ลมพัดมิรู้ล่วงหน้า สารคดีชีวิตสามัญชนคนโรงสี

-

ลมพัดมิรู้ล่วงหน้า จารึกโรงสี ลูกจีนโพ้นทะเล เป็นสารคดีที่บอกเล่าชีวิตของคุณพ่อคุณแม่ผู้เขียน สุกัญญา หาญตระกูล ซึ่งเป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล ประกอบอาชีพเจ้าของโรงสีข้าวในจังหวัดพะเยา หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงฉายภาพชีวิตของคนสองคนที่เริ่มปลูกต้นรัก ก่อร้างสร้างตัว สร้างครอบครัว สร้างอาชีพ แต่ยังสะท้อนปัญหาและอุปสรรคของคนทำโรงสีข้าวในยุคอนาล็อค อีกทั้งสอดแทรกประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องราวจักรวรรดินิยมต่างชาติที่บีบสยามเพื่อค้าข้าวและสัมปทานป่าไม้ การกีดกันคนจีนในรัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตลอดจนนโยบายข้าวของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายจำนำข้าวซึ่งส่งผลเสียหายแก่วัฒนธรรมข้าวระดับท้องถิ่น แม้จะถึงพร้อมด้วยข้อมูลทั้งการสืบค้นเอกสาร การลงพื้นที่สัมภาษณ์จริง แต่ด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ทำให้สารคดีเล่มนี้อ่านเพลิน เห็นภาพตาม และอินไปกับวิถีชีวิตคนโรงสี คณะกรรมการจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้งานเขียนอันทรงคุณค่าเล่มนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 หนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2564 ประเภทสารคดี

 

 

เส้นทางการอ่านหนังสือของคุณสุกัญญาเริ่มต้นตั้งแต่ตอนไหน

จำได้เสมอความรู้สึกตื่นเต้นดีใจซาบซ่านในกายวินาทีที่รู้ตัวว่าอ่านหนังสือออก  วินาทีนั้นคือสามารถอ่านบทอาขยานชั้น ป.4 จากรามเกียรติ์ ที่กล่าวว่า “บัดนั้น พระยาพิเภกยักษี เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี อสุรีกราบลงกับบาทา ทูลว่าพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ ยังไม่ปลงชีวังสังขาร์ อันโมกขศักดิ์หอกอสุรา…” ได้คล่อง รู้ความชัดเจน เห็นเป็นฉากๆ เหมือนกำลังดูภาพยนตร์ เป็นความรู้สึกมหัศจรรย์ของการอ่านหนังสือออก ยิ่งชีวิตเด็กต่างจังหวัดช่วง พ.ศ. 2500 นั้นไม่มีสิ่งบันเทิงเริงใจนัก หนังสือจึงเป็นสิ่งบันเทิงที่สำคัญ พออ่านหนังสือได้จึงเริ่มหาหนังสืออ่านทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ห้องสมุดประชาชน  อ่านหมดเป็นตู้ๆ เลยค่ะ  ยอมเก็บค่าขนมเพื่อไปเช่าหนังสือการ์ตูนมาอ่าน  และเป็นโชคดีที่แม่ก็ชอบอ่านหนังสือมาก แม่เป็นนักอ่านตัวยง จะสั่งซื้อหนังสือจากจังหวัดเชียงใหม่ เพราะที่พะเยาไม่มีร้านหนังสือเป็นกิจจะลักษณะ และรับหนังสือพิมพ์ทั้งของส่วนกลางและท้องถิ่น รวมถึงนิตยสาร  เช่น ศรีสัปดาห์ เดลิเมล์วันจันทร์ อีกทั้งยังเป็นสมาชิกนิตยสารชัยพฤกษ์ รับทางไปรษณีย์ให้เราลูกสามคนได้อ่านสม่ำเสมอตลอดวัยเยาว์

