พริ้นส์ ดารานักแสดงชื่อดัง ผู้ประสบความสำเร็จในวงการบันเทิงหลังจากประกาศตัวว่าเป็น LGBTQIA+ แต่พอบรรลุจุดสูงสุดในวงการได้ไม่นานนัก เขาดันตื่นขึ้นในร่างของชายแปลกหน้ารูปงามที่เป็น ท่านขุนเมื่อครั้งอดีตกาล
เรื่องย่อของการ์ตูนฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม ลงในแพลตฟอร์ม Webtoon โด่งดังจนถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์คนแสดง ถนนวรรณกรรมมีโอกาสสนทนากับผู้วาดคุณ ‘เบ้น’ เจ้าของนามปากกาสุดเก๋ ‘ยืนกินปากกาที่ท่าพระ’ กับเรื่องราวเบื้องหลังผลงานการ์ตูนสุดปัง และเส้นทางการเป็นนักวาดการ์ตูน
ขอทราบที่มาของนามปากกานี้
เดิมทีเราใช้นามปากกาว่า ‘ArisaraFanart’ ค่ะ เป็นนามปากกาที่มีไว้สำหรับวาดงาน illustration Fanart เกม ภาพยนตร์ การตูนเรื่องต่างๆ
ทว่าเมื่อเริ่มเขียนการ์ตูน เราไม่อยากให้คนรู้จัก หรือคนที่ตามผลงานวาดภาพรู้ว่าเราเขียนการ์ตูน ประกอบกับตอนนั้นเบ้นเรียนอยู่มหาวิทยาลัยวังท่าพระเลยตั้งนามปากกาใหม่ว่า ‘ยืนกินปากกาที่ท่าพระ’ ค่ะ เราตั้งโดยไม่คิดว่าจะเป็นที่รู้จักขนาดนี้
ก่อนเป็นนักวาดการ์ตูน เคยทำอาชีพอื่นไหม และปัจจุบันทำอาชีพอะไรนอกเหนือจากวาดการ์ตูน
ก่อนเขียนการ์ตูนเรื่องแรกนั้น เบ้นเรียนอยู่ปี 1 คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากเป็นนักวาดภาพประกอบบนปกนิยาย หรือทำงานเบื้องหลังสตูดิโอแอนิเมชันเกม จนปัจจุบันนี้ที่เรียนจบมาแล้วก็ยังต้องหางานอื่นทำควบคู่กับการเขียนการ์ตูน ช่วงนี้สนใจงานเขียนบทภาพยนตร์หรือซีรีส์อยู่ค่ะ
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นความสนใจในการวาดการ์ตูน
เริ่มแรกสนใจในการวาดรูปตั้งแต่เด็ก จนขึ้นมัธยมมีโอกาสเป็นตัวแทนโรงเรียนไปลงประกวดวาดภาพ จึงเริ่มฝึกวาดรูปและเรียนรู้ศิลปะหลายๆ แขนง หนึ่งในนั้นก็คือการวาดรูปด้วยเทคนิค digital painting ในคอมพิวเตอร์ค่ะ แต่เราหมกมุ่นอยู่กับงานที่ตัวเองชอบมากไปหน่อยจนผลการเรียนตก จากเกรด 3.98 เหลือเกรด 2 ตอนนั้นเบ้นกลัวมากว่าจะถูกครอบครัวและครูอาจารย์มองว่าเป็นเด็กนักเรียนที่ล้มเหลวในระบบการศึกษาเพราะผลการเรียนรั้งท้าย เลยหันมาทุ่มเทเรื่องการวาดรูป หวังจะชนะการประกวดวาดรูประดับประเทศ แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยทางด้านศิลปะให้ได้ จุดเริ่มต้นจึงเกิดจากการกลัวตัวเองล้มเหลว เลยผลักดันให้เราเดินมาสายอาชีพนี้
สมัยมัธยมมีกิจกรรมส่งผลงานการ์ตูนเพื่อสมัครเข้าค่ายการ์ตูนของ 7-Eleven เราอยากลองสายอาชีพนักเขียนการ์ตูน เลยส่งผลงานไป แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก ต่อมาช่วง ม.5 มีกิจกรรมประกวดเขียนการ์ตูนสั้นชิงทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยศรีปทุม เราก็ส่งแต่ไม่ชนะเหมือนกัน ตอนนั้นเลิกคิดจะเป็นนักเขียนการ์ตูน รู้สึกว่างานสายภาพประกอบเหมาะกับเรามากกว่า
