคลื่นใหญ่ในมหาสมุทร เรือแตก ทุกคนในเรือตายหมด แต่มหาชนกกุมารทรงเกาะเสากระโดงเรือขึ้นไปจนถึงยอดเสา ทรงกำหนดทิศที่เมืองมิถิลาตั้งอยู่แล้วทรงลงมาจากเสากระโดง แหวกว่ายไปในมหาสมุทร 7 วัน ด้วยความเพียรและบุญบารมีอันยิ่งท้าวโลกบาลทั้งสี่และนางมณีเมขลาจึงทรงช่วยเหลือ นางมณีเมขลาอุ้มพระกุมารไปยังเมืองมิถิลา เมื่อถึงก็วางให้บรรมทมบนแผ่นศิลาในสวนมะม่วง มอบหมายให้หมู่เทพเจ้าในสวนคอยอารักขา
เมื่อพระเจ้าโปลชนกราชสวรรคต เนื่องจากทรงมีแต่พระราชธิดาไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบราชสมบัติ เมืองมิถิลาจึงขาดผู้ครองนคร ปุโรหิตและเหล่าอำมาตย์ต่างเห็นพ้องกันว่าต้องเตรียมราชรถเทียมม้า 4 ตัวไปเสี่ยงทายหาผู้ที่จะมาเป็นกษัตริย์ ปุโรหิตสั่งราชรถว่า “ผู้ใดมีบุญที่จะได้ครองราชสมบัติ ท่านจงไปสู่สำนักของผู้นั้น” แล้วก็ปล่อยราชรถไป เมื่อราชรถแล่นมาถึงอุทยานที่พระกุมารบรรทมบนแผ่นหินก็หยุด ปุโรหิตจึงทูลให้เสด็จขึ้นครองราชย์ “พระมหาสัตว์นั้นได้ทรงพระนามว่ามหาชนกราช พระองค์เสด็จขึ้นสู่ราชรถอันประเสริฐเข้าพระนครด้วยสิริราชสมบัติอันสิริโสภาคใหญ่ ขึ้นสู่พระราชนิเวศ”
ครั้นมีผู้นำ ‘ราชรถมาเกย’ มาใช้เป็นสำนวนไทยจึงมีความหมายว่าได้รับโอกาสให้ดำรงตำแหน่งสูงโดยไม่คาดคิดมาก่อน เช่น ตอนหนึ่งนิทัศน์พูดกับศุภโชคเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นรองอธิบดีของกรมที่มีขนาดกลางแห่งหนึ่งที่ได้ย้ายมาเป็นอธิบดีของกรมขนาดใหญ่ในกระทรวงเดียวกันเพราะอธิบดีเกษียณอายุราชการว่า “ดีใจกับแกที่ได้รับตำแหน่งอธิบดี ขนาดรองอธิบดีที่กรมนั้นเขาจ่อจะได้ขึ้นแทนอยู่รอมร่อแล้ว ยังไม่ได้เป็น นี่แหละเรียกว่ามี ‘ราชรถมาเกย’ ทีเดียว ขอให้แกตั้งใจทำงานให้เต็มที่ตามที่ได้รับมอบหมายก็แล้วกัน จะได้เจริญยิ่งๆ ขึ้น”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์