ฉบับนี้ผู้เขียนขอเสนอสำนวนไทยที่มาจากวรรณคดีโบราณซึ่งยังคงมีผู้นำมาใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่สำนวน ‘เขาวงกต’ ‘ตีปลาหน้าไซ’
เขาวงกต
‘เขาวงกต’ หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘เขาคด’ นั้นเป็นชื่อภูเขาในป่าหิมพานต์ มีกล่าวถึงในวรรณคดีเรื่องมหาเวสสันดรชาดก อยู่ในกัณฑ์หิมพานต์ ตอนพระเวสสันดรถูกพระเจ้ากรุงสญชัยพระราชบิดาเนรเทศออกจากกรุงสีพี แคว้นสีวิราษฎร์ เนื่องจากทรงยกช้างแก้วมหามงคลคู่บ้านคู่เมืองให้แก่บรรดาพราหมณ์ทั้งแปดที่มาจากเมืองกลิงคราษฎร์ซึ่งกำลังเผชิญภัยพิบัติใหญ่และฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล การบริจาคทานครั้งนี้ทำให้ชาวเมืองสีพีโกรธแค้นมาก พระเจ้ากรุงสญชัยก็ขัดเคืองพระทัย จึงทรงเนรเทศพระเวสสันดรเข้าสู่ป่า โดยมีพระมเหสีและพระโอรสธิดาตามเสด็จ ในครั้งนั้นเทพเจ้าบันดาลดลใจให้นายนักการทูลแนะตำแหน่งวนสถานคีรีวงกต ซึ่งแม้อยู่ห่างไกล จะต้องเดินทางผ่านภูเขาและเส้นทางกันดารที่สลับซับซ้อนมาก แต่เมื่อเสด็จไปถึงจะมีสถานที่สงบร่มเย็นและอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การสร้างบรรณศาลาบำเพ็ญพรตให้เป็นที่สำราญพระวรกายและพระหฤทัย
พระเวสสันดร พระมัทรี และสองกุมารเสด็จด้วยพระบาทเปล่าผ่านป่าชัฏจนถึงมาตุลนคร เจตราษฎร์ เมื่อความทราบไปถึงเหล่ากษัตริย์ผู้ใหญ่ๆ ซึ่งเป็นประธานในการครอบครอลมาตุลนคร ได้ทรงรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็อาสาจะพากลับเมืองสีพี แต่พระเวสสันดรทรงปฏิเสธ แม้จะเสนอให้ทรงครองเมืองเจตราษฎร์ ก็ทรงปฏิเสธอีก เหล่ากษัตริย์เจตราษฎร์จึงเสด็จไปส่งจนสุดเขตแคว้นแล้วทูลชี้เส้นทางไปยังป่าหิมพานต์ โดยทรงตั้งให้พรานป่าเจตบุตรคอยเฝ้ารักษาเส้นทางมิให้ผู้ใดผ่านไปยังเขตพระอาศรม เว้นแต่ราชทูตที่ถือสารจากพระเจ้ากรุงสญชัยเท่านั้น ฝ่ายพระอินทร์ก็ให้พระเวสสุกรรมเทพบุตรลงไปเนรมิตบรรณศาลาและเครื่องบำเพ็ญพรตต่างๆ เตรียมไว้ให้พร้อมก่อนที่ทั้งสี่พระองค์จะเสด็จถึง เมื่อเสด็จถึงพระเวสสันดรก็ทรงบรรพชาเป็นฤๅษี พระมัทรีทรงเป็นดาบสินี ส่วนสองกุมารก็ทรงเพศดาบสด้วย
ได้มีการนำ ‘เขาวงกต’ มาใช้เป็นสำนวนเปรียบให้หมายถึงสถานที่ที่อยู่ไกลมาก กว่าจะไปถึงต้องเผชิญกับเส้นทางกันดาลวกวนยิ่ง ดังตอนที่เนื้อนวลขับรถจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดบ้านเกิดของสมบุญเพื่อนรักซึ่งอยู่เกือบเหนือสุดของประเทศ เมื่อผ่านไปได้ไกลมากระยะหนึ่ง เธอจึงออกปากบอกเพื่อนว่า “นี่! ยายสม เดินทางไปบ้านเธอเหมือนกับกำลังเดินทางไปเขาวงกต ฉันว่าเราต้องหยุดพักกินข้าวกันก่อน แล้วค่อยลุยต่อดีไหม ฉันล้าเต็มทีแล้ว”
ตีปลาหน้าไซ
‘ไซ’ เป็นเครื่องสานสำหรับดักสัตว์น้ำประเภทปลา กุ้ง ฯลฯ ไซมีหลายชนิด เช่น ไซตั้ง ไซนอน เป็นต้น เมื่อผู้ใดต้องการจะดักปลาก็จะนำไซไปวางไว้ในลำน้ำแล้วปล่อยทิ้งไว้ ในช่วงเวลาดังกล่าวต้องไม่ตีน้ำหรือกระทุ่มน้ำบริเวณหน้าไซให้ปลาตกใจ เพราะปลาจะไม่เข้าไซ
‘ตีปลาหน้าไซ’ ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่นเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น ดังในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก สำนวนนี้ปรากฏอยู่ในกัณฑ์กุมาร ตอนชูชกเดินทางไปเขาวงกต เมื่อได้โอกาสเหมาะที่พระมัทรีไม่อยู่จึงเข้าไปเฝ้าพระเวสสันดร แล้วทูลขอโอรสธิดาไปเป็นข้าช่วงใช้ พระเวสสันดรก็ทรงบริจาคให้เป็นทาน ชูชกใช้เชือกผูกหัตถ์ของทั้งสองกุมารเข้าด้วยกัน แล้วฉุดกระชากลากตีด่าทอต่อหน้าพระบิดา สองกุมารกันแสงตัดพ้อด้วยความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ พระเวสสันดรต้องกลั้นพระโศกปลอบประโลมโอรสธิดา แล้วตรัสกับชูชกว่าการกระทำดังกล่าว “…เสมือนหนึ่งพรานเบ็ดมาตีปลาที่หน้าไซ บรรดาปลาจะเข้าไปให้แตกฉาน ตัวเราผู้ทำทานเหมือนตัวปลา พระโพธิญาณในภายหน้านั้นคือไซ ปรารถนาจะเข้าไปถึงจึงยกพระลูกให้เป็นทานบารมี พระลูกทั้งสองศรีดั่งกระแสสินธุ์ พราหมณ์ประมาทหมิ่นมาด่าตี เหมือนกระทุ่มวารีให้ปลาตื่น…”
สำนวน ‘ตีปลาหน้าไซ’ หมายถึงกระทำการขัดขวางมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำกิจส่วนตนอันเป็นประโยชน์ได้สำเร็จสมความปรารถนา เช่น เมื่อพี่สาวขอให้น้องชายเลิกคิดที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคนานาประการ น้องได้ยินดังนั้นก็อารมณ์เสีย พูดโต้ว่า “พี่ก็เข้าทำนองตีปลาหน้าไซ ผมฝันไว้นานแล้วว่าจะพยายามเป็นผู้แทนราษฎรให้ได้ แทนที่จะให้กำลังใจกลับทำให้ขาดความมั่นใจซะยังงั้น ถ้าผมไม่สมัครสมัยนี้จะรอถึงสมัยไหนล่ะ แก่ตายพอดี”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ:ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์