ชีวิตจอมปลอม ใต้ ‘หลังคาใบบัว’

-

หลังคาใบบัว บทประพันธ์ของ ‘กัญญ์ชลา’ ซึ่งเป็นอีกนามปากกาหนึ่งของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ สุกัญญา ชลศึกษ์ ราชินีนักเขียนของเมืองไทย ท่านเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่านามปากกา ‘กัญญ์ชลา’ นี้ ใช้เขียนเรื่อง ‘เบาๆ’ ควบคู่ไปกับนามปากกา ‘กฤษณา อโศกสิน’ ที่ใช้เขียนเรื่อง ‘หนักๆ’ แต่เท่าที่สังเกตดู นิยายเบาๆ โดยนามปากกา ‘กัญญ์ชลา’ ก็ไม่ได้เบาโหวง หากแต่แทรกสาระสำคัญไว้ทุกเรื่อง เช่น นวนิยายเรื่องรอบรวงข้าว, ประตูสีเทา, ฝันกลางฤดูฝน, ไฟทะเล, เสื้อสีฝุ่น ฯลฯ 

หลังคาใบบัว เขียนขึ้นเป็นตอนๆ ในนิตยสารสกุลไทย ช่วง พ.ศ. 2520-2521 และได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกในปี 2546 ทางสถานีโทรทัศน์ ITV (ปัจจุบันคือ ThaiPBS) และหากใครติดตามข่าวสารเรื่องบันเทิงในประเทศไทยก็พอจะสร้างว่าสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ถือลิขสิทธิ์นิยายเรื่องนี้ไว้อย่างยาวนาน อันเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย ปัจจุบันลิขสิทธิ์ได้หลุดจากช่อง 7 และได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งที่ 2 โดยค่าย GMM และจะเสนอฉายทางช่องอมรินทร์ทีวีในเดือนตุลาคม 2566

ในปี 2520-2521 ที่ ‘กัญญ์ชลา’ เขียนนิยายเรื่องหลังคาใบบัว ลงตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย นับเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก หากพิจารณาในแง่สังคมวิทยาวรรณกรรมแล้ว ‘กัญญ์ชลา’ นำเสนอนิยายเรื่องนี้ในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ล้อมปราบกลุ่มนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมไทยหลายประการ โดยเฉพาะในแง่วรรณกรรมนั้น วรรณกรรมเพื่อชีวิตเกิดการชะงักงันและคลายความเข้มข้นลงระดับหนึ่ง สุกัญญา ชลศึกษ์ เจ้าของนามปากกา ‘กัญญ์ชลา’ เลือกเสนอนิยายที่มีเนื้อหาแสดงให้เห็นถึง ‘ความเหลื่อมล้ำทางสังคม’ ผ่านนวนิยายเรื่องหลังคาใบบัว ซึ่งเป็นนิยายแนวชีวิตครอบครัว อันเป็นแนวถนัดของเธอ 

ชื่อเรื่องหลังคาใบบัวมีนัยถึงความไม่มั่นคง ความคลอนแคลน ใบบัวแม้จะเอาไปทำเป็นหลังคา คุ้มแดดคุ้มฝนให้แก่คนในครอบครัวนั้น แต่ก็ไม่มีความมั่นคงแข็งแรง พร้อมจะพังทลายลงเมื่อไรก็ได้ การพังทลายของครอบครัวอาจมีที่มาจากสาเหตุหลายประการ ตั้งแต่ความไม่ปรองดอง ความเห็นต่างของคนในครอบครัว อันนำมาสู่การเป็นครอบครัวสลาย ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งบั่นทอนให้คนในครอบครัวเกิดความเครียดและนำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัว รวมถึงการขาดความมั่นคงทางจิตใจจนไม่สามารถรวมพลังต่อสู้กับปัญหาที่ถาโถมเข้าใส่คนในครอบครัว 

สาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกไว้ในนิยายเรื่องนี้อย่างแยบยล ภาพโดยรวมก็คือ เมื่อฐานะทางเศรษฐกิจ ไม่อาจนำความสุขสบายมาให้คนในครอบครัวได้ใช้ชีวิตทัดเทียมครอบครัวที่มีความสมบูรณ์กว่า ทำให้ ‘สิมะลา’ ตัวละครเอกของเรื่องต้องแสวงหาหนทางที่จะแก้ไขให้ครอบครัวมีความทัดเทียมคนอื่นให้ได้ กอปรกับค่านิยมที่ยกย่องคนมีเงินที่แพร่หลายไปในวงกว้าง ยิ่งยกย่องมากเท่าใด คนจนก็ยิ่งถูกกดทับ และต้องหาทางต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะดังกล่าว