มีนักเขียนหรือหนังสือเล่มไหนที่ชอบเป็นพิเศษ

ยากจะตอบเพราะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ  ตามช่วงวัย จริงๆ แล้วหนังสือทุกเล่มให้แรงกระตุ้น แรงบันดาลใจ จนเกิดความรู้สึกอยากทำได้อย่างนี้บ้าง  คิดว่านักอ่านทุกคนมีเชื้อไฟของการอยากเขียนอยู่ในตัว  อยากเขียนหนังสือดีๆ สักเล่มในชีวิต การอ่านเปรียบเสมือนการค้นหาตัวเอง เล่มไหนตรงไหนที่ถูกใจเราก็เหมือนการได้ค้นพบตัวเอง บางเล่มเจอตัวเองเข้ามากๆ ก็ย่อมถูกใจเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหนังสือเข้าถึงสิ่งที่เราพูดออกมาไม่เป็น เขียนออกมาไม่ได้    แต่เรารู้สึกอาจเฉียดๆ ฉิวๆ ยังไม่ชัด ก็ยิ่งตื่นเต้นเป็นที่สุดที่มีคนเขียนออกมาให้อ่าน  แต่ก็พอตอบได้ค่ะว่าหนังสือที่ให้แรงบันดาลใจมากที่สุด คือ นวนิยายและกวีนิพนธ์ จริงๆแล้ว อ่านสารคดีค่อนข้างน้อย อาจเป็นเพราะหนังสือสารคดีภาษาไทยมีให้อ่านไม่มากนักก็เป็นได้

เริ่มต้นเขียนได้อย่างไร และผลงานเขียนที่ผ่านมามีอะไรบ้าง

ตั้งแต่ป.4ที่ตื่นเต้นดีใจรู้ว่าการอ่านหนังสือออกช่างสนุกวิเศษปานใด ก็ชอบเขียนเรียงความและบทกลอนส่งให้ครูอ่าน  เวลาเขียนเรียงความร้อยแก้ว  จะนึกถึงความสวยงาม ความไพเราะของร้อยกรองเสมอ ดีใจทุกครั้งเวลาได้คะแนนเรียงความดี จนได้ไปอ่านหน้าชั้น และเริ่มส่งงานเขียน เช่น เรื่องแต่ง  บทความเล็กๆ เชิงความคิดเห็น และสารคดีไป ชัยพฤกษ์  ตั้งแต่ชั้นประถมปลาย พอขึ้นชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คุณครูภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่สอนเก่งมาก จึงฝึกเขียนส่งครูเป็นการใหญ่ ต่อมาเมื่อเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เขียนเรื่องสั้นในชั้นเรียน อาจารย์นววรรณ พันธุเมธา อาจารย์ภาษาไทยของกลุ่มแนะให้ส่งและได้ตีพิมพ์ในนิตยสารของชมรมวรรณศิลป์  จากนั้นก็มีกลุ่มอื่นๆ มาขอข้อเขียนไปตีพิมพ์ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอื่น เช่น รามคำแหง

ต่อมาเริ่มส่งเรื่องสั้นและได้ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์  มีบทวิจารณ์หนังสือในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีสุดท้ายก่อนจบมหา’ลัย  ได้รับรางวัลพลับพลามาลี ของ รัตนะ ยาวะประภาษ ในการประกวดเรื่องสั้น ส่วนเรื่องสั้นภาษาอังกฤษ The Duck Eggs ก็ได้รับการคัดเลือกลำดับที่ 39 ใน 50 เรื่องที่ชนะการประกวดเรื่องสั้นของนิตยสารAsiaweek และได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์Bangkok Post  ต่อมาทำงานบรรณาธิการร่วมที่นิตยสารสตรีสาร เป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และมีงานเขียน เช่น ปัญญาแห่งยุคสมัย คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง

 

 

หนังสือ ลมพัดมิรู้ล่วงหน้า เกิดขึ้นได้อย่างไร

เริ่มมาจากความรู้สึกคิดถึงพ่อแม่ที่จากเราไปไล่เลี่ยกันภายในสองปี  เป็นความรู้สึกที่แล่นอยู่ในกาย ใจ สมอง จนท่วมท้น ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างของพ่อแม่ที่เราไม่เคยใส่ใจ เช่น ซองจดหมายจ่าหน้าลายมือแม่ ซึ่งจะไม่มีส่งมาอีกแล้ว  ผ้าเช็ดหน้า หม้อเคลือบชุดเล็กๆ พวงกุญแจประจำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งซากปรักหักพังของโรงสีและบ้านที่พะเยา มีแต่ทำให้ความรู้สึกเพิ่มพูนแน่นอกขึ้น และพบว่าการเขียนช่วยบรรเทาความรู้สึกที่เอ่อล้นลงไปได้บ้าง จึงเขียนต่อเรื่อยๆ เป็นชิ้นๆ ตามความรู้สึกและที่ได้จากการค้นคว้าเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพบกรุภาพถ่ายขาวดำของครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายฝีมือพ่อผู้รักการถ่ายภาพถึงขั้นอยากทำเป็นอาชีพ ส่วนแม่ก็เป็นผู้ช่วยและเขียนบันทึกด้านหลังภาพว่าที่ไหน  ปีพ.ศ.อะไร ทำไปทำมาก็เขียนเป็น ได้เยอะเหมือนกัน แต่ยังไม่ค่อยต่อเนื่องเป็นเรื่องนัก

