พระพุทธบาท สระบุรี เป็นปูชนียสถานที่พุทธศาสนิกชนไทยศรัทธาบูชามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนปัจจุบัน เชื่อกันว่าใครที่ได้ไปนมัสการพระพุทธบาทถึง 7 ครั้ง ย่อมมีสวรรค์เป็นที่หมายในภพหน้า ผลแห่งศรัทธาบุญยาตราทำให้เกิดวรรณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการไปนมัสการพระพุทธบาทมากกว่า 10 เรื่อง สมัยอยุธยา เช่น โคลงนิราศพระบาท สำนวนเจ้าฟ้าอภัย โคลงนิราศพระบาทกับบุณโณวาทคำฉันท์ สำนวนพระมหานาค วัดท่าทราย สมัยรัตนโกสินทร์ เช่น กลอนนิราศพระบาท สำนวนสุนทรภู่ กลอนนิราศพระบาท สำนวนนายจัด โคลงนิราศวัดรวก สำนวนหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) และลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท พระนิพนธ์กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นต้น
การไปนมัสการพระพุทธบาทในสมัยโบราณต้องเดินเรือทวนลำน้ำเจ้าพระยา และลำน้ำป่าสักไปถึงท่าเจ้าสนุก แล้วเดินบกต่อไปด้วย ช้าง เกวียน หรือเดินเท้าผ่านบางโขมด ดงยาง บ่อโศก หนองคนที เขาตก สระยอ ท้ายพิกุล และพระพุทธบาทซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง
“เขาตก” เป็นภูเขาลูกเตี้ยๆ อยู่ริมถนนสายฝรั่งส่องกล้องที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้ฝรั่งชาวฮอลันดาส่องกล้องตัดถนนจากท่าเรือถึงพระพุทธบาท บริเวณเชิงเขาริมถนนเป็นที่ตั้งของศาลเทพารักษ์ “เจ้าพ่อเขาตก” อันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยำเกรงนับถือ ผู้คนที่ผ่านไปมาในสมัยก่อนมักแวะบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนและเครื่องสังเวยต่างๆ ทั้งยังมีการสร้างศาลอัญเชิญเจ้าพ่อเขาตกให้ท่านแปรสถานไปพำนักในที่อื่นๆ อีกหลายแห่งเช่น ศาลเจ้าพ่อเขาตกในพระราชวังบวร หรือวังหน้าที่กรุงเทพฯ ศาลเจ้าพ่อเขาตกที่วัดพระเชตุพนฯ และวัดราชคฤห์ เป็นต้น ทั้งยังมีตำนานเล่าว่า เจ้าพ่อเขาตกเป็นเกลอกับเจ้าพ่อหอกลอง ซึ่งมีศาลสถิตถาวรอยู่บริเวณกรมการรักษาดินแดน สวนเจ้าเชตุ ใกล้ๆ กับวัดพระเชตุพน
เรื่องราวของเจ้าพ่อเขาตกมีตำนานเล่ากันสืบมาเป็นสองกระแส กระแสหนึ่งจากคำเล่าขานของชาวบ้านย่านกรุงเก่า เล่ากันมาว่า เจ้าพ่อเขาตกเดิมเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เสด็จมาทรงควบคุมการก่อสร้างต่างๆ เมื่อพบรอยพระพุทธบาท ขณะประทับอยู่ที่ภูเขาลูกเล็กๆ ก่อนถึงพระพุทธบาท ทรงประสบเหตุมีก้อนหินขนาดใหญ่ตกลงมาทับสิ้นพระชนม์ ดวงพระวิญญาณก็สิงสถิตอยู่ ณ ที่นั้นเป็น “เจ้าพ่อเขาตก” คอยคุ้มกันอันตรายแก่ผู้ที่จะไปนมัสการพระพุทธบาท
