Young Barista Camp โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์

-

การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ทุกคนควรได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใด โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ คือหนึ่งในสถานศึกษาสำหรับคนหูหนวก ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ค้นหาศักยภาพและแนวทางการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองในอนาคต

 

คุณครูสายใจ สังขพันธ์

คุณครูสายใจ สังขพันธ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ เล่าให้เราฟังว่าโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ เป็นโรงเรียนเฉพาะความพิการทางการได้ยินแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดยมูลนิธิเศรษฐเสถียร เริ่มต้นจากเป็นหน่วยทดลอง ต่อมาโรงเรียนเข้าสู่ระบบรัฐบาล อยู่ในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันดำเนินการมาแล้วเกือบ 70 ปี โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เปิดรับนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยินทั้งในเขตกรุงเทพฯ (เดินทางไป-กลับ มีทั้งชาย-หญิง) และต่างจังหวัด (แบบหอพัก รับเฉพาะนักเรียนหญิง)

ตามรายงานสถานการณ์คนพิการในประเทศไทยโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวนผู้ลงทะเบียนเป็นคนพิการประเภทบกพร่องทางการได้ยินมีประมาณ 3 แสนคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากความพิการทางการเคลื่อนไหว ปัญหาใหญ่ซึ่งคนหูหนวกมักเจอคือการสื่อสาร ช่วงวัยเด็กซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเรียนรู้และจดจำ แต่ในครอบครัวที่ผู้ปกครองปกติแต่มีลูกที่บกพร่องทางการได้ยิน เด็กจึงไม่สามารถสื่อสารกับพ่อแม่ ส่งผลต่อพัฒนาการต่างๆ ในช่วงวัยนั้น แม้ธรรมชาติของคนหูหนวกจะมีความสามารถในการใช้ภาษากายและภาพวาดถ่ายทอดเรื่องราว สื่อความหมายออกมาโดยอาศัยสัญชาตญาณ แต่นั่นก็ไม่ใช่รูปแบบการสื่อสารอย่างเป็นทางการ ดังนั้นการได้รับการศึกษาในโรงเรียนจึงมีความสำคัญ

เครื่องมือการสื่อสารของนักเรียนหูหนวกคือ “ตัวอักษร” พยัญชนะต่างๆ ซึ่งทุกคนใช้ในการอ่าน-เขียน และ “ภาษามือ” ที่ใช้กันในประเทศไทย ถูกคิดค้นโดยคุณหญิงกมลา ไกรฤกษ์ อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ เนื่องจากคนหูหนวกมักใช้ภาษามือเป็นหลัก ดังนั้นการใช้และการเรียบเรียงตัวอักษรในการอ่าน-เขียนจึงไม่สละสลวยเมื่อเทียบกับนักเรียนที่ไม่ได้มีความบกพร่อง ทว่าภาษามือกลับมีลักษณะพิเศษตรงที่สามารถใช้สื่อสารกับคนหูหนวกชาติอื่นได้ ถึงแม้ภาษามือคนหูหนวกจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ก็มีความใกล้เคียงกันถึงร้อยละ 70 สามารถเรียนรู้และพูดคุยกันได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์

การเรียนการสอนของโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ ใช้หลักสูตรแกนกลางการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานเหมือนโรงเรียนทั่วไป แต่จะมีความแตกต่างในด้าน “การจัดทำแผน IEP” (Individualized Education Program: แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาซึ่งสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละบุคคล) ครูผู้สอนต้องสังเกตทำความเข้าใจและวิเคราะห์นักเรียนแต่ละคนอย่างละเอียด เพื่อค้นหาศักยภาพที่เข้มแข็ง และจุดอ่อนที่ควรปรับปรุง
นอกจากความรู้และเครื่องมือสำหรับสื่อสารแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “ทักษะในการใช้ชีวิต” โรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ มีจุดมุ่งหมายหลักว่า เมื่อนักเรียนหูหนวกสำเร็จการศึกษาไปแล้ว จะสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นนอกจากความรู้ในห้องเรียนแล้ว โรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ ยังร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ หมุนเวียนเข้ามาจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้นอกห้องเรียนให้แก่เด็กๆ อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การวาดภาพ การถ่ายภาพ การปั้นเซรามิก กีฬาว่ายน้ำ ฯลฯ สิ่งที่นักเรียนหูหนวกได้รับนั้น จะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ความรู้ ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อต่อยอดอาชีพในอนาคตแก่พวกเขา