จนกระทั่งวันที่ได้คุณอามาอ่านลายมือตัวอักษรจีนราว 500 กว่าตัวที่พ่อเขียนไว้บนกำแพงโรงสี วันนั้นร้องไห้หนักมากและรู้แล้วว่าต้องเขียนเป็นเล่มให้ได้ หนังสือเล่มนี้จึงเริ่มจากกลางซากปรักหักพังและความเงียบความว่างเปล่าของพื้นที่ ซึ่งเราต้องเขียนชุบชีวิตให้ทุกอย่างคืนชีพใหม่ตรงหน้าเราเหมือนที่เคยเห็น รวมทั้งที่ไม่เคยเห็นและเพิ่งมารู้ เราเองเขียนหนังสือได้ จึงรู้ดีถึงพลังมหัศจรรย์ของภาษา ซึ่งเราจะใช้เนรมิตให้ได้ภาพและความหมายที่เราได้สัมผัส  จึงบอกกับตัวเองว่า แม้จะต้องเขียนกี่คำ กี่ประโยค กี่ย่อหน้า กี่บท กี่ภาค ก็จะไม่ย่อท้อ

เพราะเหตุใดเล่มนี้จึงใช้เวลาเขียนนานถึง 6 ปี

ที่จริงนานกว่านั้นอีกค่ะ ที่นานมากเพราะยังไม่เคยเขียนสารคดีชีวประวัติยาวเป็นเล่ม เคยเขียนแต่บทสัมภาษณ์ชิ้นเล็กๆ จึงเป็นการเริ่มหัดเขียนเรื่องเล่า ( narrative ) แบบใหม่ทั้งหมด ต้องคลำทางทดลองการเขียน การเรียบเรียงแบบต่างๆ มากมาย สรุปว่าที่ใช้เวลานานนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการหาข้อมูลแม้จะมีทั้งประสบการณ์จริง แต่ก็ต้องค้นคว้าข้อมูลเชิงลึกจากหลักฐานทางเอกสาร  การลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ที่พะเยา งาว แพร่ และเกาะไหหลำ และอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ใช้เวลานานคือ วิธีเขียนที่เป็นแนวเขียนสร้างสรรค์แบบเรื่องแต่ง (creative writing) ต้องวางพล็อตดำเนินเรื่อง เกิดการรื้อเขียนใหม่หลายครั้งเพื่อให้ได้รสทางวรรณกรรมพร้อมๆ กับข้อมูลเชิงสารคดี ก็ซาบซึ้งใจค่ะที่มีเสียงจากผู้อ่านว่าบางตอนทำให้เขาน้ำตาไหล

มีวิธีการสืบค้นหรือเกณฑ์คัดเลือกข้อมูลมาใส่ในผลงานอย่างไร

อย่างแรกคือทำงานเหมือนเป็นนักวิชาการทำวิทยานิพนธ์เลยค่ะ ทั้งสำรวจและอ่านเอกสารชั้นต้นชั้นรอง ส่วนใหญ่อ่านหนังสือภาษาต่างประเทศเพราะข้อมูลนั้นๆ หาไม่เจอในภาษาไทย ในส่วนที่เป็นความทรงจำทั้งของตัวเราเองและครอบครัว ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องล้วนอายุมากกันแล้ว ทั้งนี้ต้องตรวจสอบเทียบเคียงกับแหล่งข้อมูลหลายด้านเพราะความทรงจำเลื่อนไหลผิดพลาดได้ง่าย ต่อให้การสัมภาษณ์ตัวบุคคลลำบากเท่าไรก็ต้องทำ การลงพื้นที่จึงสำคัญมาก

