FDA อนุมัติให้เขียนฉลากโยเกิร์ตว่าอาจลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้

-

หลังจากผู้ผลิตโยเกิร์ตรายหนึ่งในสหรัฐฯ ส่งหลักฐานงานวิจัย 117 รายการ ไปขออนุมัติจาก FDA เพื่อให้สามารถเขียนข้างถ้วยโยเกิร์ตได้ว่ามันช่วยลดการเป็นเบาหวานประเภท 2 และหลังจากพิจารณากันอยู่ 5 ปี ในที่สุดองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ก็อนุมัติเมื่อ 1 มีนาคม 2567 ให้ผู้ผลิตโยเกิร์ตสามารถเขียนฉลากข้างถ้วยโยเกิร์ตได้ว่า 

“กินโยเกิร์ตสม่ำเสมออย่างน้อย 2 ถ้วย (3 เซิร์ฟวิ่ง) ต่อสัปดาห์อาจลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ ทั้งนี้ตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่อย่างจำกัด”

แต่ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะเฮโลไปซื้อโยเกิร์ตกินเพื่อลดหรือรักษาโรคเบาหวาน หมอสันต์ขอให้ใช้ประเด็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ต่อไปนี้พิจารณาประกอบด้วยเสมอ

  1. งานวิจัยที่ใช้เป็นหลักฐานขออ้างสรรพคุณโยเกิร์ตว่าลดโรคเบาหวานได้นี้ เป็นงานวิจัยระดับ prospective cohort study แม้จะเป็นงานวิจัยคุณภาพดี แต่มีระดับที่ต่ำกว่างานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) จึงบอกได้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างการกินโยเกิร์ตกับการเป็นเบาหวานน้อยลงเท่านั้น ไม่ได้บอกว่ากินโยเกิร์ตอาจช่วยลดการเป็นเบาหวานได้ คือบอกได้แต่การพบร่วมกัน ไม่ได้บอกว่าเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน
  2. โยเกิร์ตที่ใช้ในงานวิจัยเป็นโยเกิร์ตแท้ซึ่งไม่ใส่น้ำตาลเพิ่มเข้าไป (added sugar) ส่วนโยเกิร์ตที่เขาทำขายนั้นเกือบทั้งหมดใส่น้ำตาลเพิ่มเพียบ หากต้องการกินโยเกิร์ตเพื่อลดโรคเบาหวาน ท่านควรกินกรีกโยเกิร์ตที่ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่มเลยจึงจะได้ผลดี
  3. คนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังเช่นเบาหวานเกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่เพราะขาดจุลินทรีย์จากโยเกิร์ตอย่างเดียว การกินอาหารเพื่อรักษาโรคอย่างแท้จริงต้องมุ่งไปที่รูปแบบการกินยังทำให้สุขภาพดี (dietary pattern) หมายถึงอาหารทั้งหมดที่คนคนนั้นกินเป็นประจำอยู่ทุกวัน ไม่ใช่มุ่งกินแต่อาหารชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอาหารพระเอกหรือ superfood ดังนั้นการกินโยเกิร์ตเพื่อหวังลดโรคเบาหวาน แต่อาหารที่กินโดยรวมยังคงเป็นอาหารที่ทำให้เป็นเบาหวาน (เช่นรูปแบบการกินสมัยใหม่ซึ่งอุดมด้วยไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ มีแคลอรีสูง มีแป้งขัดสีหรือน้ำตาลมาก มีกากหรือเส้นใยจากพืชน้อย) จึงไม่เกิดผลดีในการรักษาโรคเรื้อรังเท่ากับการเปลี่ยนรูปแบบของอาหารที่กินโดยรวมแบบครบวงจร ผมแนะนำให้เปลี่ยนการกินจากรูปแบบปัจจุบันไปสู่รูปแบบการกินที่มีหลักฐานว่าดีต่อสุขภาพแน่นอนแล้ว เช่น อาหารมังสวิรัติ อาหารพืชเป็นหลัก อาหารเมดิเตอร์เรเนียน อาหารแดชไดเอ็ต

คอลัมน์: สุขภาพ

เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!