ในขณะที่ทุกคนเริ่มหายใจได้คล่องขึ้น เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดความรุนแรงลงเรื่อยๆ จนมีภาครัฐผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่างๆ ในการควบคุมการระบาด แต่ฟ้าฝนก็ไม่ค่อยเป็นใจ เหมือนกลั่นแกล้งให้มีพายุพัดเข้ามา จนหลายจังหวัดเกิดน้ำท่วมใหญ่ ซ้ำเติมความเดือดร้อนที่ได้รับกันมาจากโควิด
พอปีนี้เกิดน้ำท่วมขึ้นอีก หลายคนก็จะคิดถึงสมัยที่เกิดมหาอุทักภัย พ.ศ. 2554 ซึ่งนับว่ารุนแรงและยาวนานที่สุดครั้งหนึ่ง มีพื้นที่ประสบภัยในทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือและภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลเสียหายอย่างหนักต่อพื้นที่ทำการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนเศรษฐกิจ สังคม และภาคส่วนอื่นๆ
แต่ดูการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว คำตอบก็ตรงกันคือ ปีนี้ไม่น่าจะเกิดความเสียหายรุนแรงเหมือนเมื่อปี 2554 เพราะปริมาณฝนที่ตกลงมานั้นยังน้อยกว่าครั้งก่อนมาก และมาตามฤดูกาล (ไม่ได้ตกตั้งแต่ต้นปีแบบปี 2554) อีกทั้งพายุใหญ่ที่เข้าประเทศไทยตรงๆ ก็มีเพียงแค่หนึ่งลูก (พายุดีเปรสชันเตี้ยนหมู่) และปริมาณน้ำที่สะสมในเขื่อนหลักก็ยังมีไม่มาก
วิธีหนึ่งที่คนธรรมดาอย่างเราจะสามารถคาดการณ์สภาพภูมิอากาศแบบคร่าวๆ ได้ คือการติดตามดูข้อมูลสภาวะความร้อนที่ผิวหน้าน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เอลนีโญ (El Nino) และ ลานีญา (La Nina) ถ้าช่วงไหนมีการพยากรณ์ว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ช่วงนั้นจะเกิดภาวะแห้งแล้ง ฝนตกน้อย ภายในประเทศไทยเราได้ แต่กลับกัน ถ้าปีไหนมีพยากรณ์การเกิดลานีญา ปีนั้นก็จะเกิดภาวะฝนตกชุก มีพายุ และอาจนำมาสู่น้ำท่วมน้ำหลาก
ใน พ.ศ. 2564 นั้น เราเริ่มต้นปีจากปรากฏการณ์เอลนีโญแบบอ่อนๆ จากนั้นค่อยๆ ปรับเข้าสู่ค่ากลาง (neutral) แล้วเปลี่ยนมาเป็นลานีญาระดับอ่อนๆ ในช่วงปลายฤดูฝนแล้ว ฝนจึงเพิ่งจะตกชุกขึ้น มีค่าเฉลี่ยมากกว่าระดับค่าปกติเพียงแค่ 5-10% และเมื่อสิ้นฤดูฝนแล้ว ก็ไม่น่าจะมีพายุจากปัจจัยของปรากฏการณ์ลานีญาตามมาซ้ำเติมอีก
ก็ได้แต่ฝากความหวังไว้กับฝีมือการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะสามารถทยอยระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบเหมาะสม ไม่ให้ปริมาณของน้ำที่ปล่อยมานั้น มากเกินไป หรือเร็วเกินไป จนส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำของแต่ละจังหวัด ต้องย้ายข้าวของทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยง อพยพหลบน้ำท่วมกันให้ทันเวลา
พูดถึงเรื่องผลกระทบจากน้ำท่วม หลายคนคงจำภาพของรถยนต์ จักรยานยนต์ ฯลฯ ที่จอดทิ้งไว้ จนจมน้ำท่วมมิดคัน เป็นจำนวนมากในช่วงมหาอุทกภัยครั้งนั้น เลยต้องหาวิธีการที่จะรับมือกันไว้ล่วงหน้าก่อนที่น้ำจะไหลบ่ามาถึงบ้าน
