ย้อมแมว

-

๏ จับแมวมาลูบล้าง สอดศรี

ขายส่งแสนอปรี ชั่วช้า

เปนคนคิดเอาดี โดยร่อน  ร่อนเฮย

ขายอื่นบคิดค้า คิดย้อมแมวขาย ฯ

โคลงบทที่กระผมยกมานำเรื่องมื้อนี้มาจากโคลงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดให้ขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกสำนักวัดราชบูรณะ กับจิตรกรอื่นๆ เขียนภาพและแต่งโคลงไว้ที่บานแผละประตูและหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ย้อมแมวขาย เป็นสำนวนโบราณมีความหมายว่า เอาของไม่ดีมาตกแต่งหลอกลวงว่าเป็นของดีเพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน น่ากังขาว่าทำไมต้องย้อมแมวเล่า ช้าง ม้า วัว ควาย ไก่ สุนัขและสารพัดสัตว์ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินเป็นทองได้ ไฉนจึงไม่คิดย้อมบ้าง แสดงว่าแมวต้องมีความพิเศษกว่าสัตว์อื่นๆ ดังมีร่องรอยปรากฏในโคลงโลกนิติ ว่า 

๏ หมาเอยสูเหนื่อยแท้ ทุกวัน

ไปไล่เนื้อไล่ทัน ท่านได้

เจ้ามันแม่นหื้อมัน กินแต่  ข้าวนา

แมวบ่ทำใดให้ หม่ำข้าวกับปลา ฯ

และ

๏ พาชีขี่คล่องคล้อย ควรคลา 

โคคู่ควรไถนา ชอบใช้

บนชานชาติวิฬาร์ ควรอยู่

สุนัขเนาแต่ใต้ ต่ำเหย้าเรือนควร ฯ

อธิบายความว่า หมาต้องเหน็ดเหนื่อยไล่เนื้อให้นาย แต่ได้กินเพียงข้าวเปล่า แมวไม่ต้องทำอะไรแต่ได้กินข้าวกับปลา ยังมิหนำ แมวควรอยู่บนเรือนกับเจ้าของ ส่วนหมาเหมาะกับอยู่ใต้ถุนเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ขึ้นไปเพ่นพ่านบนเรือน นั่นเป็นเรื่องของสิทธิสภาพหมาแมวครั้งโบราณ

แมวน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ชิดกับคนไทยมาหลายศตวรรษ บางยุคแมวมีเกียรติได้รับราชการ เช่นในคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า ที่หอกลองในกรุงศรีอยุธยา ต้องเลี้ยงแมวไว้ไล่หนูที่จะกัดกินหนังกลอง มีเงินหลวงสำหรับซื้อปลาเป็นอาหารแมว ชนชั้นสูงชาวกรุงศรีอยุธยาเชื่อว่าแมวที่มีลักษณะดี เป็นสมบัติล้ำค่าจะนำมาซึ่งเกียรติยศและโภคสมบัติ มีตำรับตำราว่าด้วยการดูลักษณะแมวมาแต่ครั้งนั้น แมวดีจึงเป็นของหายาก เป็นที่เสาะแสวงหาของผู้ลากมากดี

ก็แลตำราดูลักษณะแมวนั้น พิจารณาจากสีและความสมบูรณ์ของสรีระร่างกายเป็นหลัก ตำราแมวคำโคลงซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ระบุว่า แมวมงคลที่ให้คุณแก่ผู้เลี้ยงมี 17 ชนิด ได้แก่ นิลรัตน์ วิลาศ ศุภลักษณ์ เก้าแต้ม มาเลศ แซมเศวต รัตนกัมพล วิเชียรมาศ นิลจักร มุลิลา อานม้า ปัดตลอด กระจอก สิงหเสพย์ การเวก จตุบท และโกญจา

นอกจากตำราแมวคำโคลงแล้ว ยังมีตำราดูลักษณะแมว ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาบาลี จากตำราแมวครั้งกรุงเก่า อธิบายว่าแมวมงคลมีมากถึง 26 ชนิด ทั้งนี้อธิบายสีและความสมบูรณ์ของร่างกายเป็นหลัก เช่น 

ฯ กณฺหานิ จกฺขูนิ จ ยสฺส โหนฺติ ชิวฺหา จ โลมานิ นขานิ จาปิ

สฺวายณฺหิ เสฏฺโ ธนโภคิ นาโม โย จาปิ ลทฺธา ปริโป สเย ตํ

ทาสาทิกํ วา นิธิ กุมฺภิโย วา ลเภยฺยํ เวโส วรเสฏฺิานนฺต ๚

(แมวที่มีนัยน์ตา ลิ้น ขนและเล็บดำ เป็นแมวประเสริฐจะทำให้เกิดทรัพย์สมบัติ แม้ผู้ใดได้ (แมวนี้) ไว้ พึงเลี้ยงไว้เถิด ผู้นั้นจะพึงได้ข้าทาสบริวาร เป็นต้น หรือขุมทรัพย์สมบัติหรือไม่ก็จะได้เป็นเศรษฐีแล) 

แมวมงคลดังกล่าวมีลักษณะใกล้กับแมว “นิลรัตน์” ในตำราแมวคำโคลง ซึ่งระบุว่าฤาษีกไลยโกฏิกับฤาษีตาไฟร่วมกันสร้างแมวขึ้นในโลก

 

๏ สมยานามชาติเชื้อ นิลรัตน์

กายดำสิทธิสามรรถ เลอศพร้อม

ฟันเนตรเล็บลิ้นทัด นิลคู่  กายนา

หางสุดเรียวยาวน้อม นอบโน้มเสมอเศียร ฯ  

ตัวดำ ตาดำ เล็บดำ ลิ้นดำ และฟันดำ คงหายากเอาการเชียวแหละ โดยเฉพาะ “ฟันดำ” จะย้อมอย่างไรไหว ลองดูอีกตัวนะครับ ตัวนี้ชื่อ “วิลาศ” แปลกประหลาด มีรูปโบราณประกอบ

 

๏ ราวคอทับถงาดท้อง สองหู

ขาวตลอดหางดู ดอกฝ้าย

มีเศวตสี่บาทตรู สองเนตร  เขียวแฮ

นามวิลาศงามคล้าย โภคพื้นกายดำ ฯ  

แมวงาม ๆ ตามตำราหายากยิ่ง จึงต้องใช้วิธีย้อมแมว


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!