The Parades & Monster ความตายและความจริง

-

The Parades เปิดเรื่องด้วยตัวละครมินาโกะ แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ออกเดินทางตามหาลูกชายหลังทั้งคู่ประสบภัยสึนามิและพลัดพรากกัน แต่ระหว่างการตามหา เธอค้นพบว่าผู้คนรอบตัวดูแปลกไป ไม่ทักทาย ไม่โต้ตอบ จนเมื่อได้เจอคนที่พูดคุยกับเธอจึงได้รู้ความจริงว่า เธอตายไปแล้ว

มินาโกะคือวิญญาณที่ยังไม่ได้ไปต่อโลกหน้า เพราะเธอยังมีบางอย่างค้างคาใจ เหมือนวิญญาณอีกหลายดวงที่ยังข้องอยู่กับโลกใบนี้ เธอได้ไปเจอวิญญาณตกค้างอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ด้วยกันมานานเสมือนครอบครัว พวกเขาต่างก็ยังมีห่วงที่ทำให้ไม่สามารถไปต่อโลกหน้าได้

ห่วงที่เหนี่ยวรั้งแต่ละคนไว้ในโลกของวิญญาณอาจเรียกได้ว่าเป็น burden of unfinished business หรือภารกิจที่ยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น

  • วิญญาณที่รักในการทำหนัง อยากทำหนังเรื่องหนึ่งที่ยังไม่เคยถ่ายให้จบ เพื่อบอกเล่าชีวิตตนเองและสื่อสารกับอดีตคนรักที่แยกทางกันเมื่อครั้งเป็นหนุ่มสาว เขายังคงเฝ้าคิดถึงและรู้สึกผิดที่ไม่ได้บอกความในใจตั้งแต่เลิกร้างกันเมื่อหลายสิบปีก่อน
  • วิญญาณที่ได้แต่เฝ้ามองพ่อผู้แก่ชราต้องแบกภาระกิจการยากูซ่าของครอบครัวแทนที่จะเป็นตนเองรับช่วงและห่วงอดีตคนรักซึ่งยังคงทำใจไม่ได้เมื่อเขาตายไป
  • วิญญาณซึ่งยังห่วงพ่อแม่ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเงียบเหงาในฟาร์มชนบท
  • วิญญาณซึ่งยังห่วงใยลูกๆ เพราะเมื่อตนเองตายไปก็เหลือลูกๆ ที่ต้องอยู่กันตามลำพัง แถมลูกคนหนึ่งก็กำลังตั้งครรภ์

The Parades คือหนังญี่ปุ่นซึ่งเล่าเรื่องอย่างเรียบช้า เปี่ยมด้วยอารมณ์อบอุ่นละมุนละไมจากความสัมพันธ์ของกลุ่มตัวละครที่ยังสะท้อนภาพความโดดเดี่ยวและความเศร้า เส้นเรื่องหลักของหนังอาจยึดติดอยู่กับการตามหาลูกชายของมินาโกะ แต่ระหว่างทางก็จะเห็นวิถีชีวิตของตัวละครอื่นๆที่ยังตกค้างในโลกหลังความตาย

แม้จะเป็นเรื่องราวของวิญญาณ แต่สิ่งที่หนังต้องการสื่อสารคือชีวิตก็เหมือนหนังอีกหลายเรื่องที่ทำให้คนดูได้ระลึกถึง ‘การใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างคุ้มค่า’ เพราะในยามที่เรายังมีชีวิต ยังมีเวลา เราอาจละเลยที่จะทำสิ่งสำคัญ และก็เป็นหนังที่ถ่ายทอดความงดงามหรือด้านสว่างของมนุษย์ให้เรายังศรัทธาว่า เราไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวในความเศร้าที่เราแบกรับเสมอไป

Monster คือหนังญี่ปุ่นอีกเรื่องที่ไม่ควรพลาดและกำลังฉายใน Netflix เช่นเดียวกับ The Parades

แม้จะเป็นหนังดราม่าที่เล่าเรื่องเรียบช้าแต่สามารถกระทบใจคนดูได้ลึกซึ้งเหมือนกัน แต่ความแตกต่างที่สำคัญคือ The Parades เล่าเรื่องเดินหน้าอย่างตรงไปตรงมาตามลำดับเหมือนนับ 1 -10 จนจบ แต่ Monster ไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบนั้น

Monster เป็นหนังที่ดูไปพักหนึ่งแล้วต้องชะงักและอยากย้อนไปดูใหม่อีกรอบ ยิ่งดูยิ่งค่อยๆเปิดเผยความจริงที่จงใจทิ้งไว้เป็นปริศนา จนเมื่อเราดูจบเก็บทุกอย่างได้ครบ ก็อยากจะกลับไปชมอีกครั้งเป็นการทบทวน

===

หนังเปิดเรื่องด้วยคู่แม่ลูกที่อยู่กันตามลำพัง เพราะพ่อเสียชีวิตไปนานแล้ว มินาโตะเป็นลูกชายที่แม่รักและเอาใจใส่อย่างดี จนวันหนึ่งเธอสงสัยว่าลูกจะถูกครูใช้ความรุนแรงที่โรงเรียน เพราะมินาโตะมีบาดแผลตามตัวและมีพฤติกรรมแปลกไป บางครั้งก็ตั้งคำถามประหลาดๆ มินาโตะยอมเปิดอกบอกแม่ว่าที่เขาเป็นเช่นนี้มีสาเหตุจากครูที่โรงเรียนชื่อครูโฮริ

