สนพ.วายเอฟ คัลเจอร์ หนังสือเด็กเพื่อการเติบโตอย่างรู้เท่าทัน

-

ช่วงหลังสังคมไทยตื่นตัวต่อประเด็นที่เคยเพิกเฉยกันมาก่อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพยายามพูดเรื่องเพศอย่างเปิดเผยเพื่อการศึกษาอย่างเหมาะสม การยอมรับความหลากหลายทางเพศของคนในสังคม การมองปัญหากลั่นแกล้งในเด็กวัยเรียนเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม รวมทั้งตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยี เช่น การเสพติดโทรศัพท์มือถือ โซเชียลมีเดีย ฯลฯ ด้วยกระแสสังคมที่เปลี่ยนไปนี้ คอนเทนต์ของหนังสือจำต้องสอดรับกับสังคมที่ผันแปร แม้แต่หนังสือนิทานสำหรับเด็กก็ต้องนำเสนอเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อก่อเกิดประโยชน์แก่เด็กรุ่นใหม่อย่างแท้จริง สำนักพิมพ์วายเอฟ คัลเจอร์ (YF Culture) เล็งเห็นจุดนี้ จึงมุ่งมั่นทำหนังสือสำหรับเด็กซึ่งมีเนื้อหาเข้ากับความเป็นไปของสังคมปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางในการเติบโตอย่างแข็งแรงต่อไป ‘นก’ ศิริธาดา กองภา ผู้จัดการสำนักพิมพ์และกองบรรณาธิการ ร่วมด้วย ‘เอิร์ท’ ชนินทร์ สูงทรง การตลาดและโซเชียลคอนเทนต์ จะพาเราไปทำความรู้จักกับหนังสือของสำนักพิมพ์นี้มากขึ้น

 

 

สำนักพิมพ์ วายเอฟ คัลเจอร์ เริ่มต้นได้อย่างไร

นก: เรามีต้นกำเนิดจากไต้หวัน โดยคุณหูหมิงเวย ผู้ก่อตั้งโย่วฝูพับลิค ซึ่งผลิตหนังสือเด็กมานานกว่า 40 ปีในไต้หวัน อยากให้มีสาขาของโย่วฝูในเมืองไทยและอีกหลากหลายประเทศ เพื่อเป็นการขยายแนวคิดที่จะทำให้การอ่านหนังสือเป็นการมอบความสุขซึ่งไม่มีวันหมดอายุแก่เด็กๆ ที่มาของชื่อสำนักพิมพ์ วายเอฟ คัลเจอร์ นั้น เป็นการนำเอาตัวอักษรย่อของ  Yow Fu มาใช้ และความหมายของชื่อสำนักพิมพ์ก็คือ Your Future อนาคตของหนูๆ นั่นเอง  เพราะเราเชื่อว่าการอ่านเป็นรากฐานของทุกอย่าง จึงเป็นที่มาของชื่อสำนักพิมพ์เรา

สำนักพิมพ์ตั้งใจนำเสนอคอนเทนต์แบบใด

นก: เราอยากให้หนังสือสำหรับเด็กเป็นคอนเทนต์ที่เด็กๆ สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นแนวคิดสำหรับการเติบโต และเป็นสิ่งที่เข้ากับความเป็นไปในสังคมปัจจุบัน เราจึงพยายามเสาะหาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความกังวลใจของพ่อแม่ หรือเนื้อหาที่จะช่วยตอบคำถามบางอย่างของเด็กๆ ที่ไม่มีใครเคยให้คำตอบ หรือเนื้อหาที่ช่วยแนะนำการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมให้แก่พวกเขา

ดังนั้นหนังสือของวายเอฟคัลเจอร์ที่ผ่านมา เราพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับการสอนเรื่องเพศศึกษา การล้อ แกล้ง รังแก (bully) การเข้าใจและเห็นอกเห็นใจตนเอง ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อให้พวกเขาเติบโตอย่างเข้าใจตนเองและเข้าใจคนรอบข้าง เราคิดว่าปัญหาเรื้อรังหลายอย่างในสังคม ส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่พบเจอในวัยเด็ก ดังนั้นถ้าเด็กๆ มีเกราะป้องกันตนเอง และรู้เท่าทันสิ่งรอบตัว เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต

 

 

ยกตัวอย่างหนังสือให้เห็นภาพหน่อย

นก: บ่อยครั้งเรามักจะได้ยินคำถามของเด็กๆ เช่น หนูเกิดมายังไง ทำไมร่างกายผู้หญิงถึงต่างกับผู้ชาย  คำถามเหล่านี้มีคำตอบอยู่ในหนังสือ เรื่องไม่ลับฉบับคุณหนู ซึ่งเป็นหนังสือที่มีลูกเล่นน่าสนใจ เด็กๆ จะเห็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่พ่อแม่สามารถชวนพวกเขา เปิดปิดแผ่นภาพ อธิบายเกี่ยวกับการเกิดและร่างกายของพวกเขา หรือกระทั่งสอนเรื่องสิทธิ์ในร่างกายของแต่ละคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถละเมิดได้ และสอนให้เด็กๆ รู้ว่าถ้ามีคนเข้ามาจับต้องร่างกาย เราต้องทำอย่างไร การสัมผัสแบบไหนที่เรียกว่าการ “คุกคาม”

หรือคำถามแบบไหนที่เรียกว่า “หยอกล้อ” แบบไหนที่เรียกว่า “รังแก” เราตอบคำถามเหล่านี้ด้วยหนังสือชุด ทำอย่างไรเมื่อโดนกลั่นแกล้ง ซึ่งเล่าเรื่องราวของเด็กๆ ในโรงเรียน โดยใช้ตัวละครสัตว์น้อยน่ารักเป็นตัวแทนของเด็กที่มีพฤติกรรมแตกต่างกัน เช่น เด็กที่เคยถูกกลั่นแกล้งและกลั่นแกล้งคนอื่น ผู้อ่านจะได้เรียนรู้จากหนังสือชุดนี้ว่าการกลั่นแกล้ง รังแก เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และถ้าเราตกเป็นเหยื่อในสถานการณ์เช่นนั้นควรทำอย่างไร

หรือกระทั่งคำถามที่ว่า ถ้าหนูทำผิดหนูควรบอกพ่อแม่ดีไหม หนังสือ ฉันกลืนความลับไว้ในท้อง นำเสนอเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ทำความผิดและไม่กล้าบอกพ่อแม่ เธอรู้สึกเหมือนกลืนความลับเอาไว้ในท้อง จนท้องไส้ปั่นป่วน ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะพยายามนำเสนอให้เด็กๆ เห็นว่า การสารภาพผิดไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเลย และพ่อแม่พร้อมจะอยู่ข้างๆ พวกเขาเสมอ

ปัจจุบันออกหนังสือมาแล้วกี่เล่ม

นก: วายเอฟ คัลเจอร์ มีหนังสือทั้งหมด 22 เล่มในปัจจุบัน แม้ว่าบริษัทแม่ที่ไต้หวันจะเป็นบริษัทใหญ่ แต่วายเอฟ คัลเจอร์ ในประเทศไทยเป็นโมเดลสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก มีทีมทำงานอยู่ไม่กี่คน เราจึงพยายามเลือกหนังสือที่เป็นทีเด็ด เพื่อโฟกัสกับหนังสือแต่ละเล่มได้ง่าย เล่มล่าสุด ถอดรหัสลับร่างกาย เพิ่งวางตลาดไป ได้รับความสนใจจากคุณครูและผู้ปกครองเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการนำเสนอการเรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายพร้อมกับมีลูกเล่นที่เป็นไฟฉายกระดาษ ซึ่งเด็กๆ สามารถนำไปส่องแผ่นพลาสติกใสแล้วเห็นอวัยวะภายในร่างกาย

