Welcome to the Blumhouse – เรื่องสยองในครอบครัว

-

ค่าย Blumhouse ผู้ผลิตหนังสยองที่โดดเด่นในรอบหลายปีที่ผ่านมา เช่น Happy Death Day, The Invisible Man ฯลฯ แต่หนังใหม่ช่วงสองปีนี้ส่วนใหญ่ดูจะฟุบผิดฟอร์ม เช่น Fantasy Island, Black Christmas ฯลฯ โครงการน่าสนใจล่าสุดคือการผลิตหนังใหม่สี่เรื่องป้อนให้ Amazon Prime ในชื่อ Welcome to the Blumhouse โดยอิงคอนเซ็ปท์ของความชั่วร้ายน่าขนลุก (sinister) ที่เกิดขึ้นใจกลางครอบครัวในหนังแต่ละเรื่อง ทุกเรื่องมีประเด็นน่าสนใจ แม้จุดด้อยคือการกำกับหนังที่ยังทำได้ไม่ลงตัวนัก แต่ก็มีอะไรให้พูดถึง

 

  • Black Box

มีความเป็นหนังไซไฟลึกลับที่แสดงด้านมืดของเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากจะจัดเรื่องนี้ไปอยู่ในชุด Black Mirror ของ Netflix ก็ยังกลมกลืน เล่าเรื่องชายคนหนึ่งซึ่งบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถคว่ำแล้วสูญเสียความทรงจำก่อนหน้านั้นไปจนหมด เขาเข้ารับการรักษาจากหมอคนหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีในการพาเขากลับเข้าไปในจิตใต้สำนึกเพื่อฟื้นความทรงจำในอดีต แต่เมื่อเขาย้อนไปสู่อดีต เขากลับสับสนเพราะเป็นอดีตที่เขาไม่คุ้นเคย แล้วยิ่งกว่านั้นในอดีตยังมีผีที่รอหลอกหลอนเขาอยู่ซึ่งเขาไม่เคยเห็นมันมาก่อน

หนังน่าจะเดาได้ไม่ยากนัก ที่น่าสนใจคือจุดพลิกผันเพื่อเฉลยความลับซึ่งหนังส่วนใหญ่มักเป็นไคลแมกซ์ตอนท้าย แต่หนังเฉลยตั้งแต่ช่วงกลางเรื่อง เมื่อหนังพูดถึงประเด็นความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) ก็พาไปสู่ทางสองแพร่ง (dilemma) ของตัวละคร ว่าจะตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตใหม่แบบใดถ้าเลือกได้

  • Evil Eye

เป็นตอนที่ด้อยสุด จบแล้วก็จบเลย ไม่ได้มีอะไรชวนให้คิดต่อ มีความเป็นดราม่าทริลเลอร์มากกว่าหนังสยองขวัญ ดำเนินเรื่องในครอบครัวชาวอินเดียที่ลูกสาวไปอยู่อเมริกา ลูกถูกกดดันจาก “ค่านิยม” ของแม่และเพื่อนบ้านที่คิดเหมือนกันคือต้องการให้ลูกสาวได้แต่งงานกับชายหนุ่มฐานะดีเพื่อที่จะได้มีชีวิตสบายๆ แต่นางเอกไม่ต้องการใช้ชีวิตตามความคาดหวังแบบเดิมๆ เธอคิดว่าเธอควรมีสิทธิเลือกชีวิตตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชายในการดำรงชีวิต แม่มีเครื่องรางประจำตัวเป็นสัญลักษณ์รูปดวงตา หรือที่เรียกว่า evil eye (เป็นความเชื่อในบางวัฒนธรรม แต่จะพบมากที่ตุรกี ซึ่งเครื่องรางนี้ใช้ป้องกันสายตาของปีศาจหรือคนที่คิดร้าย) แล้วมีอดีตรักที่โหดร้ายเป็นภาพจำฝังใจคือถูกคนรักคุกคาม แต่คนรักของแม่ก็ตายไปตั้งแต่ตอนที่แม่ยังไม่แต่งงาน จนมาถึงยุคปัจจุบันนางเอกพบรักเป็นชายผู้ร่ำรวยอย่างที่แม่ต้องการ แม่พบว่าคนรักของลูกสาวมีบางอย่างที่คุ้นเคย เธอระแวงว่าวิญญาณของชายที่เคยทำร้ายเธอเมื่อยังสาวกลับมาเกิดใหม่ในร่างคนรักของลูก

หนังสนุกในแง่ที่ทำให้เราลังเลว่าที่แม่หมกหมุ่นเรื่องเครื่องรางกับความเชื่อนั้นเป็น “อาการป่วยทางจิต” ดั้งเดิมของแม่หรือเป็น “วิญญาณกลับมาเกิดใหม่” ของคนรักเก่าจริงๆ เราจึงเดาได้ยากว่าความหมกมุ่นกับ Evil Eye นั้นจะพาไปพบบทสรุปแบบใด

 