ไอเดียบรรเจิดหนึ่งที่มีให้เห็นตั้งแต่ปี 2554 และกลับมาเผยแพร่กันใหม่อีกครั้งในรอบนี้ คือ การเอาถุงพลาสติกขนาดใหญ่ยักษ์มาหุ้มห่อรถยนต์เอาไว้ เพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำที่จะท่วมรถ เพราะถ้าปล่อยให้รถยนต์แช่น้ำทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน คงไม่พ้นจะทำอันตรายต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยนต์ เบาะรถ ฯลฯ และตัวถังรถอาจขึ้นสนิมด้วย ดังนั้น ก็เลยเอารถมาห่อถุงพลาสติกกันน้ำเข้า เก็บรถไว้ที่บ้าน สบายใจกว่าการขับไปจอดที่อื่น ที่สูงๆ แต่เสี่ยงกับรถหาย
แม้จะเป็นไอเดียที่ฟังดูดีมาก แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว การห่อรถยนต์ไว้ในถุงพลาสติกนั้นกลับมีปัญหาตามมามากกว่าที่คิด เพราะเคยมีรายงานข่าวแปลกๆ เช่น รถที่จอดห่อถุงไว้นั้น หายไปจากบริเวณบ้าน แต่ไปเจออยู่อีกที่หนึ่งห่างไปตั้งหลายร้อยเมตร
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะรถในถุงกลับลอยน้ำได้ เนื่องจากมีมวลของอากาศอยู่ในถุงด้วย เมื่อน้ำท่วมเข้ามา อากาศในถุงสามารถทำให้เกิดแรงพยุงตัว ถุงรถลอยตัวอยู่เหนือน้ำ และไหลไปตามกระแสน้ำได้ถ้าไม่จอดอยู่ในโรงรถ หรือผูกเชือกตรึงไว้เสียก่อน แต่ถึงจอดไว้ในโรงรถ ก็ยังอาจเกิดความเสียหายจากการที่รถเคลื่อนไปกระแทกผนังหรือข้าวของต่างๆ ซ้ำร้าย ถ้าถุงพลาสติกเกิดเกี่ยวโดนวัสดุที่แหลมคมจนขาด ทีนี้น้ำก็สามารถเข้าไปในถุงอย่างรวดเร็ว และทำให้รถของเราจมน้ำได้
แต่ที่หนักและน่าประหลาดใจที่สุด คือ เมื่อแกะถุงจะเอารถออกมา แล้วเจอ “เชื้อรา” ขึ้นหนาแน่นภายในรถ ไม่ว่าจะเป็นที่พวงมาลัย แผงแดชบอร์ด ผ้าและหนังหุ้มเบาะที่นั่ง ฟองน้ำในเบาะ พรมปูพื้น บุเพดาน หรือแม้แต่ตามสายไฟในห้องเครื่องยนต์ เรียกได้ว่ามีเชื้อราเต็มไปหมดหลากหลายสีสัน บางจุดเริ่มเป็นก้อนใหญ่เหมือนก้อนเห็ดก็มี และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวัสดุก็รุนแรง ต่อให้เอามาล้างฟอกทำความสะอาดก็ไม่พอ มีร่องรอยเสียหาย จนต้องยกชุดเปลี่ยนใหม่กันทั้งแผง
แล้วเชื้อราพวกนี้มาได้อย่างไร? เชื้อรานั้นมีทั้งที่ลอยอยู่ในอากาศและที่สะสมอยู่แล้วภายในรถยนต์ รอวันที่จะเจอความชื้นเหมาะสม เมื่อรถถูกห่อเอาไว้ อากาศในถุงไม่ได้ถูกระบายถ่ายเทหมุนเวียนตามปกติ ความชื้นจึงสะสมอยู่ภายในถุง แถมเนื้อวัสดุของถุงพลาสติกก็มักจะเป็นแบบหนาทึบ แสงแดดส่องเข้าไปถูกห้องโดยสารของรถได้น้อยลง กลายเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของรา จากผงสปอร์กลายเป็นเส้นใย แล้วสร้างอับสปอร์ พ่นละอองสปอร์แพร่พันธุ์เป็นวัฏจักรต่อไป ยิ่งนานวันเข้า เชื้อราก็ยิ่งเจริญเติบโตได้มากขึ้น เมื่อเปิดถุงออกมาแล้วเลยช็อคกันไปหมด
การมีเชื้อราขึ้นในรถยนต์ ไม่ได้แค่สร้างความเสียหายแก่อุปกรณ์ต่างๆ เท่านั้น แต่ยังมีผลเสียต่อสุขภาพของเราอีกด้วย ถ้าสัมผัสดวงตา หรือสูดดมหายใจเข้าไป ก็เป็นอันตรายแก่ดวงตาและระบบทางเดินหายใจได้ ซ้ำร้ายเชื้อราบางชนิดยังก่อให้เกิดมะเร็ง ดังนั้น การเอารถยนต์ไปห่อถุงพลาสติกไว้เพื่อหนีน้ำท่วม ดูจะเป็นผลเสียมากกว่าเป็นประโยชน์อย่างที่คิด
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์