West Side Story – รัก รุนแรง เหลื่อมล้ำ

-

กำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก เข้าชิง 7 รางวัลออสการ์รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เป็นการดัดแปลงจากเวอร์ชันละครเพลงในปี 1957 เคยถูกสร้างเป็นหนังมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1961

 

ถ้าโฟกัสเฉพาะตัวละครนำ West Side Story ก็คือเรื่องราวรักในรอยแค้นอันเป็นที่รู้กันว่าได้รับอิทธิพลมาจากเรื่อง Romeo and Juliet ของเชกสเปียร์ แต่เปลี่ยนจากรักระหว่างสองตระกูลคู่อาฆาต มาเป็นรักระหว่างสองแก๊งต่างสีผิว/ชาติพันธุ์

ความรักระหว่างโทนี่กับมาเรียมีอุปสรรคใหญ่ตรงที่ทั้งคู่อาศัยในชุมชนแห่งหนึ่งของนิวยอร์กซึ่งมีแก๊งสองแก๊ง (แบ่งกลุ่มจากสีผิว/ชาติพันธุ์) เป็นศัตรูคู่อาฆาต มาเรียเป็นน้องสาวของเบอร์นาโดหัวหน้าแก๊งชาร์กที่เป็นคนเปอร์โตริโก ส่วนโทนี่เป็นเพื่อนสนิทกับริฟฟ์หัวหน้าแก๊งค์เจ็ตส์ซึ่งเป็นวัยรุ่นผิวขาว

หากดูเฉพาะเรื่องรัก แทบไม่มีอะไรต่างจากโรมิโอกับจูเลียต เราได้เห็นความใสซื่อในรักแรกพบจนนำไปสู่ความพยายามที่จะหยุดยั้งการเข่นฆ่าระหว่างพรรคพวกตัวเองกับครอบครัวของคนรัก และวาดฝันถึงอนาคตอันสดใสที่รอพวกเขาอยู่

แต่สิ่งซึ่ง West Side Story มีประเด็นเพิ่มจนแทบจะเป็นพล็อตหลักคู่ไปกับเรื่องรัก คือการนำเสนอภาพบริบททางสังคมที่ส่งผลต่อความรักของพวกเขา (และส่งผลต่อการใช้ความรุนแรงของทั้งสองแก๊ง)

===

West Side Story เปิดเรื่องด้วยป้ายพื้นที่เว

นคืนเพื่อรื้อถอนสลัมแล้วสร้างเป็นย่านความเจริญใหม่ในนิวยอร์ก พื้นที่แถวนั้นคือแหล่งอาศัยของแก๊งชาร์กและแก๊งเจ็ตส์

แต่ไหนแต่ไรมา แก๊งค์ชาร์กรู้สึกว่าพวกเขาไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐ เจ้าหน้าที่รัฐมักมีอคติและเลือกปฏิบัติต่อพวกเขา เช่น เวลามีเรื่องวิวาทกัน พอตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ ก็มักตั้งข้อหาให้พวกเขาเป็นฝ่ายผิดแต่แรก ทั้งที่คู่กรณีอีกฝ่ายก็มีส่วนผิดด้วยเช่นกัน

 

พวกเขามีสิทธิในการเป็นพลเมืองอเมริกันทัดเทียมกับคนอื่น แต่แก๊งเจ็ตส์ซึ่งเป็นวัยรุ่นผิวขาวมองคนต่างสีผิวและชาติพันธุ์ว่าไม่มีสิทธิอ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ อีกทั้งไม่ได้มีความเป็นคนอเมริกันเทียบเท่า คนเหล่านี้เป็นเสมือน ‘คนนอก’ ผู้มาอาศัย ‘แผ่นดินอื่น’ อยู่

เจ้าหน้าที่รัฐเช่นนายตำรวจใหญ่เป็นคนขาวย่อมเข้าข้างแก๊งวัยรุ่นผิวขาวอย่างแก๊งเจ็ตส์เมื่อวิวาทกับคนเปอร์โตริโก แต่จริงๆแล้วพวกเขาก็ไม่เคยไยดีและให้ความเป็นธรรมแก่วัยรุ่นผิวขาวในครอบครัวยากจน ดั่งที่นายตำรวจใหญ่บอกแก๊งเจ๊ตส์ว่าพวกเขาคือ ‘ตัวเกะกะขวางทาง’ ในการรื้อถอนสลัม

ดังนั้นหากมองให้ดี แก๊งเจ็ตส์กับแก๊งชาร์กมีศัตรูร่วมกันคือ ‘ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และอคติในสังคม’ พวกเขามีเป้าหมายร่วมกันคือ ‘คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น’ ซึ่งสามารถต่อสู้ไปด้วยกันได้

เพียงแต่ไม่ใช่สู้ด้วยหมัดหรืออาวุธ และเป้าหมายที่ต้องสู้คือสู้กับสังคมและภาครัฐ จับมือกันต่อต้านการเลือกปฏิบัติ เรียกร้องค่าชดเชยเมื่อถูกไล่ที่หรือสวัสดิการที่ควรจะได้ ผนึกกำลังสร้างอำนาจต่อรอง ไม่เป็นแค่เบี้ยตัวเล็กๆ ที่ถูกกวาดล้าง

