‘เวฬุวลี’ จาก คดีรักร้าง สู่ สงครามสมรส

-

สงครามสมรส คือละครที่มาแรงมากในขณะนี้ แม้แนวเรื่องจะพูดถึงปัญหาเมียหลวง-เมียน้อยเช่นเดียวกับละครยอดฮิตเรื่องอื่น แต่สิ่งที่ไม่เหมือนใครคือการนำเสนอประเด็นเดิมๆ โดยผ่านการพิจารณาคดีในศาลหรือที่เรียกละครและภาพยนตร์ประเภทนี้ว่า courtroom drama ผู้เขียนให้คู่กรณีทั้งหมด เมียหลวง เมียน้อย และสามี เชือดเฉือนกันในศาลโดยใช้ข้อกฎหมายเป็นเครื่องมือพิสูจน์ความชอบธรรมของตน แทนการตบตีแย่งชิงและแก้แค้นกันอย่างที่มักเห็นในละครแนวนี้ ผู้ชมนอกจากจะได้ความบันเทิงถึงพริกถึงขิง ยังได้เกร็ดเกี่ยวกับข้อกฎหมายซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับประชาชน สงครามสมรสดัดแปลงจากนวนิยายที่มีชื่อว่าคดีรักร้าง ของ ‘เวฬุวลี’ นามปากกาซึ่งเจ้าของให้ความหมายว่า ถ้อยคำของ ‘ไผ่’ เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ คดีรักร้างชนะประกวดโครงการช่องวันอ่านเอา ในหมวดดรามาครอบครัว จึงได้รับเลือกให้สร้างเป็นละครทางช่อง One31 ถนนวรรณกรรมยินดีอย่างยิ่งที่ได้สนทนากับผู้ให้กำเนิดนิยายซึ่งเป็นกระแสเกรียวกราวในตอนนี้

นอกจากงานเขียนแล้วคุณไผ่ทำงานอะไรอีกบ้าง

งานประจำคือเป็นอาจารย์สอนหลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ค่ะ 

สนใจการเขียนหนังสือได้อย่างไรคะ

เริ่มจากชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนมีนิตยสารผู้หญิงที่ลงนิยายเป็นตอนๆ เช่น ขวัญเรือน สกุลไทย เราก็ชอบอ่าน ช่วงเรียนมหา’ลัยเคยส่งเรื่องสั้นไปลงขวัญเรือน แต่ไม่ได้สานต่อเส้นทางนี้ เราไม่รู้ด้วยว่าต้องไปทางไหนต่อ พอเรียนจบด้านบัญชีก็ทำงานสายนี้สักพัก รู้สึกไม่ใช่งานที่ชอบ เลยมองหาคอร์สสอนการเขียน ยุคนั้นแกรมมี่เขาเปิดคอร์สอบรมการเขียนบทละครโทรทัศน์ เราก็สมัครไป ทีมที่สอนคือพี่ๆ จากค่ายเอ็กแซ็กท์ พอจบเขาทาบทามเราให้ไปเขียนบทด้วย เลยเริ่มต้นทำงานเขียนบทละคร ควบคู่กับเรียนปริญญาโทค่ะ 

ไผ่ร่วมทีมเขียนบทของเอ็กแซ็กท์นานเป็น 10 ปีได้ ผลงานเช่น เลือดหงส์ เมืองมายาเดอะซีรีส์ เสือ ฯลฯ ระหว่างเขียนก็สอนหนังสือที่มหา’ลัยธรรมศาสตร์ จนได้ทุนเรียนต่อ ตอนนั้นลังเลเพราะเราชอบงานทั้งสองอย่าง สุดท้ายตัดสินใจไปเรียนต่อ และยุติการเขียนบทละครไป

