ชักพระวัดป่าโมก

-

๏ พระประทมพนมโมกไม้ ไพรสาล
ยาวทวาทศบทสถาน เทียบไว้
สถิตเสถียรจำเนียรนาน แนวฝั่ง
ประชาชนกล่นกันไหว้ สพรั่งพร้อมสลับสลอน

(โคลงแปรพระพุทธไสยาสน์ป่าโมก)

พระพุทธไสยาสน์ หรือหลวงพ่อพระนอนวัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของประเทศไทย สันนิษฐานว่าหลวงพ่อน่าจะสถาปนาและประดิษฐานอยู่ที่วัดป่าโมกริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น

องค์หลวงพ่อเป็นพระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู ประทับบรรทมแบบสีหไสยาตะแคงขวา มีพระเขนยทรงกลมซ้อน 3 ชั้นรองรับพระเศียร องค์พระพุทธรูปยาว 12 วา ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่สร้างด้วยฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ทั้งองค์หลวงพ่อและพระวิหารงดงามยิ่ง นับเป็นพุทธศิลปกรรมชิ้นเอกอุของสยามประเทศ

แต่เดิมพระวิหารหลวงพ่อตั้งอยู่ใกล้ฝั่งน้ำ ประกอบกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณดังกล่าวโค้งเป็นคุ้ง ทำให้สายน้ำกัดเซาะเลาะริมฝั่ง จนถึงพุทธศักราช 2271 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ตลิ่งถล่มทลายรุกใกล้ เหลืออีกวาเดียวพระวิหารและองค์หลวงพ่อจะต้องเป็นอันตรายพังลงแม่น้ำ พระมหาสุวรรณโชติ เจ้าอธิการวัดป่าโมกจึงมีลิขิตกราบทูลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เพื่อทรงหาหนทางแก้ไข จึงมีพระบรมราชโองการให้พระยาราชสงคราม เดินทางไปสำรวจพิจารณาว่าจะจัดการแก้ไขสถานการณ์อย่างไร

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ กล่าวถึงแผนการชักชะลอเคลื่อนย้ายหลวงพ่อพระนอนวัดป่าโมกว่า เมื่อพระยาราชสงครามเดินทางไปตรวจสถานที่แล้วกลับมากราบบังคมทูลว่าจะใช้วิธีเจาะฐานพระเป็นฟันปลาแล้วสอดไม้ทำตะเฆ่ชักลากเคลื่อนย้ายองค์พระไปประดิษฐานให้ห่างฝั่งแม่น้ำออกไป แต่สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) ทรงคัดค้านเนื่องจากองค์พระพุทธรูปก่อด้วยอิฐอาจแตกหักทำลายได้ พระยาราชสงครามกราบทูลเสนอให้รื้ออิฐเดิมไปสร้างพระใหม่ แต่พระราชาคณะทูลถวายพระพรว่าไม่สมควร ในที่สุดพระยาราชสงครามกราบบังคมทูลว่าจะจัดการชักลากชะลอ หากไม่สำเร็จเสียหายแตกทำลายประการใดให้ลงพระราชอาชญาถึงแก่ชีวิต

พระยาราชสงครามเตรียมการสร้างตะเฆ่สำหรับชักลากพระเจาะฐานพระพุทธไสยาสน์แบบฟันปลา เอาไม้ยึดแนบฐานพระทำเป็นแม่สะดึง’ แล้วสอดกระดานซุงตามช่องที่เตาะให้ไม้ที่สอดลอยอยู่เหนือแม่สะดึง แล้วขุดฐานอิฐที่เป็นฟันปลาออก สอดไม้กระดานรองรับอีกชั้นหนึ่ง ทำให้องค์พระลอยอยู่เหนือฐานตะเฆ่

๏ เจาะฐานการจะเข้ขุด ปคองคาร
ไม้เรียบเปรียบปรุงกระดาน เทียบไว้
รององค์บันจงสถาน เทียมแท่น
ตโล่งตลอดรอดรับให้ เปล่าพื้นดินเดิม

จากนั้นปรับพื้นที่ทำถนนเตรียมการชัดชะลอเคลื่อนย้ายองค์พระนอนไปประดิษฐานห่างจากที่เดิม 4 เส้น 10 วา ครั้งถึงวันกำหนดสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ กับสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงอำนวยการชะลอพระพุทธไสยาสน์ และเสด็จลงทรงชักลากด้วยพระองค์เอง

๏ เชือกใหญ่ใส่รอกร้อย เรียงกระสัน
กว้านช่อชลอผันขัน ยึดยื้อ
ลวดหนังรั้งพัลวัน พวนเพิ่ม
โห่โหมประโคมอึงอื้อ ลากเล้าประโลมไป

ฯลฯ

๏ เสดจ์ลงทรงแย่งยื้อ พวนทอง
พุทธบุตรอุดดมสนอง หน่วงหน้า
พระองค์จำนงปคอง รองรวด
เสนีพีริยไพร่ฟ้า ลากแล้วสรรเสริญ

เมื่อชะลอชักลากหลวงพ่อพระพุทธไสยาสน์ไปถึงที่หมาย จึงดีดฐานพระพุทธรูปให้สูงขึ้น ก่อฐานใหม่ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดป่าโมกใหม่ ทั้งพระวิหาร พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และกุฏิสงฆ์

การชักลากเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปสำคัญที่มีขนาดใหญ่โตโดยไม่ชำรุดเสียหาย ด้วยวิทยาการวิศวกรรมในครั้งกระโน้น เป็นเรื่องอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญา อัจฉริยภาพเชิงช่างของบรรพชน ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อยังทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงแปรพระพุทธไสยาสน์ หรือโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก เป็นโคลง 4 สุภาพจำนวน 73 บท บันทึกเหตุการณ์ไว้โดยละเอียด และขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้อำนวยสุขแก่แผ่นดิน

มีโอกาสไปไหว้หลวงพ่อพระนอนวัดป่าโมกกันนะครับ


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!