ฮวยน้า
ศิลปะตะกร้าลายดอกไม้จีนโบราณ
ตะกร้าไม้ไผ่สานแบบจีนโบราณซึ่งใช้กันมากในหมู่คนจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า เสี่ยหนา ‘蝦醬’ (Xiā jiàng) และคนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ฮวยน้า ‘虾油’ (Xiā yóu) นิยมแต่งแต้มเป็นลายดอกไม้สีแดง หรือผลส้ม ผลลูกท้อ ผลทับทิม อันเป็นผลไม้มงคลของจีน ตะกร้าไม้ไผ่ของจีนถือเป็นความมหัศจรรย์ของงานฝีมือและมรดกทางวัฒนธรรม มักสานด้วยมือจากตอกไม้ไผ่ แสดงถึงความชาญฉลาดของช่างฝีมือชาวจีนแบบดั้งเดิม กระบวนการทำต้องใช้เทคนิคการสานอันประณีตซึ่งสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในหลายพื้นที่ของประเทศจีน ได้รับการยกย่องในด้านความแข็งแกร่ง ความยืดหยุ่น และความยั่งยืน ช่างฝีมือจะคัดเลือกและเตรียมเส้นไม้ไผ่อย่างระมัดระวัง มักแช่ไว้เพื่อให้ยืดหยุ่น กระบวนการสานนั้นต้องใช้ทักษะและความอดทน เนื่องจากช่างฝีมือจะสร้างสรรค์ลวดลายและการออกแบบอย่างพิถีพิถัน แบบชั้นเดียว มีฝานูน หรือที่เรียกกันว่า ฝาหลังเต่า ต้องใช้ฝีมือและยากกว่าฝาแบบเรียบธรรมดา ด้านหนึ่งลงลายสีเป็นผลทับทิม อีกด้านเป็นลายดอกทับทิม ส่วนฝาลงลายผลท้อ เส้นไม้ไผ่สานหนาแต่ละเอียดและแข็งทนทาน เป็นของฝากที่มักใช้ใส่เครื่องเซ่น เช่น ขนม ผลไม้ อาหารสำหรับไหว้เจ้า หรือใส่ของไปเยี่ยมคารวะญาติผู้ใหญ่ นิยมใช้ใส่ผลไม้หรือขนมเปี๊ยะ เพื่ออวยพรในเทศกาลต่างๆ
ความงามของ ‘ฮวยน้า’ หรือ ‘ตะกร้าดอกไม้’ เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่รุ่นย่าทวด สานลายร้อยละเอียดวาดดอกไม้สวยงามอ่อนช้อยลวดลายตามแบบศิลปะจีนโบราณรอบด้าน ถือไปที่ใดล้วนแต่มีคนมองอย่างตกตะลึง
ฮวยน้า สานจากไม้ไผ่และหวาย มีทั้งแบบชั้นเดียว และแบบซ้อนกันสองชั้นถึงสามชั้น มีหูหิ้วทำเป็นห่วงกลมสำหรับสอดคานไม้หามเวลาเดินทาง และใช้หวายตกแต่งส่วนโค้งของหูเพื่อเสริมความแข็งแรง ตัวตะกร้าชั้นแรกซ้อนบนชั้นล่างคล้ายปิ่นโต ลวดลายที่นิยมวาดประดับส่วนมากเป็นลายดอกไม้มงคล เช่น ดอกโบตั๋น ดอกเบญจมาศ ดอกเหมย บางครั้งก็เขียนรูปสัตว์ ผลไม้ หรือลวดลายมงคลอื่นๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง โชคลาภ และอายุยืนยาว อีกทั้งมักใช้ในพิธีกรรมและพิธีกรรมตามประเพณี โดยเน้นย้ำความสำคัญทางวัฒนธรรมด้วย
ถึงตรุษจีนทีไร นอกจากชุดแดง ชุดกี่เพ้าแล้ว สาวๆ ยังมองหาอุปกรณ์ประกอบให้คู่กับการแต่งกายแบบสาวจีน ช่วงเทศกาลนี้ถือว่ามีความสำคัญเหมาะแก่การไปไหว้เจ้าที่ศาล ไหว้ผู้ใหญ่ หรือเยี่ยมเยือนลูกค้า ใครเห็นตะกร้านี้ต้องรู้ว่าข้างในใส่ของมงคล เช่น ส้ม และขนมแบบจีนๆ