และโครงการ Young Barista Camp เอง ก็เป็นโครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อเสริมทักษะและนำเสนอทางเลือกในอาชีพแก่นักเรียนหูหนวกด้วยเช่นกัน

 

โครงการ Young Barista Camp

โครงการนี้เริ่มต้นจาก “ห้องเรียนกาแฟ” ซึ่งมีจุดประสงค์ในการพัฒนาทักษะการชงกาแฟแก่กลุ่มเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ต่อมาได้ต่อยอดสู่ Young Barista Camp คัดเลือกเยาวชนที่มีความสามารถโดดเด่นเข้าร่วมการแข่งขัน เสริมสร้างทักษะขั้นพื้นฐานสู่การเป็นบาริสต้ามืออาชีพ โครงการเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง สำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ หน่วยงานคัดสรร และเบลลินี่ พรีเมี่ยม คาเฟ่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หน่วยงานการตลาด บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด พร้อมด้วยสำนักการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ

ผู้เข้าร่วมการแข่งขันมาจากโรงเรียนสังกัดสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร, โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ กรุงเทพมหานคร, โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม และโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดชลบุรี ผลปรากฏว่าทีมนักเรียนจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ได้รับรางวัลชนะเลิศ และได้ไปทัศนศึกษา ณ ไต้หวัน เพื่อเรียนรู้การทำกาแฟจากบาริสต้ามืออาชีพระดับโลกที่กรุงไทเป มหานครอันมีคาเฟ่และร้านกาแฟเลื่องชื่อ จนได้รับการขนานนามว่า Taipei Coffee Walk ทั้งนี้สำนักการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

รางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ ได้ไปทัศนศึกษา ณ ไต้หวัน สนับสนุนงบประมาณโดยสำนักการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ

 

ครูปอย-ศศิชณา ดิษฐเจริญ

 

ทีมงานออล แม็กกาซีน ได้เข้าไปพูดคุยกับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รวมทั้ง ครูปอย-ศศิชณา ดิษฐเจริญ อาจารย์ที่ปรึกษาของทีม จากคำอธิบายข้างต้น เราได้มีการพูดถึงแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลกันไปแล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดโครงการห้องเรียนกาแฟ ครูปอยจึงสังเกตการณ์และวิเคราะห์ศักยภาพของนักเรียนว่าใครมีจุดแข็งจุดอ่อนด้านใด ต่อมาเมื่อโครงการ Young Barista Camp จัดการแข่งขันขึ้น ครูปอยจึงคัดเลือกสมาชิกและแบ่งสรรหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคน

 

บรรยากาศการแข่งขัน

โจทย์การแข่งขันคือการคิดค้นเมนูที่ “ดื่มแล้วให้ความรู้สึกสดชื่น” ทีมโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ ระดมสมองจนได้ไอเดียเด็ด นำน้ำมะนาว โซดา น้ำผึ้ง และพีช มามิกซ์กับกาแฟ อีกทั้งเพิ่มความพิเศษด้วยการปั่นส่วนผสมโดยใส่น้ำแข็งน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยนำส่วนผสมนั้นมาเทลงน้ำแข็งอีกที เวลาดื่มจะไม่ใช้หลอดแต่ต้องยกแก้วขึ้นมา ฟองอันเกิดจากการปั่นและโซดาจะจับริมฝีปาก ไอเดียสุดสร้างสรรค์นี้เองที่ทำให้ทีมสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศได้สำเร็จ

บรรยากาศการแข่งขัน

ครูปอยเป็นตัวแทนกล่าวถึงการแข่งขันว่า “นักเรียนรู้สึกสนุกและท้าทายกับโจทย์ที่ได้รับ ทุกคนในทีมล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจและทำตามหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายอย่างสุดความสามารถ ทั้งหมดนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าความสามัคคี”

บรรยากาศการแข่งขัน

 

พูดคุยกับสมาชิกในทีม

ครูปอยช่วยทำหน้าที่เป็นล่ามภาษามือให้เราได้พูดคุยกับน้องๆ หัวข้อสนทนาว่าด้วยเรื่องของบาริสต้า ความรู้ความเข้าใจในอาชีพ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการไปทัศนศึกษาที่ไต้หวัน และการต่อยอดอาชีพในอนาคต

