‘ยายเพิ้ง’ มาแล้ว

-

ฉบับนี้จะเขียนถึงสำนวน “ยายเพิ้ง” และ “นางผีเสื้อสมุทร”  ซึ่งใช้เปรียบผู้หญิงที่มีบุคลิกภาพโดดเด่น

ยายเพิ้ง

“ยายเพิ้ง” เป็นสำนวนที่นำมาจากชื่อตัวละครเอกในเรื่องสั้น “คุณย่าเพิ้ง” ซึ่งเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ใช้นามปากกา “เขียวหวาน”1 แต่งลงพิมพ์ในหนังสือรายเดือนลักวิทยา เล่มที่ 2 ตอนที่ 1 ฉบับเดือนกรกฎาคม ร.ศ.120 (พ.ศ.2444)

คุณย่าเพิ้งและพ่อหมอศุขเป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นความแตกต่างกันด้านความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมของคนชนบทและคนเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งไทยได้รับอารยธรรมและวัฒธรรมตะวันตกในยุคแรกๆ พ่อหมอศุขเป็นหมอยาแผนโบราณบ้านนอกที่มาตั้งรกรากอยู่ในบางกอกนาน จึงเข้าใจวิถีการดำเนินชีวิตในเมืองหลวงเป็นอย่างดี แต่คุณย่าเพิ้งเป็นแม่ม่ายชราชาวบุรีรัมย์ผู้ไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ เพราะในช่วงเวลานั้นความเจริญจากเมืองกรุงยังไปไม่แพร่หลายไปสู่ชนบท เมื่อสามีตายคุณย่าเพิ้งเดินทางเข้าบางกอก ตั้งใจจะไปหาพ่อหมอศุขเพื่อนเก่าลูกศิษย์ครูเดียวกันของสามี เพื่อให้ช่วยแนะนำลู่ทางที่จะทำให้เงินมรดกที่สามีทิ้งไว้ให้งอกเงยเพื่อความมั่นคงในชีวิต ก่อนที่จะไปหาพ่อหมอศุข คุณย่าเพิ้งมาพักอยู่บ้านญาติในบางกอกก่อนห้าวัน และคงได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำภาษาแบบคนกรุงบ้าง คำพูดของคุณย่าเพิ้งจึงฟังดูแปลกๆ น่าขบขัน ดังจะเห็นจากตอนได้พบพ่อหมอศุข คุณย่าเพิ้งก็เท้าความว่า “พ่อหมอจำฉันได้ไหมขอรับ ดีฉันเป็นภรรยาเมียของพ่อหมออ่ำ บ้านกระแชงย่ะ” และเมื่อพ่อหมอศุขถามว่าสามีเป็นอะไรตาย แกตอบว่า “ออกไข้หัวศีรษะขอรับ โท่ กรรมของกระผม อ้ายหนูเล็กก็กำพร้าบิดาพ่อ โฮ…” พ่อหมอศุขเป็นคนมีอัธยาศัยดีและรักเพื่อน เมื่อรู้ความประสงค์ของคุณย่าเพิ้งจึงแนะนำให้ซื้อทองคำไว้เก็งกำไรโดยจะช่วยดำเนินการให้ คุณย่าเพิ้งก็ทำตาม แต่ต่อมาด้วยความเป็นหญิงบ้านนอกยังไม่เข้าใจด้านการลงทุนแบบใหม่ๆ ของคนกรุง ทำให้คุณย่าเพิ้งผิดใจกับพ่อหมอศุข คิดว่าพ่อหมอศุขหลอกลวงและเอาเปรียบ ในที่สุดมิตรภาพของทั้งสองก็ขาดสะบั้น