ที่มาของการใช้ตะกร้าสานไม้ไผ่ในเมืองไทย มีบันทึกไว้จากงานเทกระจาดศาลเจ้า จังหวัดจันทบุรี โดยผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยเห็นการใช้ตะกร้าฮวยน้านี้เล่าว่า สมัยก่อนมีการเรี่ยไรเงินเพื่อมาใช้ในงานประเพณีทิ้งกระจาด หรือแสดงงิ้วประจำปี กรรมการจัดงานจะถือตะกร้านี้เดินไปตามบ้าน พอเห็นกรรมการถือฮวยน้ามาก็เป็นอันรู้กันว่าใกล้ถึงเทศกาลประจำปีแล้ว สมัยหนึ่งมักได้เห็นจนเจนตาในสังคมคนจีนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ
จากเว็บไซต์ของกรมศิลปากรพบการเผยแพร่ข้อมูลข้าวของเครื่องใช้ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อพยพมายังจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวถึงอุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘เสี่ยหนา’ หรือปิ่นโตแบบจีน ลักษณะเป็นเถาปิ่นโตที่ใส่อาหารมงคลของชาวฮกเกี้ยน ตัวตะกร้าเป็นไม้ไผ่สานลงรักสีดำ แดง ทอง และมีหูจับ ใช้สำหรับใส่อาหารมงคล ถือเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์การหมั้นซึ่งฝ่ายเจ้าบ่าวนำไปสู่ขอเจ้าสาวกันตามธรรมเนียมประเพณี
ดังได้กล่าวมาข้างต้นว่า ฮวยน้า มีความหมายตรงตัวว่า ตะกร้าดอกไม้ ลวดลายบนผิวตะกร้าจึงวาดเป็นดอกไม้มงคลสีสันสดใส ตะกร้านี้มีฝาปิด มีหูหิ้ว แข็งแรงมิดชิด จึงเหมาะสำหรับเก็บเงินและข้าวของอื่นๆ แทนกระเป๋าของคนสมัยก่อน
นอกจากนี้ตะกร้าสานไม้ไผ่ที่นิยมใช้ไม่ได้มีเพียงแบบเดียว ยังมีใบเล็กๆ อีกชนิดหนึ่งไว้ใส่อาหาร เรียก เสี่ยหนา ตะกร้ามงคล หรือปิ่นโตจีนก็ว่าได้
มีตะกร้าสานอีกอย่าง เรียกว่า ฉีน้า แม้ลงท้ายด้วย น้า เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่เป็นตะกร้าใส่เสื้อผ้า หรือของใช้ส่วนตัวเวลาเดินทางมาจากประเทศจีน ปัจจุบันไม่น่าจะมีให้เห็นกันแล้ว คนจีนสมัยก่อนเมื่ออพยพมาจะเลือกใช้ตะกร้าไม้ไผ่สานเป็นกระเป๋าเดินทางและเก็บของสำคัญ หูจับทำจากโลหะ ด้านในมีตะกร้าใบเล็กย่อยๆ ที่ถอดออกจากตัวตะกร้าใบใหญ่ได้ และมีห่วงไว้สำหรับสอดคานหามขณะเดินทาง
อนึ่ง ที่จังหวัดภูเก็ตซึ่งคนจีนส่วนมากเป็นฮกเกี้ยน พบตะกร้าเสี่ยหนา ‘蝦醬’ ซึ่งทำจากไม้สานลงรักสลักลายสีทองขลิบขอบแดง อันเป็นของหายากในปัจจุบัน ทางจังหวัดได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ไทหัว ภูเก็ต เพื่อเป็นมรดกของลูกหลานสืบไป
ขอขอบคุณ
พิพิธภัณฑ์ ไทยหัว ภูเก็ต / พิพิธภัณฑ์สถาน จังหวัดร้อยเอ็ด
คุณพรพินิจ พัฒนสุวรรณา
คุณประสาท สอนศรี คุณไพฑูรย์ ภิรมย์สุข /คณะกรรมการศาลเจ้าหัวตลาด (เถ่านั้ง)
คุณศุภวุฒิ จันทสาโร. หอเจี๊ยตึ้ง: ตำนานอาหารจีน. กรุงเทพฯ :ยิปซี กรุ๊ป, 2560.
คุณจิราพร แซ่เตียว 14 กันยายน 2561
คอลัมน์: กินแกล้มเล่า เรื่อง: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี ภาพ: อินเทอร์เน็ต