‘เอ๊ะ’ ภักดี พลล้ำ ผู้นำรุ่น 2 แห่งวงหมอลำ ‘ระเบียบวาทะศิลป์’

-

‘พ่อเอ๊ะ’ ภักดี พลล้ำ คือผู้ซึ่งเป็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จของวงหมอลำที่มาแรงที่สุดขณะนี้ ‘ระเบียบวาทะศิลป์’ จากลูกชายเจ้าของวง ถูกจับให้ขึ้นเวทีตั้งแต่เด็ก ซึมซับการร้องลำอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งยังสัมผัสความยากลำบากของธุรกิจนี้อย่างใกล้ชิด จนเกือบละทิ้งเส้นทางแล้วมองหาอาชีพอื่นแทน แต่เหมือนฟ้าลิขิตให้เขามีหน้าที่สืบทอดวง พร้อมสร้างชื่อเสียงให้ขจรไกล จนคนไทยเปิดใจรับ ‘หมอลำ’ กันมากขึ้น

วงระเบียบวาทะศิลป์ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2506 โดยพ่อระเบียบ พลล้ำ กับแม่ดวงจันทร์ พลล้ำ คุณพ่อคุณแม่ของพ่อเอ๊ะ ซึ่งเป็นพระ-นางในวงหมอลำ พ่อเอ๊ะในวัยเด็กตามไปดูคุณพ่อคุณแม่แสดง และถูกจับขึ้นเวทีรับบทเป็นลูกหรือน้องของตัวเอก อยู่มาวันหนึ่งมีนักแสดงเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดด่วน พ่อเอ๊ะและพี่ชายเลยได้ขึ้นแสดงแทนแบบปัจจุบันทันด่วน ณ ตอนนั้นยังร้องลำไม่ได้ ทำได้แค่พูดบทสั้นๆ และบีบน้ำตาเรียกความสงสารจากคนดู ปรากฏว่าคนดูเมตตามอบเงินรางวัลให้ เป็นแรงจูงใจให้พ่อเอ๊ะอยากทำการแสดง แต่เมื่อเติบโตรู้งานเขาก็เห็นถึงความยากลำบากของการเป็นหมอลำ 

“สมัยก่อน 40 งานต่อปีก็ถือว่าเยอะแล้วนะ ก่อนจะถึงฤดูกาลแสดง พ่อระเบียบกับแม่ดวงจันทร์ต้องไปกู้เงินมาลงทุน ตัดชุด ทำฉาก ซื้อเครื่องดนตรี รายได้จึงหมดไปกับการใช้หนี้ ไม่มีเงินเหลือเก็บ แค่พอเลี้ยงตัวได้ เมื่องานแสดงขาดช่วง พ่อระเบียบจึงไปรับจ้างที่ประเทศอิรัก ฝากลูกเมียให้ลูกศิษย์ช่วยดูแล แต่เกิดเหตุการณ์พ่อระเบียบขับรถผิดกฎจราจร ถูกจับเข้าคุกที่นั่น บ้านขาดรายได้ เราเลยหยุดเรียนออกมาช่วยแม่หาเงิน พอพ่อระเบียบกลับไทย รายได้จากหมอลำก็ยังไม่พออยู่ดี จึงคิดจะกลับไปอิรักใหม่ เอาที่ไปจำนองหาเงินค่าเดินทาง แต่โชคร้ายโดนหลอกเอาเงินไปหมด ตอนนั้นสมบัติที่เหลือคือป้ายชื่อวงระเบียบวาทะศิลป์”

พ่อระเบียบตัดสินใจฟื้นวงระเบียบวาทะศิลป์อีกครั้ง ดึงพระเอก-นางเอกวงอื่นที่มีคิวว่างมาแสดงให้ เอาลูกหลานวัยรุ่นมาช่วยแสดง คนดูเมตตางานจ้างจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่พ่อเอ๊ะรู้เห็นถึงความลำบากของวงการหมอลำ เลยคิดหางานอื่น เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า “ตอนนั้นมีคนชวนไปเป็นแรงงานฝ่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศญี่ปุ่น จำได้ว่าได้เงินเดือนสามหมื่นบาท สมัยนั้นเยอะนะ เราก็อยากไป แต่พ่อกับแม่รั้งไว้ให้ช่วยวงก่อน ปีแรกไม่ได้ไป กะไปปีที่สอง พ่อก็รั้งไว้อีก รั้งอยู่อย่างนั้นจนปีที่ 4 ไม่ไปแล้วก็ได้ เลยอยู่แสดงกับวงมาตลอด 

“ตอนนั้นระเบียบวาทะศิลป์เป็นคณะแรกที่นำวัยรุ่นมาแสดง มีเรา พี่ชาย หลานชาย ลูกเพื่อนพ่อ สมัยนั้นดาราวัยรุ่นกำลังบูม ‘มอส’ ปฏิภาณ, ทาทา ยัง กำลังดังเลย พอเรานำวัยรุ่นมาแสดงคนดูก็นิยม เด็กทำอะไรก็น่าเอ็นดู ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น พอตกลงใจไม่ไปญี่ปุ่นแล้วก็ช่วยพ่อระเบียบพัฒนาวง เรามีมุมมองวัยรุ่น รู้ว่าเขาฮิตอะไร เข้าผับ เธค เพื่อดูโชว์ แล้วนำมาปรับใส่วงหมอลำ ทุกวันนี้เราก็ยังดูอยู่ ถ้าโชว์ไทยๆ ต้องไปที่สยามนิรมิต พาฝ่ายคอสตูมกับครูสอนเต้นไปดูโชว์สาวสองที่อัลคาซ่า, ทิฟฟานี่ หรือเพลงไหนที่กำลังฮิต ก็ร้องโชว์บนเวที เราต้องไม่หยุดอยู่กับที่ วงหมอลำไม่ได้มีแค่เราวงเดียว” 