จนเข้ามหา’ลัย ปี 1 หลังจากผ่านมรสุมการสอบและรับน้อง ก็เป็นการหาเงินยังชีพในระหว่างเรียนแทน บรรยากาศชีวิตช่วงนั้นค่อนข้างเครียดและอัดอั้น ต้องการระบายความทุกข์ผ่านอะไรสักอย่าง เลยเริ่มเขียนการ์ตูนเรื่อง Red Man ซึ่งค้นพบงานเขียนแนวถนัดของตัวเอง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของนามปากกา ‘ยืนกินปากกาที่ท่าพระ’ ที่ตั้งขึ้นเพื่อปกปิดตัวตน
การ์ตูนเรื่องแรกมีที่มาอย่างไร และความรู้สึกที่คุณมีต่อผลงานชิ้นนี้
Red Man เผยแพร่ครั้งแรกในแพลตฟอร์ม Ookbee Comics ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น WeComics ตอนนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเนื้อหาโหดดิบเถื่อน กระชากอารมณ์รุนแรง แม้แต่ผู้เขียนเรื่องยังไม่กล้าเปิดเผยตัวและยอมรับว่าเป็นเจ้าของผลงานเลยค่ะ แต่สุดท้ายคนใกล้ตัวที่รู้จักผลงานเราเป็นอย่างดีก็รู้ว่าเป็นงานของใคร งานเขียนมักสะท้อนตัวตนและอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน จึงเป็นครั้งแรกที่เพื่อนและคนใกล้ตัวได้เข้าใจหรือรับรู้ความทุกข์ที่เราเผชิญ รวมถึงผู้คนที่ได้อ่านด้วย เรารู้สึกได้รับการยอมรับ และกล้าแสดงจุดยืนต่อต้านสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้องมากขึ้น
แล้วเริ่มมาเขียนลงเว็บตูนได้อย่างไร ทำไมถึงเลือกแพลตฟอร์มนี้
หลังจากเผยแพร่เรื่อง Red Man ลงในแฟลตฟอร์ม Ookbee Comics เพื่อนก็แนะนำให้ลองเขียนลงแพลตฟอร์ม Webtoon นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักแพลตฟอร์มนี้ ตอนนั้น Webtoon มีชาลเลนจ์ลีก หรือแคนวาสในปัจจุบัน เป็นช่องทางเฟ้นหานักเขียนประจำ และมีการประกวดประตูสู่ดาว โดยให้คนอ่านร่วมโหวตเรื่องที่ชอบและได้รับเงินรางวัล เราเลยสนใจเลือกมาลงการ์ตูนที่นี่ และ Webtoon ก็เปิดโอกาสให้เข้าร่วม Training Camp เพื่อพัฒนาผลงานลงในแพลตฟอร์ม ซึ่งเราค้นพบว่าการเขียนการ์ตูนสามารถสร้างรายได้
แต่ Webtoon มีกลุ่มคนอ่านส่วนใหญ่เป็นเด็ก เราจึงต้องเสนอเนื้อหาให้เหมาะสม นามปากกา ‘ยืนกินปากกาที่ท่าพระ’ จึงเป็นที่รู้จักว่าเป็นนักเขียนของ Line Webtoon ในผลงานเรื่อง Reverse ค่ะ
แล้วพัฒนาสู่ ฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม ได้อย่างไร อะไรคือแรงบันดาลใจในผลงานชิ้นนี้