แม่ของมินาโตะจึงมุ่งหน้าไปโรงเรียน เพื่อเรียกร้องให้ทางโรงเรียนรับผิดชอบ แต่พอไปถึงเธอกลับยิ่งโมโหเมื่อเจอครูใหญ่ที่ดูไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนและคิดแต่จะจัดการตามระเบียบขั้นตอนโดยไม่นำพาว่าเธอกับลูกชายอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ ส่วนครูโฮริก็ไม่มีทีท่าว่าจะยอมรับผิดหรือสำนึกผิดจริงๆ แถมยังโต้กลับมาว่ามินาโตะต่างหากที่มีพฤติกรรมรุนแรงและทำร้ายคนอื่น

ในหนังเรื่องนี้มีการเอ่ยถึงสัตว์ประหลาดอยู่สามครั้ง

  • มินาโตะกับเพื่อนชื่อโยชิ ชอบร้องเป็นท่วงทำนองลอยๆขึ้นมาว่า “ใครคือสัตว์ประหลาด”
  • พ่อบอกว่าลูกชายเป็นสัตว์ประหลาด
  • ครูในโรงเรียนเรียกพ่อแม่ที่ชอบร้องเรียนการทำงานของครูว่าเป็นสัตว์ประหลาด

และหากคนดูอดทนดูจนเรื่องผ่านเข้าสู้ช่วงที่สองของเรื่อง จะพบว่า Monster ไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องทื่อๆ เกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงในโรงเรียนอย่างที่แม่ของมินาโตะพาเราไป

เพราะเมื่อเข้าสู่ช่วงที่สอง Monster เรียกร้องให้คนดูตั้งใจดูเรื่องราวทั้งหมดใหม่อีกครั้ง เผยความซับซ้อนและความลึกซึ้งของหนังที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องหลอกให้คนดูหลงเชื่อ และหลายคนก็อาจเผลอ ‘ตัดสิน’ ไปตามข้อมูลที่ได้มาโดยไม่รู้ตัว 

Monster มีสองประเด็นใหญ่ที่ดี

ประเด็นแรกคือเรื่องของ ‘สัตว์ประหลาด’ ซึ่งเมื่อเราดูไปจนจบเรื่องก็จะพบว่า Monster เป็นหนังที่พูดถึงกระบวนการที่สังคมบ่มเพาะเด็กคนหนึ่งให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไร ไม่ใช่แค่พ่อแม่ที่มีอิทธิพลต่อเด็ก แต่ค่านิยมหรือทัศนคติความเชื่อในสังคมก็มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เด็กหลายคนเข้าใจว่าตัวเองมีความผิดปกติ เข้าใจว่าตัวเองคือสัตว์ประหลาด และไม่กล้าพูดหรือเปิดเผยความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงต่อคนที่ไว้ใจ ทั้งที่สิ่งที่เขาหรือเธอเป็นคือ ‘ความปกติธรรมดา’ แต่เมื่อสังคมตีกรอบไว้ตัดสิน ก็นำเด็กๆ ออกจากคนที่หวังดีแล้วถลำเข้าไปในเส้นทางที่มืดมนลงเรื่อยๆ

ประเด็นสองคือการพูดเรื่อง ‘ความจริง’

เหตุการณ์ใน Monster จะไม่บานปลายหรือเลวร้ายเท่านี้ หากตัวละครเลือกที่จะพูดความจริง หรือมีการสืบสวนเรื่องราวในรั้วโรงเรียนโดยยึดหลักความจริง ส่วนสังคมในหนังก็เต็มไปด้วยคำนินทาหรือการพูดใส่ร้ายต่างๆ นานา เราเห็นแค่การบอกต่อแต่ไม่เห็นการค้นหาความจริง

ยิ่งมาเจอระบบโรงเรียนที่ต้องการให้ครูโฮริยอมรับคำกล่าวหาแล้วขอโทษ เพียงเพื่อปกป้องชื่อเสียงของโรงเรียนและกันไม่ให้เรื่องบานปลาย ประกอบกับครูใหญ่ซึ่งมีอำนาจสูงสุดก็เลือกที่จะไม่สน ‘ความจริง’ ด้วย ไม่มีการสืบสวนหรือให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง นั่นย่อมสะท้อนตัวตนของครูใหญ่ เพราะแม้แต่ความผิดในชีวิตส่วนตัวเธอก็เหมือนจะไม่ยอมรับว่ามีอยู่

สุดท้ายแล้วการเลือกที่จะไม่ให้ค่าแก่ความจริง อาจทำให้เบาใจในเบื้องต้น แต่บั้นปลายคือความเจ็บปวดเสียใจหรือรู้สึกผิดที่บางครั้งก็ไม่อาจฟื้นให้คืนสภาพเดิม


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง: ‘ผมอยู่ข้างหลังคุณ’

( www.facebook.com/ibehindyou , i_behind_you@yahoo.com )

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!