ประเทศจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาลนัก จากภาคเหนือที่เหน็บหนาวจรดฝั่งมหาสมุทรตอนใต้ที่อบอุ่น จากดินแดนเขาสูงของตะวันตกที่แล้งร้อนสู่ฝั่งมหาสมุทรฟากตะวันออก มีแม่น้ำ3สายอันยิ่งใหญ่และดุดันไหลผ่านและนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ แผ่นดินจีนจึงมีครบทุกสภาพอากาศ ช่วงฤดูใบไม้ผลิต่อด้วยฤดูร้อนเป็นช่วงที่จีนมีผลไม้หลากหลายชนิดออกวางขายในท้องตลาด แต่ถ้ากล่าวถึงผลไม้ฉ่ำน้ำรสหวานอมเปรี้ยวแล้ว คงมีผลไม้เพียงไม่กี่ชนิดที่โดดเด่นเฉกเช่น ‘หยางเหมย’ จากอำเภอเซียนจู เมืองไทโจว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งได้รับฉายาว่า ‘เมืองแห่งหยางเหมยอันดับ 1 ของแผ่นดิน’ เพราะมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในจีน เนื่องจากอำเภอนี้มีภูมิประเทศและสภาพอากาศเหมาะสมกับการปลูก อำเภอเซียนจู มีภูมิประเทศเป็นรูปเกือกม้า มีเทือกเขาสูงยาวกว่า 1 กิโลเมตรซึ่งช่วยดักเก็บความชื้นจากมหาสมุทร ส่งผลให้อำเภอเซียนจูมีความชื้นและฝนตกชุก
หยางเหมย (Yangmei) หรือ ยัมเบอร์รี (Yumberry) มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Myrica rubra นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น เรด เบย์เบอร์รี (red bayberry) แวกซ์ เบอร์รี่ (waxberry) ญี่ปุ่นเรียกว่า ยามาโมโม (Yamamomo)
หยางเหมยเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เป็นพืชที่มี 2 เพศ แยกกันคนละต้น (dioecious) ทนต่อสภาพดินที่เป็นกรด ไม่มีรากแก้ว ผลหยางเหมยเป็นทรงกลม ภายในผลมีเมล็ดเพียงเมล็ดเดียวอยู่ตรงกลาง
ผลหยางเหมยมีสีแดงเข้ม ลูกเล็ก ฉ่ำน้ำ รสหวานอมเปรี้ยว ถ้าผลยังไม่สุกจะแข็งและมีรสเปรี้ยว แต่เมื่อสุกเต็มที่แล้วผิวจะเป็นขุยนุ่มคล้ายผ้ากำมะหยี่บอบบาง หากไม่ระวังเผลอกดผลเพียงเบาๆ ก็จะมีน้ำหวานสีแดงไหลเยิ้มออกมา บางคนบรรยายถึงรสชาติของหยางเหมยว่าอยู่ระหว่างสตรอเบอร์รี แครนเบอร์รี กับทับทิม โดยมีเนื้อสัมผัสของส้มและเหมือนผลเชอร์รี มีรสหวานแต่ปราศจากน้ำตาล แซมรสเปรี้ยวไม่ถึงกับจี๊ดจ๊าด ชาวจีนถือว่าเป็นบ๊วยอีกประเภทหนึ่ง
ด้วยลักษณะอันละเอียดอ่อนของหยางเหมยที่มีผลบอบบางช้ำง่าย อายุผลสดเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วมีอายุสั้น จึงไม่ค่อยพบในตลาดท้องถิ่นอื่น เลยต้องนำมาแปรรูปเป็นผลไม้กระป๋องหรือน้ำผลไม้ ทั้งดองเหล้าจีน ทำน้ำผลไม้ ไอศกรีม เพื่อให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น และหาซื้อง่ายตามร้านค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป สำหรับในประเทศไทยเนื่องจากร้านขายของชำส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแต้จิ๋วจึงเรียกผลหยางเหมยเป็นภาษาถิ่นอย่างแพร่หลายว่า เอี่ยบ๊วย (楊梅) หากไปถามหาซื้อหยางเหมยเขาอาจจะไม่รู้จัก เนื่องจากเป็นชื่อที่มีแต่ชาวจีนแต้จิ๋วรุ่นเก่าคุ้นหูกัน
