Transcendence เป็นหนังปี 2014 เรื่องของนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษา AI รับบทโดยจอห์นนี เดปป์ คิดค้นเทคโนโลยีในการอัปโหลดจิตสำนึกลงควอนตัมคอมพิวเตอร์ เมื่อเขาตายไปจึงตายแค่กายหยาบ แต่เขายังมีสำนึกรู้คิด สามารถสื่อสารและแทรกแซงสังคมทั้งหลายผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วโลก
หนังเกาหลีเรื่องใหม่ Wonderland หยิบยกแนวคิดเดียวกับในหนัง Transcendence มาทำเป็นหนังดราม่าเรียกน้ำตา เมื่อในอนาคตมีบริษัทที่สามารถให้ผู้ป่วยใกล้ตายสามารถอัปโหลดจิตสำนึกเข้าไปอยู่ในระบบโลกเสมือน แม้จะสูญเสียกายหยาบไปแต่ยังสามารถมีชีวิตและใช้ชีวิต (ในโลกเสมือน) ได้ อีกทั้งมีปฏิสัมพันธ์กับคนมีชีวิตผ่านหน้าจอแบบวิดีโอคอล
แต่ต่างจาก Transcendence คือจิตในโลกเสมือนจะไม่รู้ว่าตัวเองตายไปแล้ว และ Wonderland ยังเป็นธุรกิจรูปแบบหนึ่งของบริษัทเอกชน ซึ่งญาติหรือคนรักสามารถสั่งซื้อเสื้อผ้าข้าวของให้แก่ผู้ตายเพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (คล้ายเช็งเม้งแต่เป็นเช็งเม้งในแบบที่ครอบครัวได้เห็นผู้ตายสวมใส่หรือใช้ของที่ส่งไป) ก่อนจากไปผู้ตายสามารถเลือกรูปแบบชีวิตให้มีอาชีพอะไรหรืออยู่ที่ไหนก็ได้
จึงอาจตีความได้ว่านี่คือเรื่องราวของวิญญาณฉบับ AI แต่เป็นวิญญาณในนิยามของวิทยาศาสตร์ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่เพราะยังมี ‘พันธะหรือห่วง’ ระหว่างผู้ตายกับคนที่ยังรัก ในทางกลับกันก็เป็นพันธะทางใจจากผู้มีชีวิตที่ยังไม่อาจปล่อยวางเมื่ออีกฝ่ายจากไป
ไป๋หลี่ คุณแม่ซึ่งแทบไม่มีเวลาให้ลูก จู่ๆ ก็ป่วยเป็นโรคร้ายใกล้ตายจนหมดโอกาสแก้ตัวในการเลี้ยงลูก จึงเลือก Wonderland โดยหวังว่าลูกของเธอจะมีแม่ที่เอาใจใส่มากกว่าเมื่อครั้งเธอยังมีชีวิต
จองอิน หญิงสาวซึ่งแฟนของเธออยู่ในภาวะโคม่า เขาจึงถูกส่งต่อไปมีชีวิตเป็นนักบินอวกาศใน Wonderland และเมื่อวิดีโอคอลคุยกันก็เหมือนคนเดิมทุกอย่าง คอยใส่ใจและห่วงใยเธอแม้เรื่องเล็กน้อย ใบหน้ามีรอยยิ้มเสมอขณะสนทนา ฯลฯ
ผู้คนที่เข้าร่วมกับ Wonderland ต่างก็ยังสามารถเก็บเกี่ยวความสุขแม้ต้องจากคนรักมาแล้ว แต่หนังกลับนำเสนอประเด็นเดิมๆ ไม่ต่างกับหนังเรื่องอื่นที่พูดถึงประเด็นทางจิตวิทยาจากการสูญเสีย คือกระบวนการของ ‘การไม่ปล่อยวาง’ และการปฏิเสธความจริง (denial) เป็นการนำเสนอให้เห็นภาพของเหรียญสองด้าน