เมื่อเขียนการ์ตูนลง Webtoon จบไป 2 เรื่องก็เป็นช่วงเรียนปี 4 พอดี ตอนนั้นตั้งเป้าหมายไว้ว่า หลังเรียนจบอยากทำงานในสายอาชีพนักเขียน ทำงานเบื้องหลังภาพยนตร์ หรือซีรีส์ และเริ่มต้นเดินตามความฝันใหม่นี้ ระหว่างนั้นก็รับงานวาดภาพประกอบปกนิยายพลาง และลงประกวดงานเขียนเก็บประสบการณ์พลาง มีได้รางวัลบ้าง งานถูกนำไปพัฒนาต่อบ้าง สร้างกำลังใจในการเดินทางสายเป็นนักเขียนเงาอยู่เบื้องหลังนี้
จนกระทั่งโอกาสที่เรารอคอยมาถึงคือการประกวดบทซีรีส์ Viu Pitching Forum 2021 เราเริ่มเขียนพล็อตเรื่อง ฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม ตั้งเป้าว่าจะเขียนเรื่องที่แมสเพื่อครองตลาดซีรีส์ให้ได้ เลยศึกษาตลาดซีรีส์ไทยว่ามีผลงานใดเป็นที่นิยม เราได้แรงบันดาลใจจากบุพเพสันนิวาส กับไดอารี่ตุ๊ดซีส์ เดอะซีรีส์ และได้แรงบันดาลใจในการเล่าเรื่องพีเรียดคอเมดี้ให้ร่วมสมัยจากซีรีส์ Mr. Queen จึงเกิดเป็นพล็อตเรื่องท่านขุนฯ แต่เพราะกลัวการเดินออกจาก save zone เลยไม่กล้าส่งผลงานนี้เข้าประกวด และนำมาเล่าเรื่องผ่านการ์ตูนตามที่เราถนัดแทน
หลังจากนั้นไม่กี่เดือนได้มีงานประกวด WeComics Contest 2021 เรานำพล็อตเรื่องท่านขุนฯ มาสานต่อ ปรับเปลี่ยนตัวละครและบทให้เข้ากับรูปแบบการ์ตูนออนไลน์ ซึ่งเราสามารถจินตนาการและเล่าในสิ่งที่อยากเล่าได้เต็มที่ จนกลายมาเป็นฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยามที่ทุกคนได้อ่านกัน ถ้าหากเป็นบทแบบเดิมเพื่อนำเสนอเป็นซีรีส์คงถูกตีกรอบเยอะ และขาดความน่าสนใจ เพราะเล่ามิติทางการเมืองไม่ได้ และอาจไม่ประสบความสำเร็จแบบในปัจจุบัน
กว่าจะสำเร็จก็ผ่านเรื่องราวหลายอย่าง
ในช่วงแรกที่เตรียมฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม เพื่อลงประกวดนั้น เราทำงานคนเดียว และใช้เงินเก็บทั้งหมดในบัญชีเพื่อซื้ออุปกรณ์มาใช้ รวมถึงจ้างเพื่อนมาเป็นผู้ช่วย เพื่อให้ผลงาน 3 ตอนแรกสำเร็จออกมา หลังเผยแพร่ในแพลตฟอร์ม WeComics ก็ได้รับโอกาสจากทาง Line Webtoon สนใจนำเรื่องนี้ไปลง เลยได้พัฒนาเรื่องนี้ต่อกับทาง Webtoon ระหว่างนั้นก็ใช้เวลาค้นคว้าข้อมูล เตรียมผลงานอยู่เกือบ 1 ปี ต้องขอบคุณเพื่อนและรุ่นน้องที่แวะเวียนกันมาช่วยจนผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้
ตอนที่เผยแพร่ผลงานลง Webtoon อย่างเป็นทางการ จำได้ว่าเงินในบัญชีเราไม่เหลือเลย เพราะไม่ได้รับงานวาดปกนิยายตั้งแต่มาเขียนเรื่องนี้ เราต้องไปขออาศัยบ้านญาติอยู่ในห้องเล็กๆ เพื่อทำงาน และยังจำความรู้สึกในวันที่ท่านขุนฯเผยแพร่ลง Webtoon ได้ว่า ตอนนั้นเรานอนอ่านคอมเมนต์ทุกคนอยู่ใต้โต๊ะคอมในห้องแคบๆ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากจริงๆ ที่เราสามารถทำเรื่องนี้ออกมาให้ทุกคนอ่านได้สำเร็จ
เนื้อเรื่องเป็นการย้อนยุค คุณหาข้อมูลหรือเตรียมข้อมูลยังไง และเลือก setting จากอะไร