สมาชิกในทีม

แต้ว-วชิราภรณ์ ทองจำนงค์ ชั้น ม.5/1

ก่อนเข้าร่วมโครงการ หนูไม่รู้จักอาชีพบาริสต้ามาก่อน ไม่รู้ว่าการชงกาแฟมีศาสตร์และศิลป์อย่างไร แต่ตอนนี้หนูได้รู้แล้วว่าการชงกาแฟต้องมีทั้งทักษะ ความตั้งใจ และความใส่ใจด้วย

ตอนไปทัศนศึกษาที่ไต้หวัน ที่นั่นมีผู้ชำนาญเรื่องกาแฟ สามารถคิดสูตรต่างๆ ออกมามากมาย หนูได้รู้จักคนคนหนึ่งที่เปิดร้านกาแฟตั้งแต่เป็นรถถีบ จนตอนนี้สามารถเปิดร้านเป็นของตัวเอง (เขาคนนั้นคือ อู๋เจ๋อหลิน 吳則霖 เจ้าของร้าน Simple Kaffa ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน Taiwan Barista Championship 3 ปีซ้อน (2013-2015) และแชมป์ World Barista ปี 2016) หนูรู้สึกว่าเขามีความพยายาม จึงยึดเขาเป็นต้นแบบ แล้วจะก้าวตามเขาจนกระทั่งเป็นแชมป์โลกด้านกาแฟเลย

((คำบอกเล่าจากครูปอย: ตอนไปแข่ง แต้วเป็นคนเดียวเลยที่ทำลาเต้อาร์ตได้ โดยทำเป็นรูปใบไม้))

 

แพรว-ณัฏฐณิชา ปุรณะ ชั้น ม.5/1

เป็นโอกาสที่ดีสำหรับหนูมากเลยค่ะที่ได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาที่ไต้หวัน หนูได้ไปดูตึกไทเป 101 ได้ไปขึ้นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งก็ไม่คิดเลยว่าชาตินี้หนูจะได้ไป มันสนุกมากเลย และหนูก็ได้ไปเรียนรู้เรื่องการทำกาแฟที่จิ่วเฟิ่น หนูเพิ่งรู้ว่ากาแฟใช่ว่าจะมีรสชาติเหมือนกันหมด แต่มันมีรสชาติแตกต่างกันเยอะแยะ มีทั้งรสเปรี้ยว รสขม วิธีการชงก็มีหลายแบบ

 

เติ้ล-วรินภรณ์ ทองจำนงค์ ชั้น ม.4/2

เริ่มแรกหนูไม่มีความรู้เกี่ยวกับงานบาริสต้ามาก่อน ไม่คิดเลยว่าการชงกาแฟต้องมีทักษะและความชำนาญ เมื่อเข้าร่วมโครงการหนูจึงได้ทราบว่าการทำกาแฟเป็นเรื่องที่มีสิ่งต่างๆ ให้เราได้เรียนรู้ ตอนนี้หนูได้รับการสอนและผ่านการเรียนรู้ มันทำให้หนูได้รับประสบการณ์มากมาย

เมื่อมีคนมาสอนหนูให้ชงกาแฟเป็นในระดับหนึ่งแล้ว หนูจะต้องฝึกชงกาแฟแล้วเป็นบาริสต้าที่ดีให้ได้ ในอนาคตหนูอยากต่อยอด อยากเป็นเจ้าของร้านกาแฟค่ะ

((คำบอกเล่าจากครูปอย: เติ้ลและแพรว สองคนนี้เขาจะเป็นคนสร้างสรรค์เรื่องสูตรกาแฟพิเศษ มีไอเดียเรื่องเมนูใหม่ๆ))

 

น้อต-ธันฐกรณ์ ศรีประเสริฐ ชั้น ม.6/2

ผมไปหอชมวิวสกายไลน์ 460 (Skyline 460 Observation Deck) บนตึกไทเป 101 เราเหมือนได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ห้อยขา ตอนไปเที่ยวเขาก็จะฉายจอใหญ่มาก จอทุกมุมทุกองศา แล้วเราเหมือนนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปเที่ยวตามเมืองไต้หวัน