ในด้านบวกคือยังสามารถประคองความสัมพันธ์ต่อไปแม้มีความตายมาพราก เสมือนว่าอีกฝ่ายยังไม่ตาย แต่นั่นก็คือการไม่ยอมรับความจริงว่าอีกฝ่ายได้ตายจากไปแล้ว (หรือกำลังอยู่ในสภาวะโคม่า) และถือเป็นการโกหกรูปแบบหนึ่ง
ในด้านลบคือเมื่อความจริงย้อนมาเล่นงานให้ต้อง ‘ยอมรับเรื่องความตาย’ เช่น ลูกของไป๋หลี่อยากไปเจอแม่บังเกิดเกล้าตัวเป็นๆ เพราะไม่รู้ว่าแม่ตายแล้ว ไม่รู้ว่าคนที่วิดีโอคอลคุยทุกวันคือ AI แม่ในโลกเสมือน แล้วเริ่มแสดงพฤติกรรมงอแงต่อต้านคนในบ้านด้วยความไม่เข้าใจว่าทำไมเธอถึงไม่ได้เจอแม่
หรือกรณีจองอิน ความจริงก็ย้อนมาเล่นงานให้ต้อง ‘ยอมรับเรื่องการเปลี่ยนแปลง’ ขณะที่เธอกำลังใช้ชีวิตปกติสุขกับแฟนเวอร์ชันนักบินอวกาศผู้เป็น AI แล้วแฟนตัวจริงผู้อยู่ในภาวะโคม่ากลับฟื้นขึ้นมา แต่หลังฟื้นเขาไม่เหมือนคนเดิม ไม่ร่าเริงสดใส ไม่เอาใจใส่ดูแล แถมยังมีพฤติกรรมแปรปรวนเนื่องด้วยอาการเจ็บป่วย จองอินจึงสับสนและต้องเลือกว่าจะมีชีวิตคู่กับแฟนเวอร์ชัน AI หรือจะปรับตัวแล้วยอมรับว่าแฟนตัวจริง เปลี่ยนไปและต้องเริ่มต้นความสัมพันธ์กันใหม่
ยังมีความสัมพันธ์ของยายที่ติดต่อพูดคุยกับหลานใน Wonderland ซึ่งหลานเวอร์ชัน AI ก็เติบโตไปตามลักษณะนิสัยของตัวเองตั้งแต่ก่อนตาย เพียงแต่ในเวอร์ชัน AI เมื่อหลานกลายเป็นนักศึกษาในลอนดอน (แต่ในชีวิตจริงทั้งยายและหลานยากจน) ก็เริ่มเรียกร้องค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยขึ้น ยายจึงต้องทำงานหนักกว่าเดิมเพื่อซื้อของในช้อปของ Wonderland ไปให้หลานมีความสุข ทั้งๆ ที่หลานของเธอไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้วและหลานใน AI ก็ไม่ได้รับรู้ความจริงข้อนี้
Wonderland อาจไม่ได้ให้บทสรุปที่แตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ อันว่าด้วยความตายกับการปล่อยวาง แต่หนังก็ดีและสนุกตามแบบฉบับเมโลดราม่าเกาหลี มีงานสร้างที่ดูหรู และที่ชวนเพลิดเพลินอย่างยิ่งคือการแสดงของถังเหว่ยก็ยังโดดเด่นมีมาตรฐานสูงเหมือนทุกเรื่องที่เธอเล่น แต่น่าเสียดายที่พล็อตหนังควรสอดแทรกประเด็นอื่นเกี่ยวกับ AI กับความตายได้มากกว่านี้ เช่น มุมมองด้านธุรกิจและคนทำงานของ Wonderland ฯลฯ แถมหนังก็เสียเวลาอย่างไม่คุ้มค่ากับบางประเด็น เช่นแอร์ไทม์ช่วงมีกงยูมาเล่นบทรับเชิญ
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com)
ภาพ: อินเทอร์เน็ต