อีกกระแสหนึ่งว่า เจ้าพ่อเขาตกคือสมเด็จพระนเรศวร (พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ดวงพระวิญญาณมาสิงสถิตเป็นเจ้าพ่อเขาตก คอยอภิบาลรักษาผู้ที่จะไปนมัสการพระพุทธบาท แต่ตำนานที่ว่าเจ้าพ่อเขาตกเป็นเกลอกับเจ้าพ่อหอกลอง น่าจะมีที่มาจากผู้ดีรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่นับถือเจ้าพ่อหอกลองและไปนมัสการพระพุทธบาท เมื่อออกเดินทางขาไปขอให้เจ้าพ่อหอกลองคุ้มครอง ขากลับขอให้เจ้าพ่อเขาตกคุ้มครอง เจ้าพ่อทั้งสองจึงคุ้นเคยจนเป็นเกลอกัน
เมื่อพระมหานาค วัดท่าทรายแต่งโคลงนิราศพระบาทในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ท่านบรรยายว่าเจ้าพ่อเขาตกน่าจะมีธิดาสิงสถิตอยู่บริเวณเขาตก ซึ่งกวีผู้แต่งได้ “เวียนเทียน” สมโภชเจ้าพ่อเขาตกด้วย
๏ ฤาไทเทเวศร์ไท้ ธิดา ท่านนา
ซึ่งสำนักในผา ตกนี้
ใฝ่ใจจะบูชา ชมรูป
แม้ว่าจริงจงชี้ ช่องให้เห็นองค์ ฯ
๏ จุดเทียนประทับแหว้น เวียนถวาย
ธูปประทีปโคมราย รอบล้อม
ทักษิณสำรวมกาย อภิวาท
เสร็จสมโภชแล้วน้อม นอบเกล้าบทศรี ฯ
โคลงนิราศพระบาท สำนวนเจ้าฟ้าอภัย กล่าวถึงเครื่องสังเวยเทพารักษ์ที่คุ้มครองผู้ที่จะเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาท ประกอบด้วยสุราบานชั้นดีพร้อมกับแกล้มอาหารคาวล้วน
๏ เหล้าเข้มไหใหญ่ตั้ง เติมกลาง
หมูเป็ดปากทองวาง เตียบตั้ง
แกะแพะชุมพามางษ์ แกมไก่
เต่างูหนูปลากั้ง กบกุ้งปูหอย ฯ
เครื่องสังเวยแกล้มเหล้าในโคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัยมี “เป็ดปากทอง” กระผมเคยถามครูผู้ใหญ่ว่าคืออะไรท่านกรุณาไขว่า “ก็เป็ดธรรมดานี่แหละ เอาแหวนทองสวมปากมันเข้าเมื่อทำพิธีบวงสรวง” ส่วน “ชุมพา” นั้นเป็นสัตว์จำพวกแกะ เนื้อกินดีกินอร่อย ปรากฏอยู่ในเมนูอาหารคณะราชทูตครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยส่วนตัวกระผมอย่าว่าแต่เคยชิมเลย รูปร่างหน้าตามันเป็นอย่างไรก็ยังไม่เคยเห็น
ศาลเจ้าพ่อเขาตกมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมเป็นศาลเจ้าที่อย่างไทย ในศาลตั้งเจว็ดรูปเทพารักษ์ อยู่มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้นำก้อนศิลาบริเวณเขาตกไปจำหลักเป็นปฏิมาเทวรูปนั่งชันเข่า กรขวาทรงพระขรรค์เชิญไปประดิษฐานในศาลที่เขาตก ในรัชกาลต่อมาเกิดเพลิงไหม้ศาล เทวรูปศิลาได้รับความเสียหาย จึงโปรดฯ ให้หล่อขึ้นใหม่ด้วยโลหะ ศาลเจ้าพ่อหลังเดิมเป็นอาคารไม้ผุพังไปตามกาล ผู้มีจิตศรัทธาชาวจีนร่วมกันบูรณะสร้างใหม่เป็นศาลเจ้าแบบจีน มีการบวงสรวงสังเวยแบบจีน และเป็นศาลเจ้าที่ชาวจีนในเมืองไทยนับถือมากแห่งหนึ่ง
วันนี้การเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาทสะดวกสบาย เส้นทางสายถนนฝรั่งส่องกล้อง กลายเป็นถนนหลังเขา แม้ศาลเจ้าพ่อเขาตกจะกลายเป็นศาลหลังเขาอยู่ห่างเส้นทางหลัก แต่เจ้าพ่อเขาตกก็ยังคงคุ้มครองผู้ที่ไปนมัสการพระพุทธบาทไม่เปลี่ยนแปร
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี / เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์