((คำบอกเล่าจากครูปอย: น้อตเขาจะเป็นคนตวงกาแฟ ตวงแล้วปาด ปาดแล้วชั่งให้ได้น้ำหนักตามสัดส่วน ตอนทำห้องเรียนกาแฟ ครูปอยเห็นว่าเขาชั่งได้ตรง จึงมอบหมายหน้าที่นี้ให้))

 

เบส-เกริกเกียรติ จอบบุญ ชั้น ม.5/1

เมื่อก่อนผมไม่เคยคิดเลยว่าจะได้บินไปไต้หวัน มันเปิดโลกทัศน์ของผมมาก ผมได้ไปไต้หวันภาคกลางและภาคเหนือ ผมรู้สึกมีความสุขมากและได้รับประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ผมไปเรียนรู้เรื่องการชงกาแฟ วิธีการชงที่แตกต่างและวิธีการทำลาเต้อาร์ตที่สวยมาก ส่วนรสชาติกาแฟ ผมก็เพิ่งรู้ว่ากาแฟมีรสเปรี้ยวด้วย เป็นเรื่องที่ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยรู้มาก่อน

((คำบอกเล่าจากครูปอย: เบสก็จะอยู่คู่กับน๊อต คอยชั่งกาแฟให้ได้น้ำหนักตามสัดส่วน หน้าที่เสริมคือคอยกดน้ำ))

 

ทาม-ชนาเมธ กุลสุขรังสรรค์ ชั้น ม.6/2

ผมก็ไม่เคยรู้เรื่องการชงกาแฟมาก่อนเหมือนกันครับ ผมเห็นเครื่องชงกาแฟครั้งแรกก็ เอ๊ะ! นี่มันคืออะไร แต่พอผมได้ดูตัวอย่าง ได้ลองทำตามโดยมีพี่ๆ คอยสอน ผมเลยรู้สึกดีต่อการเป็นบาริสต้า ผมจะพยายามพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ แล้วอยากให้คนทั่วโลกได้ชิมกาแฟผม

เมื่อก่อนอาชีพในฝันของผมคือการทำงานเกี่ยวกับงานศิลปะ พิมพ์ผ้า เป็นทางเลือกที่ผมรู้จักและได้เรียนมา แต่ตอนนี้ผมก็ได้เรียนรู้การชงกาแฟแล้ว ผมจึงมีทางเลือกเพิ่มขึ้น และคิดว่าอาชีพบาริสต้าก็สามารถทำเงินให้ผมได้เหมือนกัน ผมคิดว่าผมจะต้องพยายามทั้งสองอย่าง แล้วมานั่งคิดว่าอะไรที่มันเหมาะกับผม

((คำบอกเล่าจากครูปอย: คนนี้เรื่องร้านนี่ต้องเนี้ยบ ทามจะเป็นคนคอยเช็กรายละเอียดทุกๆ อย่าง คอยดูแลความสะอาด))

 

นอกจากนั้นแล้ว น้องๆ ยังได้มีโอกาสทดลองมาประกอบอาชีพบาริสต้า ทำหน้าที่ชงกาแฟขายจริงๆ เป็นระยะเวลาหนึ่งวันที่ อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ ชั้น 11 โดยใช้วิธีการสื่อสารด้วยภาษามือตามป้ายแสดงสัญลักษณ์ ซึ่งมีเมนูที่หลากหลาย อีกทั้งสามารถสั่งปรับลดความหวานได้ตามต้องการอีกด้วย ตัวผู้เขียนเองก็ได้ไปลองชิมกาแฟฝีมือน้องๆ มาแล้ว อยากชื่นชมว่าถ้าในอนาคตน้องๆ อยากต่อยอดสู่อาชีพบาริสต้า หรือเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเอง ย่อมสามารถทำได้อย่างแน่นอน

 


คอลัมน์: ยุทธจักร ฅ.ฅน
เรื่อง: กัตติกา ภาพ: อนุชา ศรีกรการ
All magazine มิถุนายน 2563

กัตติกา

Writer

กองบรรณาธิการ เด็กโบราณคดีเอกไทย ผู้พ่ายแพ้ต่อแมวเหมียวและสิ่งมีชีวิตน่ารัก ชื่นชอบการดูหนังและสีเขียวแต่ดันมีเสื้อสีฟ้ามากกว่าเพราะคิดเอาเองว่าใส่แล้วสวย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!