มีเสียงตอบรับจากนักอ่านอย่างไรบ้าง

เอิร์ธ: เราได้รับเสียงตอบรับดีทีเดียว อย่างในช่วงแรกที่เราออกหนังสือเรื่อง เรื่องไม่ลับ ฉบับคุณหนู ซึ่งสอนเรื่องเพศศึกษาสำหรับเด็ก เนื้อหาถือว่าได้ความรู้เบื้องต้นไปเยอะมาก มีบอกถึงความแตกต่างระหว่างว่าผู้ชายกับผู้หญิง ตอนแรกคิดเหมือนกันว่าอาจไม่ค่อยถูกใจลูกค้านัก แต่เราอยากทำเนื้อหาที่กล้าสอนเรื่องจำเป็นสำหรับเด็กให้ได้รู้กันตั้งแต่เล็กเลย เมื่อหนังสือออกมากลับมีคนสนใจเยอะ จนหนังสือของสำนักพิมพ์ของเราเข้าไปอยู่ในสายตาของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น และมีแฟนคลับติดตามซื้อเก็บตลอด ต่างชมว่าชอบ หนังสือดี เนื้อหาน่าสนใจ ต้องขอขอบคุณนักอ่านทุกท่านที่ชอบหนังสือของเราเหมือนที่เราชอบครับ

มองตลาดของหนังสือแนวนี้ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

เอิร์ธ: มองว่าตลาดยังต้องการหนังสือแนวที่เรากำลังทำกันอยู่ ความจริงเราอยากให้ทำออกมาเยอะๆ เพราะหนังสือสำหรับเด็กหรือนิทานสำหรับเด็ก สามารถพูดประเด็นที่สำคัญได้อีกมากมาย อย่างเรื่องการจากลาหรือความตาย เรื่องความรู้สึกภายใน หรือเรื่องง่ายๆ กว่านั้น เพราะฉะนั้นผมมองว่าตลาดยังมีช่องว่าง แต่ที่สำคัญคือการทำให้คนอ่านได้เห็นว่ามีหนังสือแนวนี้อยู่ และคุณต้องการมัน

 

 

สำนักพิมพ์มีแนวทางโปรโมตอย่างไร

เอิร์ธ: หลักๆ คือทาง facebook ครับ ชื่อเพจ @YFpublicthailand แต่ละครั้งที่ออกหนังสือใหม่จะมีงานเปิดตัวหนังสือ ช่วงหลังๆ เราเน้นเปิดตัวในงานหนังสือ ล่าสุดเราไปขึ้นเวทีเสวนาเปิดตัวหนังสือชุด ทำอย่างไร เมื่อโดนกลั่นแกล้ง ในงาน Winter Book Fest 2020 ที่สามย่านมิตรทาวน์ และเชิญหมอโอ๋ จากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน เป็นวิทยากรให้ ส่วนกิจกรรมนั้นเราเคยไปทำกิจกรรมที่เชียงใหม่กับกลุ่มพระจันทร์พเนจร จัดที่ Dhepsiri Creative Space เป็นการแสดงหุ่นมือจากเรื่อง ล้อเพื่อนไม่ใช้เรื่องสนุกนะ เด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่มาดูกันเต็มทุกรอบเลย

เรามองว่าการโปรโมตแบบออนไลน์ และแบบเจอกันตามงานนั้น เหมาะกับสำนักพิมพ์ขนาดเล็กอย่างเรา เพราะเราอยากให้เกิดคอมมิวนิตี้ที่เป็นกันเองกับนักอ่านด้วย

เล่าถึงกิจกรรมที่วายเอฟ คัลเจอร์ ได้ร่วมกับทางโรงเรียนหน่อย

นก: ปี 2020 ที่ผ่านมา วายเอฟ คัลเจอร์ วางแผนว่าอยากทำกิจกรรมร่วมกับทางโรงเรียน เพราะเรามองว่าหนังสือที่เราทำไม่เพียงให้ความรู้แก่เด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อการสอนที่คุณครูสามารถนำไปใช้ในโรงเรียนได้อีกด้วย เราจึงอยากทำกิจกรรมร่วมกับทางโรงเรียน หรือร่วมออกงานอีเวนต์ต่างๆ เพื่อนำเสนอไอเดียในการสอนเด็กๆ จากหนังสือของเรา และกิจกรรมจะช่วยให้ประเด็นสังคมเหล่านี้เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง

ต้นปี 2020 วายเอฟ คัลเจอร์ได้ไปร่วมกิจกรรมวันเด็กกับกลุ่ม Flock Learning องค์กรธุรกิจซึ่งเกิดจากการรวมตัวของพ่อแม่และนักสร้างการเรียนรู้ ที่มิวเซียมสยาม เราจัดกิจกรรมฝึกทักษะการคิด การใช้ตรรกะที่ประสานการทำงานกับกล้ามเนื้อมือ ผ่านหนังสือชุด ดินแดนวงกต กิจกรรมนี้เราได้รับการตอบรับจากเด็กๆ เราจึงเกิดแนวคิดที่อยากออกแบบกิจกรรมที่มาจากหนังสือ และทำให้เด็กๆ มีส่วนร่วมและสนุกไปกับการเรียนรู้มากที่สุด แต่ด้วยภาวการณ์ระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรก แผนที่จะเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนเลยสะดุดไป เราจึงเริ่มกิจกรรมช่วงครึ่งปีหลังในงาน ABC BOOK FEST โดยได้รับความช่วยเหลือจากพี่ๆ เพื่อนๆ ในแวดวงการทำกิจกรรมเพื่อเด็กในโรงเรียนห่างไกล ประสานกับโรงเรียนที่ต้องการหนังสือเด็ก จัดโครงการ “หนังสือเพื่อน้องได้อ่าน” โครงการนี้เป็นการชักชวนให้นักอ่านเลือกซื้อหนังสือของวายเอฟ คัลเจอร์ และของเพื่อนๆ สำนักพิมพ์เด็กที่นำเสนอคอนเทนต์น่าสนใจ อย่าง แมงมุมบุ๊ก Sook Publishing นักอ่านสามารถเลือกว่าจะส่งหนังสือเล่มนั้นๆ ให้น้องๆ ที่โรงเรียนไหน และทางทีมงานจะเป็นคนจัดส่ง เราได้รับกระแสตอบรับจากโรงเรียนเป็นอย่างดี เพราะนี่คือรูปแบบของการมอบหนังสือที่เด็กๆ อยากอ่านอย่างแท้จริง ไม่ใช่การบริจาคหนังสือ “อะไรก็ได้” ที่โรงเรียนมักได้รับ เราจึงนำโครงการนี้ไปจัดอีกครั้งในงาน Winter Book Fest เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และคิดว่าจะทำโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ

และช่วงเดือนพฤศจิกายน วายเอฟ คัลเจอร์ ได้จับมือกับสำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก ซึ่งทำหนังสือเรื่อง “ผีเสื้อของตั๋วตั่ว” พูดถึงประเด็นการคุกคามทางเพศ จัดกิจกรรมร่วมกับคณะละครพระจันทร์พเนจร ซึ่งทีมนี้จัดแสดงละครหุ่นในหลากหลายรูปแบบ และตระเวนจัดแสดงในต่างประเทศมาหลายปี โดยนำเรื่องราวจากหนังสือมาโลดแล่นเป็นตัวละครตุ๊กตาผ้า หุ่นกระดาษ เพื่อสร้างความสนุกสนานควบคู่ไปกับการเรียนรู้  ฟีดแบคจากงานนี้ทำให้เราอยากตระเวนจัดกิจกรรมแบบเดียวกันตามโรงเรียนต่างๆ ในหลากหลายภูมิภาค

