งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) ซึ่งมุ่งหาความสัมพันธ์ระหว่างการมีเป้าหมายแน่นอนในชีวิตกับการมีอายุยืน พบว่าคนที่มีเป้าหมายแน่นอนในชีวิตมีอายุยืนกว่าคนใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย งานวิจัยอีกหลายชิ้นล้วนให้ข้อสรุปสอดคล้องกันว่า การมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่ามีชีวิตอยู่ไปทำไมสัมพันธ์กับการลดจุดจบที่เลวร้ายของโรคเรื้อรังและการมีความยืนยาวของชีวิต ดังนั้นหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนการมีเป้าหมายชีวิตต่อการมีสุขภาพดีมีอายุยืนนั้นจึงแน่ชัดแล้ว
คำว่า “เป้าหมาย” นี้นิยามแบบบ้านๆได้ด้วยคำสองคำ คือ “แสวงหา” และ “ให้” คือหาอะไร แล้วเอาไปให้ใคร การมีเป้าหมายก็คือการตอบคำถามตัวเองได้ว่าวันนี้ตื่นมาทำไม เราต้องมีเป้าหมายชีวิต เพราะ (1) มันจะให้พลังงานขับเคลื่อนชีวิตเรา (2) มันจะทำให้เราเป็นแมวเก้าชีวิตที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคของความชราแบบล้มแล้วลุก ล้มแล้วลุก ได้โดยไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงอะไร (3) มันจะทำให้เรา “เติบโตสู่วัยชรา” และชีวิตของเราจากครรภ์มารดาถึงสุสานก็จะดำเนินไปอย่างสมบูรณ์เต็มศักยภาพที่เรามี ผมเรียกว่าเป็น purposeful aging ไม่ใช่แค่ชราเพราะแดดเพราะลม (default aging)
เป้าหมายชีวิตไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปหาจากข้างนอก แต่เป็นการเปิดเผยตัวตนภายในของเราออกมา มันคือสิ่งที่เรารักชอบอยากทำ (passion) และสิ่งที่ใจเราให้ค่า (value) มีคำสำคัญอยู่สองคำนะคือ passion กับ value คุณใช้แค่สองคำนี้ก็พอในการค้นหาเป้าหมายชีวิต
ผมนิยามชีวิตที่ดีไว้ดังนี้
(1) การได้อยู่ในที่ที่คุณอยากอยู่ (2) กับผู้คนที่คุณรัก (3) ได้ทำสิ่งที่คุณอยากทำ
ดังนั้นเพื่อให้เป้าหมายชีวิตที่เด่นชัดแล้วนี้ผลักดันให้ชีวิตเราเป็นสุขได้จริง จึงจำเป็นต้อง
(1) ปลุกพลังชีวิตหรือพลังใจให้คุโชนไว้
(2) ฟูมฟักรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบตัวให้ดี
(3) นอนให้หลับ
(4) วางความคิดลบให้ได้
(5) ใช้ชีวิตแบบแอ็กทีฟขยันขันแข็ง
(6) ใส่ใจส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
(7) ทำทุกอย่างเพื่อปลุกความสุขในตัวให้ตื่นขึ้น
คอลัมน์: สุขภาพ เรื่อง: นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์