สงครามสมรส เป็นละครโทรทัศน์ที่สร้างจากนวนิยายเรื่องคดีรักร้าง ของผู้ประพันธ์นามว่า ‘เวฬุวลี’ นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลดีเด่น หมวดนิยายดราม่าครอบครัว โครงการช่องวันอ่านเอา ปี 2 และเป็นละครโทรทัศน์ที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง
การมีรางวัลการันตีย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์คุณภาพของผลงานได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากโครงการช่องวันอ่านเอานี้เป็นโครงการที่เฟ้นหานวนิยายเพื่อนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ โดยมี ‘พี่เลี้ยง’ ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนนวนิยายและนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ผู้มีชื่อเสียงและมีผลงานเป็นที่ยอมรับคอยให้คำเสนอแนะ แก้ไข จนกระทั่งสำเร็จเป็นนวนิยายทรงคุณค่า
แต่การการันตีด้วยรางวัลและพี่เลี้ยงมากฝีมือ ยังไม่น่าสนใจเท่ากับแนวเรื่อง เนื้อเรื่องและผลกระทบต่อความคิดของคนในสังคมไทย สงครามสมรสหรือคดีรักร้าง ได้ทำหน้าที่มอบมิติใหม่ของเรื่องเล่าให้แก่ชาวไทย แม้ว่า ‘เวฬุวลี’ มิได้เป็นนักประพันธ์ที่เสนอเรื่องแนวนี้เป็นเรื่องแรกก็ตาม เพราะก่อนหน้านี้จำได้ว่า เคยมีภาพยนตร์ไทยที่เสนอเรื่องเกี่ยวกับการหย่าร้างและเป็นคดีต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่ 2 เรื่อง แต่นั่นก็ผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว
ใน พ.ศ. 2528 ภาพยนตร์ไทยเรื่อง หย่าเพราะมีชู้ ผลงานกำกับการแสดงของ มานพ อุดมเดช เป็นภาพยนตร์ในแนวที่เรียกว่า courtroom drama คือเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการว่าความในศาล มีการชิงไหวชิงพริบในการสืบหาคดีและการว่าความ เนื้อหามีความเข้มข้น เพราะนอกจากเกี่ยวข้องการฟ้องหย่าแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและศีลธรรมของสังคมไทยในยุคนั้นด้วย ถัดมาอีก 2 ปี คือเมื่อ พ.ศ. 2530 มีภาพยนตร์แนวเดียวกัน ชื่อเรื่อง อย่าบอกว่าเธอบาป ผลงานกำกับการแสดงของ ธนิตย์ จิตนุกูล เป็นเรื่องราวของสุชาติ ทนายความที่ต้องต่อสู้คดีอาญาให้เรวดี หญิงสาวที่ตนเคยรัก และตกเป็นผู้ต้องหายิงสามีตัวเองตาย แต่เมื่อรูปคดีไม่สามารถชี้ได้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาจึงต้องพยายามสืบหาหลักฐานเพื่อช่วยให้อดีตคนรักหลุดพ้นคดี
ทั้งสองเรื่องนับเป็นภาพยนตร์คุณภาพที่ยังตรึงตราในหมู่ผู้นิยมภาพยนตร์ไทย เนื่องจากใช้รูปแบบการสืบสวน สอบสวน เกี่ยวข้องกับศีลธรรมจรรยาและกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ภาพยนตร์ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอเมื่อต้องขึ้นศาลในคดีหย่าร้าง
ความจริงแล้ว เมื่อเกิดคดีหย่าร้างกันขึ้น ผู้หญิงไม่เพียงถูกสอบสวนผ่านกระบวนการยุติธรรมในศาล ยังตกเป็น ‘ขี้ปาก’ ของชาวบ้าน ถูกชาวบ้านตรวจสอบและกล่าวหาอีกด้วย เนื่องจากในขนบของสังคมไทย เมื่อผู้หญิงตกลงปลงใจแต่งงานอยู่กินกับชายใด และจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากันแล้ว ผู้หญิงก็เท่ากับถูกล่ามด้วยกฎหมายและระบบศีลธรรม จำต้องกล้ำกลืนฝืนใช้ชีวิตกับสามีไปจนพรากจากกันในวันหนึ่งข้างหน้า
สภาพที่ผู้หญิงตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของระบบกฎหมายและระบบศีลธรรมนี้เองที่กดทับให้ผู้หญิงยอมจำนน ยิ่งมี ‘ลูก’ เข้ามาเป็น ‘บ่วง’ ให้ต้องดูแลด้วย ลูกก็กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงต้องอดกลั้นกับชีวิตสมรสอันขมขื่น
แม้ภาพยนตร์ไทยเรื่องอย่าบอกว่าเธอบาปและหย่าเพราะมีชู้จะกระตุ้นจิตสำนึกให้คนไทยสนใจเรื่องกระบวนการยุติธรรม และสะท้อนภาพว่าการต่อสู้ทางกฎหมายเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยปลดแอกผู้หญิงให้ลุกขึ้นสู้และฟอกขาวให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายถูก แต่กระแสก็เงียบหายไป ไม่ได้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมไทย
ครั้นถึง พ.ศ. 2567 ‘เวฬุวลี’ ได้นำเอากระบวนการยุติธรรมมาถ่ายทอดในนิยายของเธอ และถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ เพื่อชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงที่เมื่อแต่งงานแล้ว ต้องสวมบทบาท ‘เมีย’ และ ‘แม่’ แต่ผู้ชายกลับนอกใจ นำผู้หญิงอีกคนหนึ่งเข้ามาในชีวิต เธอจึงต้องต่อสู้เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของความเป็นเมียและแม่
แม้ว่ากระบวนการทางกฎหมายและการต่อสู้ในศาล มิอาจนำเอาความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวกลับคืนมาให้เหมือนเดิมได้ แต่ สงครามสมรส ครั้งนี้ต้องไม่ทำให้ผู้หญิงตกอยู่ใน
วาทกรรมที่ว่า “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” อีกต่อไป
มิติใหม่ที่ ‘เวฬุวลี’ และโครงการช่องวันอ่านเอาได้สร้างคุณูปการต่อวงการวรรณกรรมและสื่อบันเทิงไทยก็คือ การปลุกกระแสแนวเรื่อง courtroom drama ให้แพร่หลายในสังคมไทย นักเขียนนิยายและนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ตลอดจนผู้ผลิตต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อทำให้สมจริงมากที่สุด มีการชิงไหวชิงพริบในการว่าความในศาล มีการสืบหาข้อเท็จจริงทางคดี สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ของสื่อบันเทิงไทยที่ขยายวงกว้างกว่าเรื่องผัวๆ เมียๆ ตามที่นิยมกันอยู่
การหย่าร้าง และคดีที่เกี่ยวข้องกับการหย่าร้างมีความซับซ้อน และมีเรื่องราวแตกต่างกันไป หากสนใจเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แล้วนำมาดัดแปลงให้เกิดรสเพื่อความบันเทิง สังคมไทยจะมี ‘วัตถุดิบ’ ให้นักเขียนนิยายและนักเขียนบทละครโทรทัศน์ได้สร้างสรรค์ผลงานอีกมาก
หวังว่ากระแสละครโทรทัศน์เรื่องสงครามสมรส จะปลุกกระแสการอ่านการเขียนนิยายในแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้วงการประพันธ์และวงการบันเทิงได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่างที่ต้องการ
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ
ภาพ: ช่อง One31