และนอกจากนี้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เรายังมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.สมบัติ ตาปัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิศานติวัฒนธรรมและทำงานเกี่ยวกับปัญหาการกลั่นแกล้งรังแก การคุกคามทางเพศในกลุ่มเด็กมานาน อาจารย์มีโครงการที่จะจัดอบรมคุณครูตามโรงเรียนต่างๆ ในภาคเหนือ (และอาจขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ) เกี่ยวกับการดูแลและป้องกันปัญหาเหล่านี้ในโรงเรียน เนื้อหาที่อบรมนั้นมีความใกล้เคียงกับคอนเท็นต์ที่วายเอฟคัลเจอร์ทำอยู่แล้ว ดังนั้นในปี 2021 เราน่าจะได้ไปร่วมทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่เด็กๆ อีกหลายกิจกรรมค่ะ

 

 

เราจะเจอหนังสือของวายเอฟ คัลเจอร์ ได้ที่ไหนบ้าง

เอิร์ธ: ตามร้านหนังสือทั่วไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็น ซีเอ็ด นายอินทร์ B2S ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ร้านหนังสือ Open House ที่ Central Embassy ร้านหนังสือ Fathom และช่องทางออนไลน์ ได้ที่ Shopee และเพจเฟซบุ๊กของเราครับ

สำนักพิมพ์เล็กมีอุปสรรคหรือข้อได้เปรียบอะไรบ้าง

นก: อันนี้พูดถึงแค่ในมุมตลาดหนังสือเด็กนะคะ ปัญหาของสำนักพิมพ์เล็กน่าจะเป็น “พื้นที่” อันจำกัด และความยากของการที่จะ “โดดเด่น” ขึ้นมาในตลาดที่มีหนังสือเด็กกว่าพันปก “พื้นที่” ที่เราพูดถึงหมายถึงตามหน้าร้าน ซึ่งถือว่าเป็นอีกตลาดหลัก เพราะว่าเราเป็นสำนักพิมพ์ใหม่ บางครั้งหนังสือที่วางตามร้านต่างๆ อาจถูกหนังสือของสำนักพิมพ์อื่นบดบัง และเมื่อลูกค้าไม่เห็นหนังสือของเรา โอกาสขายจึงยากยิ่งขึ้น ดังนั้นเราจึงพยายามสร้าง “พื้นที่” ในโซเชียล สร้างกระแสผ่านอินฟลูเอนเซอร์ สร้างเครือข่ายพ่อแม่และคุณครูผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้คนอ่านรู้จักหนังสือของเราก่อนที่จะไปตามหาตามหาในร้าน หรือสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ดังนั้นการสร้างพื้นที่จึงเป็นเรื่องยากสำหรับสำนักพิมพ์ และเป็นสิ่งที่เราต้องหากลยุทธ์ที่น่าสนใจทุกครั้งที่ออกหนังสือเล่มใหม่

“ความโดดเด่น” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ยากสำหรับสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก คือเราต้องมีความแตกต่างจากหนังสือทั่วไปที่วางขายตามท้องตลาด เพราะถ้าเราเหมือนคนอื่น ลูกค้าจะไม่มีวันมองเห็นเรา ดังนั้นหนังสือของวายเอฟ คัลเจอร์ จึงพยายามเน้นคอนเทนต์ที่แตกต่างกับเล่มอื่นๆ เพื่อสร้าง “พื้นที่” ในตลาดหนังสือเด็กโดยเฉพาะ

สถานการณ์โควิดปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อสำนักพิมพ์ไหม

นก: เราเจอผลกระทบจากยอดขายตามร้านค้าที่ลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากร้านค้าถูกปิดและงานเทศกาลหนังสือต่างๆ ซึ่งเป็นรายได้อีกช่องทางของสำนักพิมพ์ไม่สามารถจัดได้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องพยายามสร้างยอดขายจากฝั่งช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น จนเราได้กลุ่มลูกค้าใหม่ที่เป็นแม่ๆ ซึ่งมีเครือข่าย มีสมาชิกในกลุ่มของตัวเอง คุณแม่เหล่านี้จะรับออร์เดอร์จากสมาชิกแล้วมาสั่งซื้อหนังสือจากเราในปริมาณมาก ช่วงต้นปี 2020 เราได้ลูกค้ากลุ่มนี้มาแทนยอดขายร้านค้าที่หายไปได้เยอะพอสมควร