ต่อมาได้มีผู้นำ “คุณย่าเพิ้ง” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบ แต่ใช้ว่า “ยายเพิ้ง” โดยให้สื่อความหมายถึงผู้หญิงที่ไม่ทันสมัย แต่เน้นไปที่ด้านบุคลิกลักษณะและการแต่งกายซึ่งเร่อร่าล้าสมัยมากกว่าด้านความคิด การกระทำ และคำพูด เช่น นุจรีสะกิดพิณแก้วให้หันไปดูสำอางเพื่อนสนิทที่กำลังเดินข้ามถนนมา พร้อมกับพูดเสียงกลั้วหัวเราะว่า “สำอางเค้าไม่เคยพัฒนาเรื่องการแต่งตัวเลยนะ ผมเผ้าเสื้อผ้าของเจ้าหล่อนดูเฉิ่มเชยเป็นยายเพิ้งเชียว เฮ้อ!”

 

นางผีเสื้อสมุทร

“นางผีเสื้อสมุทร” มีกล่าวถึงในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น พระอภัยมณี รามเกียรติ์ ฯลฯ นางผีเสื้อสมุทรในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่แม้จะไม่ใช่ตัวละครเอกแต่ก็มีบทบาทตรึงใจผู้อ่านและผู้ชมการแสดง นางอาศัยอยู่ใน “ท้องถ้ำวังวนชลสาย” และมี “สกนธ์กายโตใหญ่เท่าไอยรา” เมื่อนางตามหาพระอภัยมณีและสินสมุทรลูกชายที่หนีนางไปจนถึงเกาะแก้วพิสดาร นางผีเสื้อสมุทรด่าว่าพระโยคีที่ทั้งสองหนีไปพึ่งด้วยถ้อยคำรุนแรงว่าเป็นผู้ทรงศีลแต่ “ยื่นจมูก” เข้ามายุ่งเรื่องผัวเมียแม่ลูก พระโยคีจึงบริภาษนางว่า “อียักษาตาโตโมโหมาก รูปก็กากปากก็เปราะไม่เหมาะเหมง นมสองข้างอย่างกระโปรงดูโตงเตง ผัวของเองเขาระอาไม่น่าชม” ต่อมาเมื่อพระอภัยมณีเป่าปี่จนนางผีเสื้อสมุทรขาดใจตายก็คิดถึงความดีของนางจึงครวญว่า “ถึงรูปชั่วตัวดำแต่น้ำใจ จะหาไหนได้เหมือนเจ้าเยาวมาลย์”

สำนวน “นางผีเสื้อสมุทร” ถูกนำมาเปรียบกับผู้หญิงที่มีรูปร่างใหญ่โต หน้าตาอัปลักษณ์ และปากร้าย เช่นเมื่อนิตย์พูดกับสนธิ์ถึงสาวคนรักของศักดิ์ว่าเธอเหมือนนางผีเสื้อสมุทร ไม่รู้ว่าศักดิ์ไปหลงรักได้อย่างไร สนธิ์แย้งว่า “ถึงจะเป็นนางผีเสื้อสมุทร แต่หล่อนก็ซื่อสัตย์รักเดียวนะ ดีกว่านางโมรานางกากีเป็นไหนๆ”

—————————-

1เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้เล่าถึงที่มาของนามปากกา “เขียวหวาน” ไว้ใน “หมายเหตุเบ็ดเตล็ด” ของหนังสือพิมพ์รายเดือนลักวิทยา ฉบับเดือนพฤศจิกายน ร.ศ.119 (พ.ศ.2443) ไว้ตอนหนึ่งว่า “…ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า ธรรมดาเปลือกย่อมอยู่นอกเนื้อ ถ้าดูแต่ภายนอกก็เห็นแต่เปลือก ไม่เห็นเนื้ออยู่เองเป็นธรรมดา ต่อเมื่อพิจารณาให้พ้นเปลือกเข้าไปจึงจะเห็นเนื้อได้ ตัวข้าพเจ้าเองก็เห็นแต่เปลือกเหมือนกัน แลบอกได้ว่า “สีเขียวๆ” กับคาดคะเนว่า “ข้างในคงหวาน”…”


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง:   ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!