สิมะลาเลือกใช้ค่านิยมที่สังคมยอมรับคนมีเงิน โดยการเสแสร้งและทำตัวให้เหมือนกับคนมีเงินทั่วไป เข้าไปอยู่ในสังคมคนชั้นสูง เพื่อหวังหลอกล่อให้คนมีเงินติดกับดักความงาม ความมีเสน่ห์และความจอมปลอมต่างๆ ที่เธอสรรสร้างขึ้น แต่เมื่อหมายปอง ‘เหยื่อ’ ที่มีนามว่า ‘วโรดม’ ผู้มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้สิมะลาเชื่อว่าเขาคือคนมีเงินที่เธอหมายปอง และจะต้องจับเหยื่อนี้ให้ได้ โดยหารู้ไม่ว่าวโรดมก็คือชายผู้เสแสร้งจอมปลอมเช่นเดียวกับเธอ

‘กัญญ์ชลา’ ชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าสังคมที่ยกย่องวัตถุและสรรเสริญแต่ภาพลักษณ์ที่เห็น ก่อให้เกิดสังคมจอมปลอมด้วย ในงานสังคมหรูหราที่สิมะลาและวโรดมแฝงตัวเข้าไปอยู่นั้น อาจไม่ได้มีเพียงเขาและเธอสองคนเท่านั้นที่จอมปลอม แต่ยังมีผู้คนอีกมากมายในงานสังคมนั้นที่เป็นเหมือนเขาและเธอด้วย แต่ละคนที่มาจากครอบครัวภายใต้หลังคาใบบัว แพร่ขยายไปมากมาย จนทำให้สังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำอยู่ภายใต้หลังคาใบบัวด้วยเช่นกัน

ทำไมสิมะลาจึงเลือกที่จะใช้วิธีการจอมปลอมเช่นนี้ ก็เพราะสังคมไทยเป็นสังคมนับถือ ‘หน้าตา’ และ ‘ฐานะเงินทอง’ ผู้หญิงที่ปราศจากต้นทุนชีวิต จึงเลือก ‘เรือนกาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’ เป็นอาวุธเพื่อให้ได้มาซึ่งนามสกุลดังๆ ฐานะดีๆ หากได้แต่งงานกับผู้ชายรวยๆ สักคนนั้น การเปลี่ยนนามสกุลก็คือการเปลี่ยนชีวิต พลิกจากความยากจนกลายเป็นคนฐานะดีได้ในชั่วข้ามคืน และเมื่อนั้น เธอก็จะได้หลุดพ้นจากหลังคาใบบัวได้

วิธีการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นวิธีคิดของระบบครอบครัวไทยที่มีมาช้านาน เพราะเชื่อว่าการได้เป็นทองแผ่นเดียวกันกับครอบครัวที่มีฐานะสูงกว่าจะนำมาซึ่งความสุขสบายตลอดชีวิต แม้จะเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องอดทนเพื่อรักษานามสกุลและฐานะความเป็นอยู่ที่ดีไว้ให้ได้นานที่สุด

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ทุนนิยมกับโลกาภิวัตน์เริ่มเข้ามาในสังคมไทยอย่างช้าๆ ผ่านสื่อที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นคือ ‘นิตยสาร’ โดยเฉพาะนิตยสารสตรีที่เสนอภาพความหรูหราของบรรดาคนร่ำรวย ผ่านแฟชั่น ข่าวงานสังคม โฆษณาสินค้าที่เสริมส่งความทันสมัย บทสัมภาษณ์ไฮโซที่เป็นเสมือนภาพฝันให้คนอ่านอยากมีชีวิตเช่นนั้นบ้าง เหล่านี้เป็นเชื้อไฟจุดไฟให้ผู้คนทะเยอทะยานอยากได้อยากมี อยากทัดเทียม ทำให้คนอย่างสิมะลาและวโรดมเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย

45 ปีผ่านมา หลังคาใบบัวยังไม่ได้หายไปไหน หากเปลี่ยนรูปแบบมาสู่สื่อสมัยใหม่ เรามีการนำเสนอความหรูหราของผู้คนผ่านสื่อโซเชียล อวดรวย อวดหรู อวดความมั่งคั่งในรูปแบบต่างๆ จนกระทั่งมีคนอยากทำตาม และกลายเป็นข่าวผู้คนถูกหลอกลวงด้วยกลวิธีหลากหลาย แม้ผู้คนจะรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น แต่ก็มีกลลวงต่างๆให้หลงเชื่อ เพียงเพราะอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น และความเหลื่อมล้ำก็ถูกนำมาเป็นอาวุธทางการเมืองให้พรรคการเมืองต่างๆ ใช้หาเสียงว่าจะนำพาผู้คนออกพ้นหลังคาใบบัวด้วยเช่นกัน


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: ‘ลำเพา เพ่งวรรณ’

ภาพ: https://www.facebook.com/change2561

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!