อย่างไรก็ตาม มีช่วงที่พ่อเอ๊ะสารภาพว่าหลงทางกับการวางรูปแบบโชว์ “เราพยายามตัดช่วงลำออก เน้นเต้ย เอาใจคนรุ่นใหม่ที่ชอบสนุกสนาน ลืมนึกไปว่าคนดูเป็นร้อยเป็นพันคน คนมาดูลำก็มี เขาก็ต่อว่าเราที่ทิ้งลำ จริงของเขา ลำเรื่องต่อกลอน หมอลำก็ต้องมีลำ” โชว์ของวงจะเปลี่ยนทุก 3 เดือน แต่ไม่ทุกการแสดง ปรับเปลี่ยนแค่บางโชว์ เพื่อให้คนดูไม่จำเจ ยิ่งคนดูยุคสมัยนี้เบื่อง่าย เลยต้องปรับทั้งโชว์และชุดบ่อยกว่าสมัยก่อน

2565 คือปีแรกที่ระเบียบวาทะศิลป์ได้ขึ้นแสดงในเทศกาลดนตรีใหญ่อันดับหนึ่งของเมืองไทย Big Mountain Music Festival วัยรุ่นไทยได้รู้จักและสัมผัสศิลปวัฒนธรรมที่เรียกว่าหมอลำ และกลายเป็นกระแสระเบียบวาทะศิลป์ฟีเวอร์ “พูดถึงเรื่องนี้ทีไรก็น้ำตาไหล เป็นความภูมิใจ อยากให้พ่อกับแม่ที่เสียไปได้มาเห็น เราฝังใจมาตลอดว่าหมอลำคืออาชีพเต้นกินลำกินที่ต่ำต้อยที่สุดในบรรดาศิลปวัฒนธรรมไทย ขนาดวันไปทำสัญญา ยังไม่อยากเชื่อว่าจะได้แสดงในงานจริงๆ จะมีคนดูเราไหม แฟนคลับหมอลำคงไม่ซื้อบัตร 1,000-2,000 บาทไปดูบนเขาหรอก พอจบโชว์ของศิลปินรับเชิญคือ โจอี้บอย กับ จ๊ะ เราคิดว่าคนดูคงทยอยเดินออกไปเวทีอื่น แต่คนก็ยังปักหลักอยู่ ถึงร้องตามไม่ได้ก็พยายามเต้นให้ถูกกับจังหวะเพลงหมอลำ ตอนนั้นคือน้ำตาไหล พูดกับรูปถ่ายพ่อระเบียบว่า เราทำได้แล้ว เรานำหมอลำมาขึ้นเวทีระดับประเทศได้แล้ว”

ความดังของระเบียบวาทะศิลป์ไม่หยุดแค่ในไทย แผนงานขั้นต่อไปคือการโชว์ที่ออสเตรเลีย เริ่มจาก 2 เมือง หากกระแสตอบรับดีจะขยายสู่การทัวร์เมืองต่างๆ ในออสเตรเลียและภาคพื้นยุโรปตามลำดับ

วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่สุดที่วงระเบียบวาทะศิลป์ในยุคของพ่อเอ๊ะเผชิญ คือการระบาดของโควิด-19 “เจ้าภาพจ้างเราเรียบร้อยแล้วแต่เราแสดงไม่ได้ เงินกองตรงหน้าแต่ไปเอาไม่ได้ ทว่าค่าใช้จ่ายยังคงเดิม เรามีลูกน้อง 300 กว่าคนที่ต้องดูแล ใครจะกลับบ้านก็ต้องจ่ายค่ารถ ใครจะอยู่ก็ต้องจ่ายค่าน้ำไฟอาหาร ทีแรกคิดว่าแค่สองเดือนยังพอแบกไหว ไปๆ มาๆ เป็นปี ตอนนั้นคิดจนท้อจะทำยังไงดี ขายรถได้กี่บาท ขายเครื่องดนตรีคงไม่ได้ จะขายของออนไลน์ เราก็ไม่เก่งการตลาด ทีนี้มีช่วงรวมตัวกันได้ 6-7 คน เราก็ลองทำสตรีมมิ่งไลฟ์แบบคนอื่น ไปเช่าสตูดิโอแล้วร้องเพลง แฟนคลับแนะนำทำอย่างนั้นสิอย่างนี้สิ เปิดขายบัตร แรกๆ ก็ยังไม่เห็นเงิน ผ่านไปสักพัก แฟนคลับดูเยอะขึ้น เรียนรู้วิธีการโอนเงิน เลยมีเงินมาจุนเจือลูกน้องได้บ้าง แต่เหนื่อย เพราะเราต้องเปลี่ยนโชว์ทุกอาทิตย์”

แต่ไม่ว่าจะมีคนดูกี่คน พ่อเอ๊ะก็ถือคติ ทำให้สุดกำลังความสามารถ “เราไม่รู้หรอกว่าคนดู 3-4 คนนั้น อาจเป็นเจ้าภาพที่มาจ้างงานเราต่อไป เพราะฉะนั้นจงแสดงให้เต็มที่ เหมือนการขายอาหาร ถ้าทำอร่อย จะบรรยากาศหรูหรือไม่ คนก็อยากมาต่อคิวกินซ้ำ เราจะสอนลูกๆ ในวงให้ทำเต็มที่ เดี๋ยวสิ่งดีๆ จะตามมาเอง”


คอลัมน์: ยุทธจักร ฅ.ฅน

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!