แต่เมื่อพวกเขาเติบโตมาผ่านรุ่นต่อรุ่นที่มองปัญหาในสเกลเล็กไม่ใช่เชิงโครงสร้าง ก็จะเห็นแค่การต่อสู้ระหว่างแก๊ง แย่งชิงพื้นที่เล็กๆ น้อยๆ ที่ทางการกำลังจะขับไล่ ไม่ว่าฝ่ายไหนชนะ สุดท้ายก็ยังต้องกระเสือกกระสนในการหาถิ่นฐานต่อไป แล้วมันก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ รุ่นลูกโตมาก็มองเห็นแค่นี้

เมื่อพวกเขาถูกปลูกฝังแต่เรื่องศักดิ์ศรีของ ‘การเป็นพวกพ้อง’ คือการยกพวกตียึดพื้นที่จากอีกฝ่าย ฯลฯ แต่ไม่เคยถูกปลูกฝังศักดิ์ศรีในแง่ความเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน พวกเขาจึงเติบโตมาแบบพร้อมจะยกพวกตีรันฟันแทง และใช้ความรุนแรงก่อนอื่น แทนที่จะหาทางต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าอย่างที่ใฝ่ฝัน

ในฉากโรงพักที่เป็นเพลง Gee, Officer Krupe ซึ่งเนื้อร้องกล่าวถึงการที่สมาชิกกลุ่มเจ็ตส์บรรยายตัวเองเป็นพวกเด็กเหลือขอ พวกมีปัญหาสุขภาพจิต แล้วถูกมองว่าเป็นโรคร้ายของสังคม (social disease) ก็เนื่องมาจากสังคมกับผู้ใหญ่รอบตัวที่เห็นพวกเขาแบบนั้น เปรียบได้กับการใช้ชีวิตที่มีผู้ใหญ่เป็นกระจกสะท้อนให้พวกเขาเห็นแต่ด้าน ‘ปัญหา’ ของตัวเองแล้วถูกตราหน้ามาตลอด

ในสายตาของผู้ใหญ่หรือของคนชนชั้นอื่นซึ่งชีวิตประจำวันไม่ต้องใช้ความรุนแรงแย่งชิงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะมองวัยรุ่นสองแก๊งนี้เป็น ‘ตัวปัญหา’ แล้วหาทางดัดนิสัยหรือใช้ความรุนแรงมากกว่ามากำราบ

แต่หากเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม เช่น อคติ หรือความเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตของคนในชนชั้นล่างรุ่นแล้วรุ่นเล่าด้วยความยากจนและวิถีคิดแบบเดิมๆ ที่ขยันเท่าไหร่ก็ไม่สามารถสลัดสภาพชีวิตแย่ๆ ไปได้เพราะโอกาสในสังคมไม่อำนวย แถมยังถูกกดด้วยอคติ ดังนั้นเมื่อคนรุ่นพ่อแม่เองก็อัตคัดลำบาก พ่อแม่ไม่มีเวลาใส่

ใจ บางบ้านมีปัญหารุนแรงตั้งแต่ผู้ใหญ่ในบ้าน จนถึงติดเหล้าติดยา แม้พยายามจะหางานทำก็มีโอกาสได้งานที่รายได้ต่ำ ฯลฯ ก็จะพบว่าความตายของวัยรุ่นเกิดขึ้นเพียงเพราะพวกเขาใฝ่ฝันจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม อยากให้พวกพ้องกับครอบครัวดี อยากมีศักดิ์ศรีและมีเกียรติ

แต่การที่ชีวิตจะดีขึ้นสำหรับพวกเขาไม่ได้มาแบบตรงไปตรงมา ไม่มีทางลัด ไม่มีคอนเน็คชั่น ไม่มีต้นทุนที่จะไปต่อได้ดีเท่าคนอื่น นอกจากก็ปากกัดตีนถีบแล้วยังต้องเจออคติและสีหน้าเหยียดหยามปนเกลียดชัง พวกเขาจึงไม่เคยที่รู้ว่าจะมีโอกาสที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร หนทางส่วนใหญ่จึงแฝงไว้ด้วยความรุนแรง

West Side Story เป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กน้อยที่ช่วยเยียวยาปัญหาในสังคมนี้ คือทำให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้นิยมความรุนแรง มีหลายหนที่บางคนเสนอให้เลิกการวิวาทแต่ก็มองไม่เห็นทางออกอื่น แต่เมื่อมี ‘ความรัก’ อย่างจริงใจก่อตัวขึ้นในรูปแบบที่พร้อมจะสละทิ้งซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นพรรคพวกทิ้งไป มันก็พอจะช่วยกระตุ้นให้พวกเขาได้มองเห็นทางเลือกอื่นๆ มากกว่าการยกพวกตีกัน

ความรักคงไม่ได้แก้ปัญหาความเกลียดชังหรืออคติทางสังคมในพริบตา แต่ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิตต่อไป หาหนทางที่จะรักษาชีวิตของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ / เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!