“ตอนผมพิการใหม่ๆ ชีวิตมืดมนมองไม่เห็นแสงสว่างเลย ชั่ววูบหนึ่งเคยคิดอยากไปเกิดใหม่ เพราะมืดหมดทุกทาง แต่ไม่มีใครรู้ว่าการเกิดใหม่มีจริงไหม ก็ตัดสินใจว่าใช้สองมือที่มีอยู่เนี่ยแหละ ลองสู้ชีวิตดูสักครั้ง” คุณวรยุทธ กิจกูล ผู้ก่อตั้งสยามนิชชิน บริษัทผลิตรถเข็นเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ เป็นบริษัทแรกของไทยที่จ้างคนพิการทำงานเกินร้อยละ 60 ด้วยความมุ่งมั่นอยากเป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ให้คนพิการได้มีโอกาสทำงาน
“ผมตั้งใจให้เป็นบริษัทเพื่อสังคม กำไรส่วนหนึ่งจะคืนสู่สังคมในรูปแบบต่างๆ พวกเขาได้มีโอกาสทำงานด้วย ผมดีใจนะ คนพิการที่ถูกมองว่าเป็นภาระ ตอนนี้เขาสามารถส่งเงินเลี้ยงดูครอบครัว คนพิการไม่ได้ต้องการความเวทนาสงสาร แค่คุณหยิบยื่นโอกาสให้เขาก็พอ”
แปรจุดด้อยเป็นจุดเด่น
เมื่อมาสัมผัสโลกคนพิการด้วยตัวเอง คุณวรยุทธพบว่าอุปกรณ์ในตอนนั้นไม่ดีพอสำหรับคนพิการในไทย ยิ่งพอเห็นสังคมคนพิการในญี่ปุ่น ที่มีวีลแชร์เล็กกะทัดรัดเบาพกพาได้ คนพิการสามารถขับรถได้ด้วยตัวเอง จึงเกิดแรงบันดาลใจสร้างบริษัทสยามนิชชินขึ้นมา
“คนพิการย่อมเข้าใจวีลแชร์ได้ดีกว่าคนอื่น มันอาจเป็นปมด้อยของเขา ผมเลยปรับเปลี่ยนเป็นปมเด่นในการทำงานแทน ตั้งแต่การก่อตั้งและดำเนินงานโดยกลุ่มมนุษย์ล้อ ทำให้สังคมเชื่อมั่นในแบรนด์เรามาก จุดอ่อนของคนพิการคือเดินทางไปหาลูกค้าลำบาก ผมก็ใช้โซเชียลเข้ามาช่วยทะลวงตลาดแทน ทำก่อนที่โซเชียลจะบูมอีก ปัจจุบันตลาดเปิดกว้าง การแข่งขันสูงขึ้น สั่งของออนไลน์ผ่านจีนได้เอง แต่จุดแข็งของเราคือบริการ”
ตอนนี้บริษัทสยามนิชชินเปิดโอกาสให้มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ จังหวัดพัทยา ส่งคนพิการมาฝึกฝนที่บริษัท เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่พวกเขาต่อไป
พลังขับเคลื่อนของสองล้อ
ธุรกิจตรงนี้ทำให้คุณวรยุทธได้เห็นหลายสิ่ง เช่นครอบครัวที่ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ชั้นดีเยี่ยม เพื่อพาลูกที่ป่วยติดเตียงออกสู่โลกกว้าง แม้เวลาที่อยู่ร่วมกันจะสั้นก็ตามที หรือคนพิการที่เคยใช้ชีวิตยากลำบาก แต่มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ เมื่อมาทำงานกับสยามนิชชิน ก็มีรายได้ดีจนซื้อบ้านซื้อรถได้ และสิ่งที่ประทับใจอีกอย่างคือ
“ผมได้ทำกิจกรรมร่วมกับคุณกฤษณะ ละไล ได้เห็นรถเต็มลานจอดสำหรับคนพิการ ภาพที่เคยเห็นในญี่ปุ่นวันนั้น ได้มาเห็นในไทยแล้ววันนี้ ถึงจะใช้เวลาหลายสิบปีก็ตาม ดีใจที่สังคมคนพิการในไทยพัฒนาขึ้นมาได้ จริงๆ เราไม่ได้พิการ แต่สภาพแวดล้อมต่างหากที่พิการ ถ้าสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย เราก็ใช้รถเข็นไปไหนมาไหนได้ ตอนนี้เราก้าวข้ามคำว่า ‘พิการ’ ไปแล้ว ไม่อยากให้ใครมาบอกว่าเราเป็นคนพิการ ในเมื่อเราทำได้เหมือนคุณ”
กำลังใจถึงทุกๆ คน
“ทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ ผมเจอมาหลายวิกฤติ แต่มันมีโอกาสให้เราเสมอ ถ้าหาให้เจอ ทำอย่างเต็มที่ ครอบครัวไหนที่มีคนพิการอย่าคิดว่าเขาเป็นขยะ ช่วยส่งเสริมให้เขาแข็งแรง เมื่อเขามีโอกาส เขาก็สามารถทำให้ครอบครัวภูมิใจได้ ตอนที่ผมนอนอยู่โรงพยาบาล คุณพ่อบอกเพื่อนว่าหมดหวังแหละ แทนที่จะมีลูกสืบทอดกลับต้องมาเป็นภาระเลี้ยงดู คำเหล่านี้กระตุ้นความคิดของผมว่าถึงจะเป็นแบบนี้ ก็ต้องทำให้พ่อแม่ภูมิใจให้ได้”
คุณวรยุทธมองว่าสิ่งสำคัญคือการต่อสู้กับทัศนคติด้านลบที่มีต่อคนพิการ ทั้งจากคนรอบข้างและตัวคนพิการเอง โดยอยากให้ผลักดันตัวเองต่อไป ถ้าสังคมเปลี่ยนแปลงได้ ก็จะเป็นสังคมที่น่าอยู่ขึ้น
“ลูกค้าบางรายไม่ค่อยมีเงิน ถ้าเขาเป็นคนดีสู้ชีวิต และโอกาสยังมาไม่ถึงสักที เราจะให้ความช่วยเหลือดูแลเขา สัญญาดูแลให้ ส่งคนไปช่วยซ่อมถึงบ้าน จนวันหนึ่ง หนึ่งในคนที่ผมช่วย บอกว่าตอนนี้ผมไหวแล้วนะเฮีย ผมขอซื้อเองครับ รู้สึกดีใจนะ ผมมีความสุขที่ได้ส่งต่อโอกาส ถึงจะทำไม่ได้ทุกเคสก็ตาม สยามนิชชินเป็นบริษัทที่ผมภาคภูมิใจ (ยิ้ม)”
ครอบครัวสยามนิชชิน
“เราเปิดกว้างให้โอกาสทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือคนปกติ ทุกวันนี้ก็มีพนักงานเป็นผู้สูงอายุ ผมเจอคำถามว่าทำไมรับคนสูงอายุหรือคนพิการมาทำงาน ทั้งที่งานบางชิ้นเขาทำไม่ได้ ผมตอบว่าถ้าเขาทำงานชิ้นนี้ไม่ได้ ก็ให้เขาทำงานชิ้นอื่นแทน มันต้องมีงานที่เขาทำได้สิ เขาอาจทำงานได้ไม่คุ้มค่าจ้าง แต่ผมถือว่าได้ช่วยเหลือกัน แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว ไม่รู้ว่าที่คิดแบบนี้เพราะอายุมากแล้วหรือเปล่า (หัวเราะ)”
คอลัมน์: ยุทธจักร ฅ.ฅน
เรื่อง: มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์