นอกจากนี้แผนกิจกรรมต่างๆ ที่เราวางไว้ต้องเลื่อนไปหมด เพราะโรงเรียนหยุดการเรียนการสอน กิจกรรมต่างๆ ที่วางไว้จึงต้องยกยอดมาทำในปีนี้ ณ ตอนนี้หลายโรงเรียนที่จะให้เราเข้าไปทำกิจกรรมในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ก็เลื่อนไปแบบไม่มีกำหนดเช่นเดียวกัน

มีแผนการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปอย่างไรบ้าง

นก: อย่างที่บอกว่าหัวใจสำคัญของเราคือต้องมีคอนเทนต์ที่ “โดดเด่น” เพื่อให้กลุ่มลูกค้าสนใจ และชิง “พื้นที่” การขายมาจากสำนักพิมพ์อื่นๆ และนอกจากนี้ความสม่ำเสมอในการออกหนังสือ การสร้างเครือข่ายกับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เรามองว่าปัจจัยเหล่านี้จะประคับประคองให้เราอยู่รอดในตลาดหนังสือเด็กได้

ปี 2021 กำหนดออกผลงานหรือวางกลยุทธ์ขยายตลาดอย่างไรบ้าง

นก: สำหรับปี 2021 เราจะพูดถึงคอนเทนต์ที่แตกต่างต่อไป เรากำลังติดต่อขอลิขสิทธิ์หนังสือเด็กจากเบลเยี่ยมที่นำเสนอเรื่องความตายและความงดงามของความหลากหลายทางเพศ และด้วยความที่บริษัทแม่ของเราเชี่ยวชาญเรื่องการผลิตหนังสือควบคู่ไปกับสื่อการเรียนรู้ เราจะนำเสนอหนังสือที่ช่วยสร้างทักษะการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ อีกหลากหลายรูปแบบ โดยมีแพลนออกหนังสือให้ได้เดือนละ 2-4 เล่มค่ะ

 

 

3 เล่มที่สำนักพิมพ์วายเอฟ คัลเจอร์ อยากแนะนำ

  • เรื่องไม่ลับ ฉบับคุณหนู

หนังสือที่สอนเรื่องเพศศึกษาแก่เด็กๆ หลายคนถามว่าเหมาะที่จะสอนตอนนี้เหรอ เด็กยังไม่โตเลย เรามองว่าถ้าไม่เริ่มทำความเข้าใจกันตั้งแต่ตอนนี้ จะไม่ทันต่อความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ เพราะยุคนี้ข้อมูลวิ่งเข้าหาเด็กเร็วมาก ถ้าเราไม่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องก่อน อาจไม่มีเวลาได้สอนเด็กๆ อีกเลย

  • หนังสือชุด ทำอย่างไร เมื่อโดนกลั่นแกล้ง

เรื่องของการ bully มีให้เห็นเยอะในสังคมทุกวันนี้ และส่งผลถึงตอนโต เราควรทำความเข้าใจและสร้างเกราะให้เด็กได้รู้ว่าเรื่องไหนเข้าข่ายไม่ควรทำ หรือแม้กระทั่งถ้าถูกกระทำต้องรู้ตัวให้ไว และหาทางออกอย่างเข้าใจให้ได้ เหนือสิ่งอื่นใด ความเข้าใจจากคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กๆ ด้วย

  • ถ้าเอาไอโฟนให้เจ้าหนูน้อยจะเกิดอะไรขึ้นนะ?

หนังสือที่เล่นกับประเด็นการติดมือถือของเด็กๆ สมัยนี้ ชี้ให้เห็นว่าถ้าเด็กๆ มัวแต่ก้มหน้าเล่นมือถือจะพลาดเรื่องราวรอบตัวไปขนาดไหน แล้วถ้าวันหนึ่งไม่มีมือถือ เราก็ยังสนุกกับชีวิตได้


คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม

เรื่อง: ภิญญ์สินี

ภาพ: วายเอฟ คัลเจอร์

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!