เดิมทีเราแทบไม่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ไทยเลยค่ะ มีแค่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์นิดหน่อย เลยเริ่มค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์รอบโลก ส่วนใหญ่เบ้นจะเน้นเสิร์ชข้อมูล วิเคราะห์ความคิด การกระทำของผู้คนในยุคนั้นเป็นหลัก เพื่อหาแรงบันดาลใจมาใช้ในการออกแบบตัวละคร
ส่วนเซ็ตติ้งในเรื่องถึงแม้จะเขียนว่าเป็นราชวงศ์กรุงธนบุรี แต่เหตุการณ์จริงๆ เกิดประมาณ ค.ศ.1859 เป็นยุคที่โลกตะวันออกกับตะวันตกมาบรรจบกัน และเป็นยุคที่เราได้เห็นชนชั้นปกครองในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามรักษาอำนาจของตนเองไว้ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองอย่างตะวันตก รวมถึงโลกตะวันตกก็เริ่มมีแนวคิดการปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้น เราจะเห็นการเปลี่ยนผ่านของสยามจากยุคศักดินาแบบเดิมเข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เราไม่อยากเขียนทับยุครัตนโกสินทร์ เลยเลี่ยงโดยสร้างโลกคู่ขนานขึ้น เพื่อจะได้ไม่เหมือนกับของจริง และดัดแปลงบริบทสังคมยุคนั้นบางอย่าง เพื่อให้สารที่อยากสื่อชัดเจนขึ้น สนุกขึ้น
การผลิตการ์ตูนรายสัปดาห์มีกระบวนการอะไร และขั้นตอนไหนโหดหินที่สุด
การทำสตอรี่บอร์ดถือเป็นขั้นตอนที่ยากลำบากมากสำหรับเรา และเป็นขั้นตอนแรกที่เริ่มทำ ซึ่งใช้เวลา 3-4 วัน จาก 7 วัน เป็นขั้นตอนที่เราให้ความสำคัญที่สุด
หลังจากทำสตอรี่บอร์ดแล้วก็จะเผื่อเวลา 1 วันในการทำฉากโมเดล ขั้นตอนนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน บางครั้งถ้าไม่ทันจริงๆ จะจ้างน้องๆ คณะสถาปัตย์ช่วยทำฉากให้ หลังจากทำทั้งสองอย่างเรียบร้อยจะเริ่มคิดบท ใส่โมเดลตัวละคร เริ่มร่างรูป ตัดเส้น ลงสีพื้น แปะลายผ้าและเครื่องประดับ ลงแสงเงา ใส่เอฟเฟกต์ภาพ ก่อนใส่บอลลูนและเอฟเฟกต์แอ็กชันต่างๆ เป็นอันเสร็จเรียบร้อยพร้อมอัปลงเผยแพร่
เรื่องนี้โดดเด่นเรื่องลายผ้า เครื่องประดับ อาคาร คุณจัดการเวลาได้ยังไง เมื่อต้องลงเป็นรายสัปดาห์แต่ยังสามารถทำงานละเอียดได้
แน่นอนว่าการทำงานเป็นทีมมีความสำคัญช่วยให้เราผ่านพ้นแต่ละสัปดาห์มาได้ ทางเรารวมทีมกัน 3 คน ซึ่งแบ่งหน้าที่กันคนละส่วน และทุกคนจะทำงานไปพร้อมๆ กัน ก่อนนำมารวมในวันสุดท้าย ส่วนการแบ่งเวลานั้นหลังจากเริ่มขั้นตอนตัดเส้น จะผลัดกันงีบ จึงสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
มีตัวละคร หรือฉากไหนที่วาดแล้วชอบเป็นพิเศษ
ที่ชอบที่สุดเป็นฉากในช่วง ep. 6 วรเดชกับโกศลพูดคุยกันครั้งแรกหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายก่อนหน้า เราจะได้เห็นนิสัยตัวละครที่แสดงออกมา และเห็นความสัมพันธ์ที่คลุมเครือของทั้งคู่ภายใต้แรงกดดัน