นอกจากนี้อำเภอเซียนจูยังมีต้นหยางเหมยเก่าแก่อายุเกินร้อยปีกว่า 1 หมื่นต้น และมีต้นหยางเหมยขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลกด้วย หยางเหมยแต่ละต้นให้ผลผลิตต่อปีกว่า 500 กิโลกรัม สภาพทางธรรมชาติและภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ผลหยางเหมยที่เพาะปลูกในอำเภอเซียนจูมีลักษณะเฉพาะและเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจีน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพื้นที่ต่างๆ ในเจ้อเจียงเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์ต้นหยางเหมยมากขึ้น มีการสร้างโรงเรือนหยางเหมยอัจฉริยะที่แทบไม่ต้องใช้มนุษย์ในการดูแล สามารถปรับอุณหภูมิ ความชื้น แสง ปริมาณน้ำ และยังป้องกันแมลงศัตรูพืชได้อีกด้วย การปลูกหยางเหมยในโรงเรือนจะช่วยลดการเน่าเสียจากศัตรูพืชและน้ำฝน
ผลหยางเหมยที่ออกจากโรงเรือนมีราคาสูงกว่าหยางเหมยธรรมชาติ ถือเป็นหยางเหมยที่มีคุณภาพสูงได้มาตรฐานระดับอุตสาหกรรม เจ้อเจียงมีพื้นที่โรงเรือนหยางเหมยประมาณ 2,500 ไร่ (สถิติในเดือนเมษายน 2566) เฉพาะที่อำเภอเซียนจูมีพื้นที่โรงเรือนมากเป็นอันดับ 2 ของมณฑลเจ้อเจียง
ผลหยางเหมยสดเริ่มออกสู่ตลาดในต้นเดือนมิถุนายน ปัจจุบันผลหยางเหมยธรรมชาติจากเจ้อเจียงในตลาดเจียซิงมีราคาประมาณ 14-18 หยวนต่อกิโลกรัม ถ้าผลมีคุณภาพต่ำราคาก็ตก 6-8 หยวนต่อกิโลกรัม แต่ถ้าผลมีคุณภาพสูงราคาก็ตก 24-36 หยวนต่อกิโลกรัม
หยางเหมย (Yangmei) มักถูกเข้าใจผิดและเรียกผิดว่าเป็น Arbutus เนื่องจากผลไม้ทั้งสองชนิดมีรูปลักษณ์สีแดงและเนื้อสัมผัสคล้ายคลึงกัน แต่เป็นพืชคนละวงศ์กัน ทั้งยังมีรสชาติและแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน
ต้นหยางเหมยมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออก มักปลูกในพื้นที่ตอนใต้และตอนกลางของจีน พบหลักฐานว่ามีปลูกในประเทศจีนมานานอย่างน้อย 2,000 ปี รูปทรงต้นไม้นี้สวยงามมาก นิยมใช้ปลูกประดับถนนและสวนสาธารณะ รวมทั้งสวนหลายแห่งทั่วประเทศจีน
หยางเหมยมีแคลเซียม, วิตามินเอ, อี, เค, ซี, บี 1, บี 2, บี 3, บี 5, บี 6, บี 9, โปรตีน, น้ำตาล, ธาตุเหล็ก, แมกนีเซียม, โพแทสเซียม, คาร์โบไฮเดรต, ไขมัน, โซเดียม, ฟอสฟอรัส, เบตาแคโรทีน, สังกะสี อีกทั้งเส้นใยอาหาร
ด้านสรรพคุณ ช่วยรักษาโรคมะเร็ง บำรุงผิวพรรณ มีอนุมูลอิสระ บำรุงสมองและประสาท ป้องกันโรคหัวใจ รักษาโรคความดันโลหิต ป้องกันโรคโลหิตจาง บำรุงโลหิต ลดไขมันในเลือด ป้องกันหวัด รักษาโรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ วัณโรค บำรุงสายตา รักษาตาต้อกระจก บำรุงฟันและกระดูก แก้ท้องผูก ช่วยระบบขับถ่าย
อ้างอิง
https://www.miwfood.com/yumberry/
https://www.douban.com/note/184238212/?_i=0779207l-AfJVx
คอลัมน์: กินแกล้มเล่า
เรื่อง: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี
ภาพ: อินเทอร์เน็ต