 

 

ทำไมถึงเลือกนำเสนอแนวสารคดีชีวประวัติและสอดแทรกประวัติศาสตร์ด้วย

พ่อแม่เป็นสามัญชนคนธรรมดา ไม่ได้เป็นที่รู้จักพอให้คนทั่วไปมาสนใจ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่านวนิยายทั่วไปก็เป็นเรื่องชีวิตความรักความผิดหวังของคนธรรมดาสามัญเกือบทั้งนั้น แต่ทำไมจึงอ่านสนุกน่าติดตาม ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับวิธีการเขียนการผูกเรื่องมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างข้อขัดแย้งจะคลี่คลายอย่างไร (suspense) แบบนิยาย

สำหรับเรื่องราวชีวิตพ่อแม่ในการค้าข้าวเปลือกข้าวสาร เราเป็นลูกก็มีต้นทุนมีประสบการณ์ตรงรู้เรื่องอยู่แล้ว แม้จะไม่สมบูรณ์  พออ่านข้อมูลบริบททางประวัติศาสตร์มากๆ เข้าก็เชื่อมจุดต่างๆ เข้าด้วยกันได้  เช่น ความอร่อยของข้าวแต่ละชนิด ชีวิตเจ้าของโรงสี ศาสตร์และศิลป์ในการรักษาเมล็ดข้าวเปลือกไว้ได้เป็นปีหลังจากพ้นมือชาวนา   ความเป็นไปของชีวิตข้าวเปลือกข้าวสารกว่าจะมาเป็นข้าวสุกในจานให้เรากิน  นโยบายข้าวของแต่ละรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหายนะระดับท้องถิ่นทางวัฒนธรรมข้าวจากนโยบายจำนำข้าว  รวมทั้งผลกระทบจากนโยบายกีดกันคนจีนในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อได้อ่านได้รู้แล้ว รู้สึกตาสว่างทั้งในฐานะลูกหลานและพลเมือง จึงคิดว่าน่าสนใจสำหรับคนอื่นด้วย  ถึงได้ตั้งใจนำเรื่องเหล่านี้มาบันทึกสอดใส่ไว้

ชื่อหนังสือ ลมพัดมิรู้ล่วงหน้า มีที่มาอย่างไร

มาจากวรรคสุดท้ายของบทกวีภาษาจีนที่พ่อแต่งและเขียนไว้บนกำแพงโรงสี มีความหมายว่า ลมเป็นสิ่งที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ ไม่บอกล่วงหน้าว่าจะพัดพาเป็นลมเล็กลมใหญ่ไปทางไหน รวมทั้งลมหายใจด้วย ความหมายนี้จะกระทบกับวรรคก่อนหน้า กล่าวถึงชีวิตเจ้าของโรงสีในทำนอง แม้วางแผนตั้งแต่เช้าว่าจะทำอะไรบ้าง แต่ก็อาจเกิดสิ่งที่ไม่สามารถรู้ล่วงหน้า น่าจะเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของจีน ความพิเศษอยู่ตรงที่แต่ละคนจะนำมาใช้ในบริบทของตนอย่างไร สำหรับชื่อเรื่องขอให้เกียรติพ่อผู้แต่งบทกวีและบรรณาธิการ คุณสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ ผู้มีตาแหลมคมเสนอใช้ชื่อนี้แทนชื่อที่ผู้แต่งเสนอ คือ เมล็ดข้าว เมล็ดคำ

ความยากในการเขียนหนังสือเล่มนี้คืออะไร

คือวิธีเรียบเรียงข้อมูลหลายเนื้อหาสาระ ให้เข้ามาอยู่ในชีวิตของคนสองคนคือพ่อกับแม่ ในฐานะเจ้าของโรงสีค้าข้าวเปลือกข้าวสาร แกนหลักของเรื่องคือชีวิตรักและชีวิตผู้ค้าข้าวเปลือกข้าวสารของพ่อกับแม่ และมีเนื้อหาสาระอื่นเป็นรองเข้ามาผสมผสาน  ซึ่งทั้งหมดต้องลงลึกในรายละเอียด มีความถูกต้องชัดเจน เช่น การอพยพย้ายถิ่นฐานของพ่อกับแม่ เรื่องราวจีนโพ้นทะเลในสยามโดยเน้นจีนไหหลำ จักรวรรดินิยมต่างชาติที่บีบสยามเพื่อค้าข้าวและสัมปทานป่าไม้ ฯลฯ นอกจากการเขียนยังมีเรื่องภาพประกอบ โชคดีที่พ่อเล่นกล้องรักการถ่ายภาพ จึงพอมีภาพของยุคสมัยนั้นให้เลือกใช้ อีกทั้งได้ภาพเขียนสีน้ำหน้าคู่เสนอภาพเส้นทางชีวิตพ่อแม่และภาพชีวิตโรงสี  ฝีมือของ ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล สร้างชีวิตชีวาให้เรื่องราวในอดีตได้อย่างสวยงาม