อะไรที่จุดประกายให้คุณไผ่ตัดสินใจเข้าประกวดโครงการช่องวันอ่านเอา

เรายังมีความฝันที่อยากทำงานสร้างสรรค์อยู่ เพียงแต่หาช่องทางไม่ได้ จนมาเห็นโครงการนี้ รู้สึกว่าตอบโจทย์นะ เพราะความฝันแรกเริ่มเราอยากเป็นนักเขียนนิยาย โครงการนี้คือการนำนิยายที่ชนะไปทำละคร ด้วยความที่เราอยู่ในวงการเขียนบทละครมาก่อน น่าจะรู้เชิงคนทำละคร จึงตัดสินใจส่งพล็อตตั้งแต่จัดประกวดปีแรกเลย ไผ่ผ่านเข้ารอบและได้อบรม นิยายที่เขียนปีแรกชื่อแอปซ่อนรัก แต่ยังไม่ได้รางวัล จนปีที่สอง คราวนี้เขามีแบ่งหมวดเป็นรักโรแมนติกกับดรามาครอบครัว พอวิเคราะห์ตัวเองคิดว่าน่าจะเหมาะกับแนวดรามามากกว่า เลยส่งผลงานคดีรักร้างไปประกวด ปรากฏว่าได้รางวัลชนะเลิศค่ะ

ระหว่างบทละครกับนิยายมีวิธีเขียนแตกต่างกันอย่างไร

ตอนที่ไผ่เขียนแอปซ่อนรักนั้นดูเหมือนบทละครมาก จนกรรมการซึ่งเป็นนักเขียนนิยายติงว่าดำเนินเรื่องช้าไป เพราะในการเขียนนิยายเราสามารถบรรยายความคิดตัวละครได้ หรือให้นึกย้อนไปมายังได้ ทว่าพอเป็นละครคุณต้องแสดงออกเป็นการกระทำ ไม่อย่างนั้นคนดูงง ไผ่เลยติดต้องแจกแจงทุกองค์ประกอบ กว่าจะเข้าสู่ปมขัดแย้งได้จึงช้า 

ช่วยเล่าถึงแรงบันดาลใจในผลงานคดีรักร้าง

ตอนนั้นพยายามวิเคราะห์ว่าเรื่องแนวไหนที่คนจะสนใจ ได้คำตอบว่าเรื่องเมียหลวง-เมียน้อยนี่แหละ คลาสสิกสุด แต่เราจะเล่ายังไงให้แตกต่าง ส่วนตัวไผ่ชอบดูซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับศาลอยู่แล้ว ความคมเฉียบของแนวนี้คือตัวละครตอบโต้กันด้วยเหตุผล ฉันมีเหตุผลของฉัน เธอมีเหตุผลของเธอ เลยผสมผสานออกมาเป็นการต่อสู้ในศาลระหว่างเมียหลวง เมียน้อย กับสามี ผู้ชมก็ได้เห็นหลากหลายมุมมอง อันที่จริงช่องวันเคยสร้างละครเกี่ยวกับการพิจารณาตัดสินคดีมาบ้าง เช่นเรื่องล่า หรือแม้แต่วันทองที่เริ่มด้วยฉากชำระความ จึงคิดว่าแนวนี้ทำละครได้ และเขียนนิยายก็น่าสนุก

กรรมการมีความคิดเห็นหรือคำวิจารณ์อย่างไรเมื่อตัดสินใจเขียนแนวนี้คะ

กรรมการบอกว่าเรื่องมีความเข้มข้นอยู่นะ แต่ต้องระวังอย่าให้เครียดเกิน รวมถึงอย่ามีแต่ฉากในศาลอย่างเดียว และต้องให้เหตุผลของตัวละครด้วย เช่น ทำไมเดียร์ถึงทรยศเพื่อน โทนเรื่องโดยรวมจึงเห็นได้ว่าบัวบงกชหรือนางเอกไม่จมอยู่ในความสิ้นหวัง บัวยังมีศลิษา เพื่อนสนิท และมีทนายที่คอยช่วย เธอจะค่อยๆ มูฟออนไป แต่จะสู้ต่อทีละขั้นยังไง

เตรียมข้อมูลในการเขียนอย่างไร

แรกสุดไปอ่านข้อกฎหมายก่อน เช่น กฎหมายฟ้องชู้ กฎหมายฟ้องหย่า ดูพวกคลิปยูทูบที่ทนายให้ความรู้ รวมถึงไปสัมภาษณ์รุ่นน้องที่เรียนนิติศาสตร์และผู้พิพากษาคดีครอบครัวเพื่อจะได้เห็นภาพสถานการณ์จริง ทั้งยังส่งต้นฉบับไปให้เพื่อนที่เรียนกฎหมายอ่านเพื่อเช็กความถูกต้อง ก่อนเผยแพร่ในเว็บไซต์อ่านเอา 

เหตุที่ตัวละครต้องสู้กันถึง 3 คดี

พอเราได้ข้อมูลมาก็เห็นประเด็นหลากหลาย ตอนวางพล็อตจึงคิดไว้แล้วว่าต้องมี 3 ศาล แต่พยายามทำให้แต่ละศาลต่างกัน ศาลแรกเป็นการฟ้องชู้ เน้นแนวหักเหลี่ยมชิงไหวชิงพริบ มีการปั่นหัวให้เมียน้อยพูด ศาลที่ 2 ฟ้องหย่า เป็นการขุดคุ้ยชีวิตครอบครัวของสามีภรรยา เขามีปัญหากันอยู่แล้วก่อนมือที่สามเข้ามาพัวพัน แต่ปัญหานั้นคืออะไร และศาลที่ 3 สิทธิการปกครองบุตร เน้นไปในเชิงดรามา เพราะคนที่เจ็บปวดที่สุดคือลูก ที่ไม่คาดคิดคือตั้งใจให้ตอนท้ายเป็นเรื่องความรู้สึกผิดของพ่อ แต่ไม่ต้องขึ้นศาล สุดท้ายตัดสินใจว่าเริ่มที่ศาลก็จบที่ศาลดีกว่า เลยคลี่คลายความรู้สึกตัวละครในศาลค่ะ

อีกสิ่งที่สังเกตจากนิยายเรื่องนี้คือเล่าเรื่องได้ไม่เยิ่นเย้อ

ใช่ นี่ก็ตั้งใจ มีคนเคยวิจารณ์ว่าละครไทยชอบกั๊กพล็อต หมายความว่ากว่าตัวละครจะตัดสินใจทำอะไรสักอย่างต้องรอถึงตอนเกือบจบ ก่อนหน้านั้นได้แต่ชงไปเรื่อยๆ ความลับจะเปิดเผยไหม จะโดนจับได้ไหม รู้หรือไม่รู้ ทำหรือไม่ทำ ไผ่คิดว่าวิธีการเล่าแบบนี้ใช้ไม่ได้กับผู้ชมรุ่นใหม่ซึ่งผ่านการดูซีรีส์หลากหลายแนว เขาอยากเห็นเรื่องที่เดินไปข้างหน้า เลยพยายามเล่าให้มีไดนามิก

นอกจากเรื่องชายหญิง ยังแทรกประเด็นร่วมสมัยอย่างสมรสเท่าเทียมในตอนพิเศษด้วย

(หัวเราะ) ความจริงอยากให้มีในเนื้อเรื่องหลัก อยากใส่แคแรกเตอร์ชาย-ชายให้เห็นว่าคู่นี้เขาอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขมาตลอดนะ แต่กลับไม่มีสิทธิ์ด้านกฎหมาย แต่เส้นเรื่องหลักค่อนข้างมีประเด็นเยอะ ส่วนนี้จึงดูไม่เข้ากัน พอมีตอนพิเศษเลยขอเขียนถึงหน่อย ให้ทนายภาวินท์ไปช่วย ดีใจที่สมรสเท่าเทียมกำลังจะเกิดขึ้นจริงแล้ว 

ความยาก-ง่ายในการเขียนนิยายเรื่องนี้อยู่ตรงไหน

การเขียนฉากศาล เรารู้อยู่แล้วว่าตัวละครจะโต้แย้งกัน แต่ต้องระวังไม่ให้หลุดจากกรอบที่วางไว้ เช่น เบิกความซ้ำไม่ได้นะ ก็ต้องหาวิธีอื่น ส่วนประเด็นอื่นๆ ไม่ยากมาก เราเซ็ตตัวละครอายุไล่เลี่ยกับเรา จึงพอเข้าใจว่าคนวัยนี้มองตัวเอง มองครอบครัวแบบไหน ความง่ายอีกอย่างคือ พอเป็นแนวศาล ตัวละครสามารถทะเลาะกันได้เลย ไม่ต้องปูพื้นหรือสร้างสถานการณ์มาก ขึ้นศาลก็ตอบโต้กันเลย เนื้อเรื่องจึงเข้มข้น เหมาะสำหรับแนวดรามา

ซีนไหนของเรื่องที่คุณไผ่ชื่นชอบ

ไผ่ชอบความผูกพันระหว่างแม่ลูกหรือพ่อลูก ซีนที่บัวยอมปล่อยลูกไป เพราะอยากให้ลูกได้รับการรักษาโรค และซีนที่ปรเมศวร์พูดขอโทษลูกในศาล

ตัวละครใดคือตัวโปรดของผู้เขียน

ต้องบัวบงกชค่ะ เธอมีพัฒนาการ เธอเข้าใจชีวิตมากขึ้นระหว่างการขึ้นศาลฟ้องร้อง การชนะในศาลก็เรื่องหนึ่ง ความสัมพันธ์นอกศาลก็เรื่องหนึ่ง คุณจะรักษาความสัมพันธ์ได้ไหมก็เป็นอีกเรื่อง สุดท้ายเธอได้พบความสุขในแบบของตัวเอง

ความประทับใจในผลงานชิ้นนี้

น่าจะเป็นตอนได้รับฟีดแบ็ก กรรมการชมว่าสนุก คนอ่านก็บอกว่าสนุกและได้สาระ แล้วพอเป็นละคร เราได้เห็นสิ่งที่ต้องการสื่อสาร มีการพูดในโลกออนไลน์นะ เช่น ประเด็นผู้หญิงต้องมีอิสรภาพทางการเงิน ต้องหาเงินเองได้ถึงจะสู้ไหว หลายคนคอมเมนต์ว่าเหมือนชีวิตฉันเลย ฉันกำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราก็อยากเป็นกำลังใจให้

สารอะไรที่อยากสื่อผ่านคดีรักร้าง

อยากพูดว่า การเลิกรา การหย่าร้าง ในยุคสมัยนี้คือเรื่องปกติธรรมดา แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือจะเลิกรายังไงถึงไม่ทำร้ายกัน ยังให้เกียรติซึ่งกันและกัน นี่คือเมสเซจหลักของเรื่อง บัวบงกชได้พูดตอนท้ายว่า ถ้าเราหมดรักกันขอให้พูดตรงๆ ก่อน ไม่ใช่ไปมีมือที่สาม ส่วนตัวคิดว่านี่เป็นทางออกที่ดีที่สุด ตัวละครที่เราพยายามให้บัวบงกชเห็นเป็นโรลโมเดลคือศลิษา พอหมดรักก็คุยกันดีๆ เลิกกันดีๆ นอกจากนั้นอีกข้อคือ อย่ากลัวที่จะเริ่มต้นใหม่ ทั้งบัวบงกชและชนิกาต่างก็กลัวการออกจากคอมฟอร์ตโซน แต่ชีวิตต้องมูฟออนไปเรื่อยๆ 

63 เล่มในดวงใจของ ‘เวฬุวลี’

  • ข้างหลังภาพ เขียนโดย ‘ศรีบูรพา’

อ่านตอนเด็กกับตอนโตก็มีมุมมองไม่เหมือนกัน สะท้อนสังคมในยุคนั้นได้ดี

  • ของขวัญวันวาน เขียนโดย ‘ว.วินิจฉัยกุล’

ชอบแคแรกเตอร์ในเรื่อง

  • ลายกินรี เขียนโดย พงศกร

เป็นการผสมผสานเรื่องสืบสวนกับบรรยากาศไทยๆ ได้อย่างกลมกลืน


คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!