การกำหนดวันเดือนปีของสังคมมนุษยชาติมีมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ และปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่มนุษย์ทุกยุคได้ประสบทั่วกันคือกลางวันและกลางคืน รุ่งอรุณมีดวงสุริยันส่องกระจ่างหล้า ครั้นราตรีดวงจันทราก็ฉายแสงแวดล้อมด้วยหมู่ดาราจำนวนนับไม่ถ้วน ดวงอาทิตย์ให้ความสว่างเมื่อเริ่มวัน จึงเรียกว่า ตาวัน หรือ ตะวัน ส่วนดวงจันทร์ให้ความสว่างยามค่ำคืน แต่ไทยเรากลับไม่เรียก ตาคืน ยกเว้นในวรรณคดีโบราณบางเรื่อง
ก็แลท้องฟ้ากว้างไกลเหลือที่จะกำหนดนั้นใช่ว่าจะเป็นพื้นที่โคจรเฉพาะดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์เท่านั้น ย่อมมีกลุ่มดาวและดวงดาวระยิบระยับนับไม่ถ้วนเป็นส่วนประกอบของอนันตจักรวาล แต่ที่มนุษย์มองเห็นสว่างกระจ่างแจ้งและมีขนาดใหญ่โตกว่าดวงดาวอื่นๆ คือดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ จึงยกทั้งสองดวงให้เป็นศูนย์กลางของดวงดาวทั้งปวง และเป็นเครื่องกำหนดวันเดือนและฤดูกาล ใช้จำแนกการกำหนดนับวันเดือนออกเป็นสองอย่าง คือ หากถือเอาดวงอาทิตย์เป็นหลักเรียกว่า “สุริยคติ” และหากถือเอาดวงจันทร์เป็นหลักเรียกว่า “จันทรคติ”
สุริยคติถือเอาดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง เป็นระบบที่ยอมรับกว้างขวางจนเป็นสากล จักรราศี แปลว่า วงล้อของราศีหรือวงกลมของราศี หมายถึง อาณาบริเวณโดยรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งมีความกว้าง ๓๖๐ องศา อาณาบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ซึ่งกลุ่มดาวต่างๆ โคจรผ่าน 12 กลุ่ม กลุ่มละ 30 องศาโดยประมาณ พื้นที่ซึ่งกลุ่มดวงดาวแต่ละกลุ่มโคจรผ่านนี้เรียกว่า ราศี กลุ่มดาวแต่ละกลุ่มเคลื่อนผ่านไปองศาละ 1 วัน ใช้เวลาประมาณ 30 วัน หรือ 1 เดือนเคลื่อนผ่านแต่ละราศี การนับวันตามระบบสุริยคติ คือ การนับวันที่ 1 วันที่ 2 ไปจนถึงวันที่ 30 หรือ 31 ของแต่ละเดือน ส่วนการกำหนดชื่อเดือนแต่ละเดือนนั้นมาจากรูปกลุ่มดาว 12 กลุ่มที่โคจรเข้ามาในจักรราศี ได้แก่
ราศีที่ 1 กลุ่มดาวรูปแกะ (เมษ) คือ เดือนเมษายน
ราศีที่ 2 กลุ่มดาวรูปโค (พฤษภ) คือ เดือนพฤษภาคม
ราศีที่ 3 กลุ่มดาวรูปชายหญิงหรือคนคู่ (มิถุน) คือ เดือนมิถุนายน
ราศีที่ 4 กลุ่มดาวรูปปู (กรกฎ) คือ เดือนกรกฎาคม
ราศีที่ 5 กลุ่มดาวรูปสิงโต (สิงห์) คือ เดือนสิงหาคม
ราศีที่ 6 กลุ่มดาวรูปนางงาม (กันย์) คือ เดือนกันยายน
ราศีที่ 7 กลุ่มดาวรูปคันชั่ง หรือ ตราชู (ตุลย์) คือ เดือนตุลาคม
ราศีที่ 8 กลุ่มดาวรูปแมงป่อง (พิจิก, พฤศจิก) คือ เดือนพฤศจิกายน
ราศีที่ 9 กลุ่มดาวรูปคนถือธนู (ธนู) คือ เดือนธันวาคม
ราศีที่ 10 กลุ่มดาวรูปแพะภูเขา (มกร) คือ เดือนมกราคม