 

 

ความประทับใจที่ได้จากการเขียนผลงานนี้

ตลอดเวลาที่เขียนรู้สึกเหมือนเห็นพ่อแม่มีชีวิตต่อหน้าอีกครั้ง ได้เข้าใจพ่อแม่มากขึ้นกว่าสมัยยังมีชีวิตอยู่เสียอีก และเสียดายนักหนาที่น่าจะได้รู้มาก่อนหน้านี้ ประการต่อมาคือได้รู้จักมิตรทั้งใกล้และไกลอย่างลึกซึ้ง การเขียนหนังสือเล่มนี้ทำให้ได้สืบสายวงศ์วานกันชัดเจนในหมู่เครือญาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรุ่นที่ห้าที่หก ถ้าแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น จีน   อังกฤษ วงศ์วานว่านเครือที่เกาะไหหลำก็คงจะดีใจอ่านรู้เรื่อง นอกจากนี้ดีใจมากที่หนังสือทำให้ผู้อ่านหลายคนอยากบันทึกประวัติของตนและครอบครัวไว้ อยากบอกถึงทุกคนว่าเรื่องราวประวัติชีวิตครอบครัวสามัญชนถ้าในรุ่นที่สองหรือที่สามไม่ทำขึ้น รุ่นที่สี่หรือห้าจะยิ่งยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่มีคนถ่ายทอดความทรงจำให้ ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับตัวตนอัตลักษณ์มีความสำคัญ  ชีวิตแต่ละคนและครอบครัวไม่ว่าเป็นใครมาจากไหน กว่าจะมีขึ้นตั้งอยู่ดับไปและส่งไม้ต่อได้มีความหมายและมีค่ามากค่ะ

สารที่อยากสื่อผ่านผลงานชิ้นนี้มีอะไรบ้าง

ตั้งใจเต็มที่ว่าจะเสนอให้ทั้งอารมณ์ความรู้สึกและเนื้อหาสาระข้อมูลหลายด้าน ชอบมากค่ะที่เพื่อนอักษรศาสตร์คนหนึ่ง เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย พูดสั้นๆ ว่าหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อคารวะขอบคุณพ่อแม่ บรรพบุรุษ และชุมชนที่โอบอุ้มเขามา

ความรู้สึกต่อผลงานชิ้นนี้ของคุณ

เป็นงานเขียนซึ่งยาวที่สุดในชีวิต  หากเขียนก่อนหน้านี้ก็คงเป็นไปไม่ได้ หนังสือเล่มนี้จึงเหมือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นเงื่อนไขกำหนดให้มีการเขียนแบบนี้ในช่วงวัยนี้ ที่ผ่านมาในใจอยากจะเขียนหนังสือดีๆ สักเล่มหนึ่งในชีวิต แต่ก็ไม่รู้ค่ะว่าจะใช่เล่มนี้หรือเปล่า เพราะยังอยากเขียนหนังสือต่อไปอีก

ความรู้สึกต่อรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด

ดีใจมากค่ะ  รู้สึกเป็นเกียรติที่คณะกรรมการตัดสินมองเห็นและให้คุณค่า “…สารคดีชีวประวัติของสามัญชนที่ละเอียดและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์…” คำนิยมของคณะกรรมการตัดสินเป็นการประเมินให้คุณค่าอย่างหนึ่งค่ะ ซึ่งมีคุณูปการแก่วงการหนังสือบ้านเราที่วัฒนธรรมการอ่านการเขียน การวิจารณ์ การพิมพ์และการเผยแพร่ ยังต้องการความสนับสนุนและแรงกระตุ้นอยู่อีกมาก