เป็นฉากที่ตอนทำสตอรี่บอร์ดเราต้องศึกษาการเล่าเรื่องหนักมาก นั่งศึกษาภาษากาย โดยอ้างอิงการใช้มุมกล้องและการแสดงออกของสีหน้าท่าทางจากภาพยนตร์ เพื่อส่งอารมณ์และบรรยากาศความกดดันของตัวละครโกศล ผ่านการกระทำในทุกอิริยาบถ ให้ปรากฏภายใน 1 ฉากนี้ โดยสามารถรับส่งอารมณ์กับวรเดชที่เป็นตัวแม่เอนเนอร์จี้สูงให้ไม่ดร็อป พอทำตอนนี้จบเหมือนได้ปลดล็อกความสามารถในการเล่าเรื่องของตัวเองไปอีกขั้นเลยค่ะ
สิ่งที่ท้าทายในผลงานชิ้นนี้
การส่งงานตรงเวลาและการทำให้คนอ่านติดตามอ่านงานเราต่อในทุกๆ สัปดาห์ เราไม่รู้เลยว่าพออ่านไปแล้ว คนอ่านจะเลิกอ่านไหม หรืออยากตามต่อหรือเปล่า ยิ่งถ้าเราอัปช้า ยอดคนอ่านจะน้อยลงด้วย เราจึงใช้เวลาเยอะกับการทำสตอรี่บอร์ดในแต่ละสัปดาห์ และลุ้นว่าคนอ่านจะชอบไหม
โมเมนต์ประทับใจหรือเรื่องเซอร์ไพรส์ที่เจอตอนเขียนท่านขุนฯ
แฟนคลับค่ะ สามารถทำให้เซอร์ไพรส์ได้เสมอ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปออกงานจนกระทั่งเรื่องจบแล้ว ก็ยังสร้างความเซอร์ไพรส์ไม่หยุด มีทั้งแต่งเพลงให้ แต่งกลอนอวย ช่วยขายของ อยากขอบคุณทุกคนเลยที่คอยซัปพอร์ตกันมาตลอด และทำสิ่งดีๆ ให้กันมาเสมอ หวังว่าเราจะมีเซอร์ไพรส์ให้กันและกันไปนานๆ เลยค่ะ
ปัญหาหรืออุปสรรคของการเป็นนักเขียนการ์ตูน
ตอนนี้การเขียนการ์ตูนเป็นการทำงานเพื่อรองรับตลาด งานเพื่อการพาณิชย์ นักเขียนที่เข้ามาในวงการนี้โดนสภาพสังคมทุนนิยมในปัจจุบันบังคับว่าต้องทำงานให้แมส ให้เป็นที่นิยม เพื่อจะได้ทำงานในสายอาชีพนี้ นักเขียนการ์ตูนจึงถูกตีกรอบ ควรเขียนงานแบบไหนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแทนที่จะได้สร้างสรรค์งานที่ตัวเองอยากสื่อจริงๆ หวังว่าในอนาคตนักเขียนการ์ตูนทุกคนสามารถทำงานโดยไม่ต้องมีกรอบของการต้องเป็นที่นิยมมาจำกัดความคิด และมีอิสระในการเขียนมากกว่านี้ค่ะ
คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียนการ์ตูน ต้องเตรียมตัว เตรียมใจอะไรไว้บ้าง
ปกตินักเขียนทุกคนมักมีเรื่องที่เขาอยากเล่า ส่วนคนอ่านก็มีสิ่งที่คาดหวังจะเห็น ถ้าอยากทำงานให้แมสและไม่สูญเสียตัวตน เราต้องพยายามบาลานซ์สิ่งที่อยากจะสื่อ และสิ่งที่คนอ่านคาดหวังให้ได้ค่ะ
มีอะไรที่อยากลองท้าทายตัวเองอีกในอนาคต
อยากลองทำงานวงการภาพยนตร์และซีรีส์ค่ะ มีแพลนที่จะไปศึกษาต่อด้านนี้ แต่ยังหาโอกาสไม่ได้ คิดว่าถ้าได้ลองทำก็คงท้าทายไม่น้อยเลย เพราะไม่ใช่แค่การทำงานกับคนสองสามคน แต่เป็นการทำงานกับคนหมู่มากด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง และตัวแปรที่ไม่คาดคิดด้วย แต่อย่างน้อยก็อยากจะลองสักครั้ง
คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม