งานดีขึ้นเมื่อมีปัญหา

-

ครั้งที่ สตีเวน สปิลเบิร์ก สร้างหนังเรื่องแรกของเขาคือ Jaws เขาประสบพบปัญหามากมายที่ไม่เคยคิดมาก่อน เช่น ดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ คลื่นลมแรงไป สีน้ำทะเลไม่สวย ฯลฯ และที่หนักที่สุดคือฉลามกลที่สร้างไม่เสร็จทันเวลาถ่ายทำ แต่ละวันเขาปวดหัว มีแต่ปัญหาทุกวัน

เขารู้สึกท้อถอยมาก จนไปปรึกษากับผู้กำกับรุ่นพี่

รุ่นพี่ก็สอนว่า “เจอปัญหาเป็นเรื่องปกติ ก่อนอื่นอย่าแสดงให้ใครเห็นหรือรู้ว่าเราไม่รู้ทางแก้ เพราะทำให้หมดความเชื่อถือ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ แก้ปัญหาไป”

ปัญหาเหล่านั้นทำให้เขาเรียนรู้มากกว่าคนทั่วไป และเก่งเร็วขึ้น

เขาพบว่าทุกปัญหามีทางแก้ซ่อนอยู่ในตัวมันเอง บางครั้งต้องมองต่างมุมจึงเห็น ยกตัวอย่าง เช่น ปัญหาใหญ่ที่สุดของเขาตอนนั้นคือหุ่นฉลามไม่ทำงาน เมื่อมันเข้าฉากครู่เดียวก็จม ไม่ว่ายเหมือนที่คิดไว้ ต้องส่งไปซ่อม

แล้วจะทำอย่างไร?

บางครั้งการแก้ปัญหาก็ต้องคิดนอกกรอบ

ในเมื่อฉลามไม่พร้อม ก็ถ่ายทำโดยไม่ต้องใช้ฉลาม!

เขาถูกบังคับให้ต้องคิดหาทางออกว่า จะเล่าเรื่องอย่างไรให้รู้ว่าฉลามยังอยู่ในฉาก โดยที่ไม่ต้องแสดงตัวฉลาม

ผมทำงานในวงการโฆษณานานกว่าสิบหกปี เรียนรู้เรื่องหนึ่งว่า เงินน้อย เวลาน้อย ไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างงานดี

ที่แปลกก็คือ ผมทำงานในเวลาสั้น มักได้งานดีกว่า เหตุผลก็เหมือนการทำข้อสอบไล่เข้ามหาวิทยาลัย ต้องรวบรวมสติให้อยู่กับตัว และใช้สมองเต็มอัตรานิวรอน

เมื่อรู้ว่ามีเวลาจำกัดก็จดจ่อมากขึ้น เพราะมีเดิมพันว่าอาจเสียลูกค้าได้

สตีเวน สปิลเบิร์ก ก็หาทางออกจนได้ ปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ออกมากลับดีกว่าตอนไม่มีปัญหา

หนังเรื่อง Jaws เปิดฉากโดยไม่เห็นฉลามเลย กว่าจะเห็นฉลาม ก็ปาเข้าไปครึ่งเรื่องแล้ว ในฉากเปิดเรื่อง กล้องเพียงจับที่คนผู้ถูกฉลามกิน เหยื่อดิ้นในน้ำโดยที่ไม่มีฉลาม มีแต่ดนตรีกระแทกกระทั้น แต่มันกลับสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่แรงกว่าเห็นฉลาม หนังตื่นเต้นขึ้นมากโดยไม่ต้องแสดงฉลาม

หลายฉากใช้ทุ่นลายน้ำที่ถูกฉลามลากไปโดยไม่เห็นฉลาม ทำให้ความตื่นเต้นยิ่งทวีคูณ

หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในด้านการตลาดคือเงิน แต่ในด้านศิลปะ มันพิสูจน์ว่า ปัญหาไม่ใช่ปัญหา ถ้าขบคิดมากพอ ก็สามารถแก้ปัญหา และทำให้ดีกว่าตอนที่ไม่มีปัญหาด้วยซ้ำ

 

สมมุติว่าฉลามกลเสร็จทั้วลา ว่ายน้ำได้ดังใจผู้กำกับ หนังเรื่องนี้ก็อาจลดทอนความตื่นเต้นลง

บทเรียนจากการสร้าง Jaws ทำให้สปิลเบิร์กเรียนรู้ว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ความเครียดของงาน ความตื่นเต้นว่าไม่รู้จะเจออะไรในวันถ่ายทำ ไม่ใช่เรื่องลบเสมอไป มันอาจช่วยกระตุ้นต่อมสร้างสรรค์ดีกว่าเดิม

สภาวะนี้ติดตัวสปิลเบิร์กไปตลอดชีวิต เขาบอกว่า เวลาไปกำกับหนังแต่ละซีนแต่ละเรื่อง ถ้าเขารู้สึกตื่นเต้น กลัว ไม่รู้จะเจออะไร มันก็เป็นสัญญาณที่ดี

เขาไม่เคยชอบความรู้สึกแบบนี้ แต่มันเป็นสิ่งสำคัญ ความรู้สึกว่าไม่มีอะไรแน่นอน และมีปัญหารออยู่ทำให้เขาตื่นตัวขึ้น สมองขบคิดหนักขึ้น ทำงานหนักขึ้น แต่หากหนังเรื่องไหนเขาไม่รู้สึกอะไร รู้สึกทำงานสบายๆ งานมักจะไม่ค่อยดี

ดังนั้นอุปสรรคและข้อจำกัด มองในมุมหนึ่งไม่ดี ไม่มีใครอยากเจอ แต่ในอีกมุมหนึ่งทำให้ดีขึ้น เก่งขึ้น

ปัญหาทั้งหลายในโลกเป็นเพียงเหตุการณ์หรือสภาวะที่เกิดขึ้นไปตาม cause-effect (เหตุและผล) ของชีวิตคนจำนวนมากที่มาร้อยเกี่ยวด้วยกัน เราอาจมองมันเป็นปัญหาแล้วบ่น หรืออาจมองมันเป็นแค่งานชิ้นหนึ่งที่ต้องทำ เพียงแต่มันเป็นงานที่ยากกว่าปกตินิดหน่อย

ก็เท่านั้น


คอลัมน์ ลมหายใจ

เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!