  • Nocturne

ฝาแฝดนักเรียนดนตรี วิเวียน-แฝดพี่มีพรสวรรค์เป็นดาวเด่นของโรงเรียน  จูเลียต-แฝดน้องรักดนตรีมีฝีมือเช่นกัน แต่ก็เหมือนใช้ชีวิตอยู่ใต้ร่มเงาของพี่สาวที่ประสบความสำเร็จมากกว่า เวลาญาติผู้ใหญ่หรือเพื่อนพ่อแม่มาเยี่ยมก็มักชื่นชมฝีมือของวิเวียนโดยไม่ได้พูดถึงจูเลียต แล้วบางครั้งก็จำผิดคน เมื่อมาอยู่โรงเรียนเดียวกันก็เรียนเปียโนเหมือนกัน ต่างแค่ครูสอน วิเวียนไม่เพียงประสบความสำเร็จเรื่องดนตรี เธอยังมีคนรักที่น่าอิจฉา ส่วนจูเลียตมองตัวเองว่าเธอมีครูสอนดนตรีที่ไม่เก่ง แถมไม่เคยมีแฟนแล้วก็ไม่เคยมีประสบการณ์ทางเพศทั้งๆที่เพื่อนร่วมรุ่นมีกันหมดแล้ว ในการแข่งขันครั้งสำคัญที่โรงเรียนคัดตัวแทนมาแทนมอยร่า-มือหนึ่งของโรงเรียนที่เพิ่งกระโดดตึกฆ่าตัวตายโดยไม่มีใครรู้เบาะแสและสาเหตุ จูเลียตเจอสมุดบันทึกของมอยร่าซึ่งมีรูปวาดด้วยลายมือแสดงขั้นตอนที่ทำให้เธอสามารถเล่นดนตรีได้อย่างมหัศจรรย์ รูปวาดเหล่านั้นคล้ายเป็นพิธีกรรมหรือไม่ก็ขายวิญญาณให้ปีศาจ ความทะเยอทะยานที่จะเอาชนะพี่สาว ความต้องการที่จะก้าวไปให้ไกลกว่าการเป็นแค่นักดนตรีฝีมือกลางๆ ทำให้เดิมทีพี่น้องคู่นี้อาจมีการแข่งขันกันแบบไม่รู้ตัว (sibling rivalry) แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นทำลายกัน จูเลียตเริ่มเปลี่ยนตัวเองหลังเจอสมุดบันทึกของมอยร่า (เช่น ในการแข่งขันครั้งสำคัญเธอจงใจเลือกเพลงเดียวกับพี่สาวเพื่อให้กรรมการพิจารณาเปรียบเทียบ ทั้งๆที่ปกติเลือกเพลงต่างกันเสมอ) จากนั้นชีวิตก็เจอเรื่องราวคล้ายๆ ในสมุด นับแต่นั้นก็เริ่มไม่ใช่แค่การแข่งดนตรี จูเลียตถลำลึกลงเรื่อยๆ ช่วงชิงทุกอย่างของวิเวียนโดยหารู้ไม่ว่าอาถรรพ์บางอย่างกำลังทำงานร่วมกับ “ปมของความรู้สึกด้อย” (Inferiority complex) ครอบงำให้เธอทำลายชีวิตของพี่สาว

ถ้ามองในแง่ความสยองขวัญและการกำกับ Nocturne สร้างบรรยากาศเหนือกว่า 3 เรื่องใน Welcome to the Blumhouse อย่างชัดเจน

 

  • The Lie

เคย์ล่าเป็นลูกสาววัยรุ่นคนเดียวของบ้านที่พ่อแม่หย่าร้างกัน วันหนึ่งพ่อมารับเธอไปส่ง และแวะรับเพื่อนที่รอรถตรงป้ายรถประจำทาง เพื่อนของเธอพูดจาแซะเธอตลอด รวมถึงมีทีท่าอ่อยพ่อของเธอ ระหว่างทางทั้งคู่แวะทำธุระในป่า แล้วก็มีเสียงกรีดร้องดังขึ้น พ่อของเคย์ล่าวิ่งไปดู พบเคย์ล่าร้องไห้ที่สะพานข้ามแม่น้ำ สารภาพว่าเธอผลักเพื่อนสนิทตกสะพานเสียชีวิต พ่อพยายามมองหาร่างคนตายก็ไม่เจอ พ่อตัดสินใจที่จะปกปิดความจริงเพื่อปกป้องลูก นัดแนะแม่ให้โกหกคนอื่นๆ ว่าเขากับลูกไม่ได้ผ่านเส้นทางนั้น จึงไม่เจอเพื่อนลูก ในตอนแรกแม่ไม่อยากทำ แต่ต่อมาก็ยอมทำตามพ่อด้วยเหตุผลคือ “ปกป้องลูก” ทว่ายิ่งปกป้องเหตุการณ์ก็ยิ่งบานปลาย พ่อของอีกฝ่ายมาตามหาลูกสาวตัวเองเพราะรู้ว่าสนิทกับเคย์ล่า แล้วความพยายามปกป้องลูก ก็ผลักดันให้พ่อแม่คู่นี้ทำความผิดหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยที่หารู้ไม่ว่ายังมี “การโกหกอื่นๆ” ซ่อนอยู่อีก ส่วนเคย์ล่าเองเมื่อเห็นพ่อแม่ที่หย่าร้างกันกลับมาสนิทอีกครั้งเพื่อปกป้องเธอ เธอก็ยิ่งต้องการ “รักษาการโกหก” นี้ไว้โดยเชื่อแบบเด็กๆว่าสิ่งนี้จะทำให้พ่อแม่คืนดีกัน แต่หารู้ไม่ว่ากลับนำมาซึ่งหายนะหนักกว่าเดิม

แม้การดำเนินเรื่องของหนังจะดูไม่ตื่นเต้นนัก แต่เมื่อถึงจุดหักมุมก็ทำได้ดี The Lie จึงกลายเป็นหนังที่สอนบทเรียนของการโกหกได้อย่างน่าประทับใจ


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou ,i_behind_you@yahoo.com)

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!