ราศีที่ 11 กลุ่มดาวรูปคนปั้นหม้อ (กุมภ์) เดือนกุมภาพันธ์
ราศีที่ 12 กลุ่มดาวรูปปลา (มีน) เดือนมีนาคม
การกำหนดวันตามระบบสุริยคติเริ่มตั้งแต่ 0 นาฬิกา ถึง 24 นาฬิกา ระบบนี้ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางอยู่กับที่ กลุ่มดาวต่างๆ โคจรผ่านเข้าไปประมาณกลุ่มละ 31 วัน (หรือ 31 วัน) วันละ 1 องศา รวม 360 องศา เริ่มปีใหม่เมื่อขึ้นราศีที่ 10
จันทรคติ คือการนับวันแบบข้างขึ้นข้างแรม ถือเอาการโคจรของดวงจันทร์ผ่านกลุ่มดาวนักษัตรต่างๆ เป็นเกณฑ์ กลุ่มดาวนักษัตรมีทั้งหมด 27 กลุ่ม ดวงจันทร์จะโคจรเข้าไปอยู่ในกลุ่มดาวนักษัตรปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 12 กลุ่ม บางเดือนผ่านกลุ่มดาวนักษัตรถึง 2 กลุ่ม และตั้งชื่อเดือนตามชื่อกลุ่มดาวเป็นภาษาสันสกฤตตามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่รับมาจากอินเดียโบราณ ได้แก่
เดือนอ้าย | กลุ่มดาวหัวเนื้อ (มฤคศิร) มี 3 ดวง มฤคศิรมาส | |
เดือนยี่ | กลุ่มดาวสมอเรือ (บุษย) มี 5 ดวง บุษยมาส | |
เดือนสาม | กลุ่มดาวงูตัวผู้ (มาฆ) มี 5 ดวง มาฆมาส | |
เดือนสี่ | กลุ่มดาวงูตัวเมีย (บูรพผลคุณี) มี 2 ดวง | ผาลคุณมาส |
กลุ่มดาวเพดาน (อุตรผลคุณี) มี 2 ดวง | ||
เดือนห้า | กลุ่มดาวตาจระเข้ (จิตรา) มี 1 ดวง จิตรมาส | |
เดือนหก | กลุ่มดาวคันฉัตร (วิศาข) มี 5 ดวง วิศาขมาส | |
เดือนเจ็ด | กลุ่มดาวช้างใหญ่ (เชษฐ) มี 14 ดวง เชษฐมาส | |
เดือนแปด | กลุ่มดาวสัปคับช้าง (บูรพาษาฒ) มี 3 ดวง | อาษาฒมาส |
กลุ่มดาวแตรงอน (อุตราษาฒ) มี 5 ดวง | ||
เดือนเก้า | กลุ่มดาวหลักไชย (ศราวน) มี 3 ดวง ศราวนมาส | |
เดือนสิบ | กลุ่มดาวหัวเนื้อทราย (บูรพภัทรบท) มี 2 ดวง | ภัทรบทมาส |
กลุ่มดาวไม้เท้า (อุตรภัทรบท) มี 2 ดวง | ||
เดือนสิบเอ็ด | กลุ่มดาวม้า (อัศววินี) มี 7 ดวง อาศวยุชมาส | |
เดือนสิบสอง | กลุ่มดาวลูกไก่ (กฤติกา) มี 8 ดวง กฤติกามาส |
การนับวันทางจันทรคติ วันหนึ่งมี 8 ยาม กลางวัน 4 ยาม ยามละ 3 ชั่วโมง กลางวันเริ่มตั้งแต่ 6 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา และกลางคืนเริ่มตั้งแต่ 18 นาฬิกา ถึง 6 นาฬิกา เริ่มปีใหม่ในเดือน 5 หรือ จิตรมาส
การนับวันเดือนทางจันทรคติมักปรากฏในตอนท้ายเรื่องของวรรณคดีไทยโบราณ เช่น ลิลิตกากี ซึ่งแต่งขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ
๏ สองพันสามร้อยเริ่ม แรมมี
นับหกสิบแปดปี ล่วงแล้ว
พยัคฆเชฏฐมาสี สุกรปักษ์
สรวมเสร็จอัฐมีแผ้ว ผูกไว้กัลปา ฯ
ความว่าแต่งเสร็จเมื่อ “พุทธศักราช 2368 ปีขาล เดือน 7 ขึ้น 8 ค่ำ” หากกระผมเจอโคลงบทนี้เมื่อยังอยู่ในวัยมัธยม คงมืดแปดด้านไม่กระจ่างใจเหมือนวันนี้
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์