ช้างม้าวัวควายกระแตกระต่ายเสือลายพาดกลอน
หมูป่าทั้งหมาแลเม่นกระตั้วกระเต็นอีเห็นพังพอน
(สร้อยลำตัดของเก่า)
กระผมนำเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ มาเล่าสู่ชาวเราให้คลายรำคาญใจจากความยุ่งเหยิงมากปัญหาของมวลมนุษย์ บางเรื่องเกี่ยวเนื่องไปถึงเทวดาและฤๅษีชีไพรผู้มีอิทธิฤทธิ์ อ้างตามตำราเก่าตำรับโบราณ ซึ่งจะเท็จจริงเพียงไรนั้นกระผมหาทราบไม่
ในบรรดาสัตว์บกทั้งปวงนั้น ‘ช้าง’ มีร่างกายโตใหญ่กว่าเขาอื่น แถมบางชนิดบางสายพันธุ์มีฤทธิ์เหาะเหิรเดินอากาศได้ ดังนั้นจึงเป็นที่แน่ว่า สัตว์ชนิดนี้ต้องมีตำนานชาติกำเนิดที่ไม่ธรรมดา ดังมีประวัติความเป็นมาพิสดารพันลึกบันทึกเป็นตำราฉบับหลวงมาแต่โบร่ำโบราณ คือ ตำรานารายณ์บรรทมสินธุ์
ช้างไปเกี่ยวอะไรกับนารายณ์บรรทมสินธุ์ เรื่องย่อ ๆ มีว่า พระนารายณ์บรรทมอยู่กลางเกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนม บรรทมแต่ละคราวกินเวลายาวนานถึงหนึ่งกัลป์ ขณะที่บรรทมหลับอยู่เกิดดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี (สะดือ) ครั้นดอกบัวนั้นบานก็บังเกิดพระพรหมอุบัติขึ้นกลางดอกบัวและทำหน้าที่สร้างโลกและสรรพสิ่งทั้งหลายในแต่ละกัลป์ โลกในกัลป์ที่ผ่านมาวอดวายไปหมดสิ้นเพราะถูกไฟประลัยกัลป์ทำลายล้าง พระนารายณ์จึงต้องบรรทมสินธุ์ให้เกิดดอกบัวสะดือและเกิดพระพรหมสร้างโลกสืบๆ ไปไม่รู้จบสิ้น ไทยเรารับคติความเชื่อดังกล่าวมาจากอินเดียโบราณ ในโคลงทวาทศมาสวรรณคดีเอกสมัยอยุธยา อันเป็นยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองพรรณนาว่า ดอกบัวที่ผุดจากสะดือพระนารายณ์นั้นเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
๏ ศรีสวัสดิกมลาสนล้ำเลอสรวง
ภูลภิรมยนาภีส่องสร้อย
ไตรรัตนจุฑาดวงกมลาศ
บานเบิกบงกชช้อยช่อมาลย ฯ
ก็แลดอกบัวที่ผุดจากพระนาภีพระนารายณ์นั้นมีกลีบดอก 8 กลีบ และเกสร 173 เกสร ครั้นดอกบัวบานเกิดพระพรหมสร้างโลกและสรรพสิ่งเรียบร้อยแล้ว พระนารายณ์ก็ตื่นบรรทม
“…จึงเสด็จไปสู่พระอิศวรถวายซึ่งดอกประทุมชาติ ณ เขาไกรลาศ ในกาล
เมื่อพระเป็นเจ้า 3 ภพพร้อมกันที่นั้น พระอิศวรเป็นเจ้าจึงแบ่งดอกบัวประทุมชาตินั้นออกเป็น4 ส่วนๆ 1 แปดเกสร ได้แก่พระอิศวรเป็นเจ้า ส่วนหนึ่งกลีบ 8 กลีบ
เกสร 24 เกสร ได้แก่ท้าวมหาพรหม ส่วนหนึ่งเกสร 8 เกสร ได้แก่พระนารายณ์
ส่วนหนึ่งเกสร 135 เกสร ได้แก่พระเพลิง…”
พระเป็นเจ้าทั้ง 4 นำกลีบบัวและเกสรบัวไปสร้างเป็นช้าง 4 ตระกูล คือ พระอิศวร สร้างช้างตระกูล อิศวรพงศ์ เป็นช้างชาติกษัตริย์ พระพรหมสร้างช้างตระกูล พรหมพงศ์ เป็นช้างชาติพราหมณ์ พระนารายณ์สร้างช้างตระกูล วิษณุพงศ์ เป็นช้างชาติแพศย์ และพระเพลิงสร้างช้างตระกูล อัคนีพงศ์ เป็นช้างชาติศูทร ช้างที่พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์สร้างมีแต่ช้างมงคลหรือช้างศุภลักษณ์ ส่วนช้างอัคนีพงศ์ที่พระเพลิงสร้างมีทั้งช้างศุภลักษณ์และช้างทุรลักษณ์
พระอิศวรสร้างช้าง 10 ตระกูล เช่น ฉัททันต์ อุโบสถ เหมหัตถี เป็นต้น แต่ละตระกูลตำราท่านระบุว่ามีอิทธิฤทธิ์อัศจรรย์พันลึก
“๏ ช้างหนึ่งชื่อฉัททันต์ สมบูรณ์สีขาวดังสีเงิน งาขาวดังเงินยวง มีรัศมี
6 ประการ งวงแดง หางแดง เล็บแดง สันหลังแดงประดุจดังบัลลังก์ศิลาอันแดง มีกำลังมากเดินในจักรวาลได้ 3 ล้าน 6 แสนหมื่น 3 ร้อย 50 โยชน์ แต่เช้าไม่ถึงงาย”
พระพรหมทิ้งกลีบบัว 8 กลีบ ลงในทิศทั้ง 8 เกิดเป็น ช้างอัฐทิศ ตามทิศต่างๆ เช่น ทิศตะวันออกเป็นช้างไอยราพต สีกายดุจสีเมฆเมื่อคลุ้มฝน ทิศใต้เป็นช้างพราหมณโลหิต สีกายดังสีโลหิต
พระนารายณ์นำเกสรบัว 8 เกสรไปสร้างเป็น ช้างอัฐคช เช่น สังขทันต์ สีดังทอง
พระเพลิงนำเกสรบัวไปสร้างเป็นช้างศุภลักษณ์ 51 จำพวก และช้างทุรลักษณ์หรือช้างโทษ 80จำพวก
ช้างเป็นยุทธพาหนะที่สำคัญในกองทัพไทยมาแต่โบราณ ผู้ที่เป็นจอมทัพต้องศึกษาวิชาคชกรรม การบังคับช้าง การใช้อาวุธบนหลังช้าง รวมทั้งวิธีแสวงหาช้างเถื่อนมาฝึกให้เชื่องเพื่อใช้ในราชการ และเป็นผลให้เกิดวรรณคดีสำคัญเกี่ยวกับช้างหลายเรื่อง เช่น คำฉันท์ดุษฎีสังเวย คำฉันท์กล่อมช้าง และตำราช้างคำฉันท์ ฯลฯ
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์