เพลงลูกทุ่งไม่มีวันตาย

-

“ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก

อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดกบฏอัปลักษณ์”

จากบทประพันธ์ เวนิชวาณิช

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 6

ดนตรีจึงเป็นสื่อสากลที่เข้าได้ทุกยุคทุกสมัย ทุกชนชั้น

โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งไทยที่ถือกำเนิดมายาวนานในสังคมไทย เพราะตั้งแต่ผมจำความได้ก็รู้จักเพลงลูกทุ่งไทยแล้ว

จำได้ว่าตอนเด็กๆ หัดร้องเพลงของครูสุรพล สมบัติเจริญ มีโอกาสโชว์เสียงหน้าชั้นเรียนอยู่หลายครั้ง ซึ่งตอนนั้นเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดเทพลีลา

เพลงที่ใช้ร้องหากินก็มีอยู่เพลงเดียวคือน้ำตาจ่าโท ร้องอยู่ตั้งนานก็ยังไม่เลื่อนยศเป็นจ่าเอกหรือเรือตรีสักที

สาเหตุที่ร้องได้ก็เพราะได้ฟังเพลงจากวิทยุทรานซิสเตอร์แบบใส่ถ่านด้านหลัง ก็เปิดฟังรายการเพลงลูกทุ่งต่างๆ ฟังจนติดหูจนกระทั่งร้องได้

และที่ชอบร้องเพลงครูสุรพล สมบัติเจริญ ก็เพราะตอนผมเด็กๆ ครูสุรพล ดังมาก เรียกได้ว่าเป็นราชาเพลงลุกทุ่งเลยก็ว่าได้มีเพลงดังๆ ฮิตติดหูมากมาย คนร้องกันได้ทั้งบ้านทั้งเมือง

และทั้งเสียงของครูสุรพล ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ด้วยน้ำเสียงที่แปลกแตกต่างออกไปผมว่าจึงทำให้เลียนเสียงได้ไม่ยาก และผมก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบเลียนเสียงร้องของครูสุรพล

มาจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้เพลงลูกทุ่งก็ยังอยู่คู่สังคมไทยอย่างแน่นแฟ้น มีนักร้องใหม่ๆ มีเพลงใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ถ้าจะมองสาเหตุว่าทำไมเพลงลูกทุ่งไทยถึงยืนยงคงกระพันมาจนถึงปัจจุบันนี้ได้

ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น

  • ฟังง่าย เข้าใจง่าย

เพราะลูกทุ่งใช้คำตรงๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องแปลความอีกชั้น รักก็บอกว่ารัก เสียใจก็คือเสียใจ

มองหน้าต่างข้างบ้าน

เมื่อวานเขามีงานแต่งกัน

คนรวยแบงค์ โอ๊ยมาแย่งแฟนฉัน 

หัวใจมันสั่นเหมือนใครมาหั่นเอาหัวใจ

ใจจะขาดแล้วเอ๊ย  ใจจะขาดแล้วเอย”

“ศรเพชร  ศรสุพรรณ”

ฟังดูก็รู้เลยว่า เจ็บปวดใจมากเห็นแฟนมาแต่งงานอยู่ข้างบ้าน

ใจจะขาดแล้วเอ๊ย… ฟังแล้วร้องตามได้ไม่ยาก แล้วคนร้องก็ร้องได้โหยหวนเหมือนใจจะขาดจริงๆ

 

  • สื่อถึงวิถีชีวิต และสภาพสังคม เช่นเพลงเสียวไส้ ของครูสุรพล สมบัติเจริญ

“เสียวไส้จริงๆ คุณผู้หญิงสมัยนี้

แต่งตัวออกจากบ้านแต่ละที (แต่งตัวออกจากบ้านแต่ละที)

ช่างสั้นดี นะแม่คุณเอ๋ย

ผ้าผ่อน เมตรละไม่กี่สตางค์

ทำไมน้องนาง จึงขี้เหนียวจังเลย

ขาขาวๆ ก็พอไหว

(เอ๊า ขาขาวๆ ก็พอไหว)

แต่บางคนขาลาย ไม่เอาไหนเลย

เสียวไส้เต็มทน ตามถนน ตามถนนหนทาง

ไม่ว่าสาว ไม่ว่าสาวแก่แม่นาง

(ไม่ว่าสาว ไม่ว่าสาวแก่แม่นาง)

นุ่งสั้นกันจัง ตามอย่างกันเปี๊ยบเลย

แท็กซี่ วิ่งอยู่ตามถนน

พอมองเห็นขาหน้ามน

รถเลยชนกันเลย

ฮ่วย… มันซวยแต่เช้า

ก็เพราะไอ้ขาขาวๆ

เลยค้างค่าเช้าตามเคย”

เพลงนี้ก็โด่งดังมาในยุคของครูสุรพล

แต่ถ้ามาเปิดฟังตอนนี้จะทำให้รู้ได้ รู้ชีวิตความเป็นอยู่สภาพเศรษฐกิจ ประมาณปี 2510 กว่าๆ ที่กระแสวัฒนธรรมตะวันตกไหลบ่าเข้าในประเทศไทย ทำให้ผู้หญิงไทยสมัยนั้นนิยมการแต่งตัว เสริมสวยตามแฟชั่นตะวันตก คือมีการนุ่งกระโปรงสั้นนั่นเอง

และการที่มีแท็กซี่มัวแต่ดูผู้หญิงนุ่งสั้นจนทำให้รถชนกัน เลยต้องค้างค่าเช่าตามเคย ก็แสดงว่าแท็กซี่ตั้งแต่สมัยนั้น ก็ยังต้องเช่าเขาขับเหมือนกัน

  • ให้กำลังใจกัน

หลายเพลงลูกทุ่งที่สะท้อนการขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดโอกาสทางรายได้ และขาดโอกาสทางสังคม ต้องมุ่งหน้าเข้าเมืองกรุง เพื่อดิ้นรนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทุกข์บ้างท้อบ้าง แต่อยู่อย่างให้กำลังใจกัน เช่นเพลง

วันที่ได้คำตอบ

“วันที่โชคชะตาไม่อยู่เคียงข้างเรา

วันทีมีแค่เราที่อยู่เคียงข้างกัน

วันนั้นที่มีแต่จมล้มลุกคลุกคลาน

วันนั้นความจริงสลายกลายเป็นฝัน

วันนั้นเหลือแต่คำว่าเราจริงๆ

อยู่ร่วมทุกข์มากกว่าสุข

ก็ไม่เคยท้อไม่เคยทิ้งกัน

ยังปลอบใจกันทั้งทั้งที่ร้องไห้

สุดท้าย เราไม่เป็นอะไร

และสุดท้ายรักไม่เป็นอะไร

วันนี้ยิ่งรักรักกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

เมื่อผ่านพ้นวันที่มันเหนื่อยล้า

เราต่างได้รู้และได้เข้าใจ

ว่ารักแท้นั้นเป็นแบบไหน

วันที่เรานั้นได้คำตอบ

“มินตรา อินทิรา”

นี่คือเพลงยุคปัจจุบัน เวลาได้ฟัง เชื่อว่ายิ่งคนที่เจอกับอุปสรรคหรือปัญหา ยิ่งรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นทวีคูณ

นี่คือเสน่ห์ของเพลงลูกทุ่งไทยที่

เข้าใจ สัมผัสใจ รู้ใจ ซึมซับประทับใจ


คอลัมน์: ก้าวไกลไปข้างหน้า

เรื่อง: จตุพล ชมภูนิช 

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!