ผลงานที่จะมีออกมาในอนาคตหรือแนวเรื่องที่อยากเขียนในลำดับถัดไป

อยากทดลองเขียนนวนิยายค่ะ พอจะมีพล็อตเรื่องอยู่ น่าจะสั้นกว่า ลมพัดมิรู้ล่วงหน้า เพราะขณะนี้เรี่ยวแรงน้อยลงไปเรื่อยๆ ไม่มีกำลังสู้เหมือนเมื่อก่อน

การเขียนให้อะไรแก่คุณบ้าง

อย่างเล่มนี้พอเริ่มเขียนก็บรรเทาความคิดถึงความรู้สึกล้นแน่นในกายให้ลดลงจนสบายตัวขึ้นทันที  จากนั้นก็มีแต่ให้ ไม่ว่าจะเป็นการลงมือค้นคว้า การสัมภาษณ์พบผู้คนเก็บข้อมูลลงพื้นที่ ได้กระชับมิตรเดิมและพบมิตรใหม่ ได้พบบรรณาธิการซึ่งทำงานดีมากทั้งที่ไม่เคยรู้จักกัน ได้รู้จักการทำงานของสำนักพิมพ์ที่ดี   ได้รับการประจักษ์ในคุณค่าจากคณะกรรมการตัดสินให้รางวัลถึงสองรางวัล  อย่างไรก็ตามโดยตัวของมันเอง หนังสือก็จะเป็นสิ่งที่มันเป็นต่อไป คือให้แก่ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านในสิ่งที่จับต้องไม่ได้  มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

 

 

3 เล่มในดวงใจของ สุกัญญา หาญตระกูล

  • สมุดกาพย์พระไชยสุริยา (จตุรพากย์) ฉบับพิมพ์สี่ภาษา ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน

เขียนโดย: สุนทรภู่

คำนำคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ในหนังสือเล่มนี้มีว่า “นิทานคำกาพย์เรื่องพระไชยสุริยานี้  นอกจากเป็นสื่อในการสอนภาษาไทยแล้ว  ยังเป็นสื่อที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับศีลธรรมอีกด้วย  ช่วยให้เด็ก ๆได้รู้จักบาปบุญคุณโทษเท่าที่เด็กพอจะรับได้  แนวคิดสำคัญที่ท่านสุนทรภู่ฝากไว้ในเรื่องคือ  บ้านเมืองจะล่มจมถ้าคนในสังคมขาดศีลธรรมซึ่งยังเป็นแนวคิดที่ทันสมัยอยู่เสมอ…”

  • คลังคำ

เขียนโดย: ดร.นววรรณ  พันธุเมธา

เป็นหนังสือที่รวมคำและสำนวนในภาษาไทยตามหมวดหมู่ความหมาย  ต่างจากพจนานุกรมที่จัดเรียงคำตามลำดับตัวอักษร  ประโยชน์สำคัญคือชุดคำเดียวกันจะอยู่ใกล้ๆ กัน  หากนึกถึงคำหนึ่งได้แล้ว  แต่ยังไม่เหมาะใจ  เปิดหาในคลังคำก็จะพบคำอื่นๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงและอาจเหมาะสมกว่า  คลังคำจึงเป็นคู่มือการใช้คำที่มีประโยชน์มาก น่าคารวะชื่นชมอย่างยิ่ง

  • A la Recherche du Temps Perdu (อา ลา เรอแชร์ช ดูย์ ตอง แปร์ดู)

เขียนโดย: Marcel Proust (มาร์แซ็ล พรุสต์)

วรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลกเล่มนี้กว่าจะเดินทางเข้ามาอยู่ในดวงใจได้ต้องใช้เวลากว่า 30 ปี คือตอนเรียนไม่เข้าใจดีนัก จนเข้าสู่วัยเกษียณ เริ่มนึกถึงเวลาในอดีต จึงกลับไปอ่านอีกครั้ง  มั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้จะอยู่ในดวงใจไปอีกนาน เพราะลงรายละเอียดความทรงจำ ความรู้สึกนึกคิดอย่างลึกซึ้งในมิติของเวลา


คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม

เรื่อง: ภิญญ์สินี

ภาพ: ลำธาร หาญตระกูล

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!