เมื่อใครคนหนึ่งเผลอเหยียบเท้าเรา เราอาจจะรู้สึกโกรธวูบ แต่หากเราพบความจริงว่าเขาไม่รู้ว่าเท้าของเราอยู่ตรงนั้น หรือเขามองไม่เห็นเท้าของเรา จึงเผลอเหยียบเข้า ก็ไม่มีประโยชน์จะไปโกรธเขา ใจเราก็คลายโกรธลง
ตรรกะคือ “เขาไม่รู้ เขาไม่เห็น เราจึงไม่โกรธ”
ถ้าใครคนหนึ่งทำร้ายจิตใจเรา เช่น นัดแล้วไม่ไปตามนัด เราอาจโกรธ แต่หากรู้ความจริงภายหลังว่า คืนก่อนนัดเขากินยาแก้หวัดแล้วหลับยาว จนตื่นไม่ทันนัด ก็ไม่มีประโยชน์จะไปโกรธเขา ใจเราก็ลดความขึ้งเคียดขุ่นมัวลง
ความโกรธเคืองหลายครั้งเกิดมาจากความเข้าใจผิด หรือได้รับข้อมูลไม่ครบ หรือคนอื่นกระทำเรื่องที่ไม่ตรงกับใจเรา แต่เพราะทำปรารถนาดีจริงๆ เมื่อเรารู้ความจริง ใจเราก็ผ่อนคลายลง
ตรรกะคือ “เขาไม่ตั้งใจ เราจึงไม่โกรธ”
ถ้าเราสามารถรักษาจิตของเราให้สงบด้วยตรรกะนี้ได้ ทำไมไม่ขยายขอบเขตของมันให้กว้างขึ้น และกินไปในพื้นที่อื่นๆ ที่คน ‘เหยียบเท้า’ เราอย่างตั้งใจ?
เหตุผลที่เราไม่โกรธ เพราะคำนวณค่าความเสียหายแล้ว มันไม่คุ้มค่า ความโกรธไม่ดีต่อตัวเราเพราะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่ดีต่อคนรอบตัวที่เห็นเราหน้านิ้วคิ้วขมวดทั้งวัน และไม่ดีต่อจิตที่อารมณ์เราเสียไปทั้งวันเปล่าๆ เหมือนคนอื่นเหยียบเท้าเรา แล้วเราก็ลงโทษตัวเองซ้ำอีกเด้ง
ลองคิดดู มีกี่ครั้งที่คนอื่นยั่วให้เราจิตหลุด แล้วเราก็ซ้ำเติมตัวเองโดยทำให้หัวใจตนเองเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตพุ่งขึ้นกว่าเดิม?
อย่างนี้จะโทษเขาหรือโทษเรากันแน่?
คนที่ทำให้เราโกรธเขาไม่รู้เรื่องหรอก เขายั่วให้เราโกรธสำเร็จ เขาก็ระรื่นชื่นอารมณ์ทั้งวัน เขาไม่รับรู้ว่าเราทุกข์ทั้งวัน ถ้าเขารู้ คงดีใจกว่าเดิม เพราะเขาเป็นพวกซาดิสต์ (ชอบทำร้ายคนอื่น)
โลกเรามีคนซาดิสต์เยอะ แต่เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นมาโซคิสต์ (ชอบทำร้ายตัวเอง) เพราะคนอื่นมิใช่หรือ?
ในชีวิตเรา มีสถานการณ์ต่างๆ มากมายที่หนักกว่าการถูกเผลอเหยียบเท้า เช่น อยู่ดีๆ มีคนมาด่า อยู่ดีๆ มีคนมาชวนทะเลาะด้วย ในโลกโซเชียลสมัยนี้ ไม่จำเป็นต้องโกรธเคืองกัน ก็ทะเลาะกันและด่ากันได้แล้ว
โดยหน้าที่การงาน ผมต้องขลุกในโลกโซเชียล และหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า ‘ทัวร์ลง’
บางคนด่าเพราะไม่รู้ความจริง บางคนด่าเพราะได้รับข้อมูลไม่ครบ บางคนด่าเพราะต้องการหาที่ลง บางคนด่าเพื่อแค่ต้องการระบายอารมณ์
ถ้าด่าตอบ เรื่องก็ไม่จบ บานปลายต่อไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าพยายามเข้าใจเขา และเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจว่า ‘อารมณ์พาไป’ เป็นอย่างไร หรือเข้าใจว่าเขาอาจอยากระบายอารมณ์ ก็จะปล่อยวางง่ายขึ้น เรื่องก็จบแค่นั้น ไม่หนักหัวไปหลายวัน ความดันโลหิตก็ไม่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น
เราอาจไม่ชอบสภาวะที่ถูกด่า แต่เราจะยิ่งไม่ชอบหากหมอบอกว่าเราเป็นโรคหัวใจหรือมะเร็งซึ่งเกิดจากความหมักหมมในจิต
ถ้าเช่นนั้นมีวิธีผ่อนหรืออุบายในการจัดการความคิด ‘อยากฆ่าคน’ ไหม
คำตอบคือมี นั่นก็คือ “เขาไม่รู้ เขาไม่เห็น เราจึงไม่โกรธ”
เขาไม่ตั้งใจ เราจึงไม่โกรธ
‘ไม่รู้-ไม่เห็น’ ในที่นี้เป็นคนละไม่รู้ไม่เห็นในตัวอย่างแรก
‘ไม่รู้’ คือเขาไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ไม่รู้กาลเทศะ ไม่รู้เรื่องมารยาท น่าเห็นใจมากกว่าโกรธ
‘ไม่เห็น’ คือเขาไม่เห็นค่าเวลาที่เสียไป นี่ก็น่าเห็นใจ
ดังนั้นเรื่องที่เขาทำจึงน่าเห็นใจ ไม่ใช่น่าโกรธ
หลักการนี้มิใช่ของใหม่ เป็นคำสอนในทางคริสต์
ใน Luke 23:34 พระเยซูตรัสว่า “Father, forgive them, for they do not know what they are doing.”
โปรดยกโทษให้พวกเขา พวกเขาไม่รู้ว่าพวกเขาทำอะไรลงไป
ต่อคนที่ไม่รู้และมองไม่เห็น มีทางใดดีไปกว่าเห็นใจ เข้าใจ และให้อภัย?
คอลัมน์: ลมหายใจ
เรื่องโดย: วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/