แบบเรียนจากสำนักวัดราชบูรณะ

-

วัดราชบูรณะเป็นพระอารามประจำพระนครคู่กับวัดมหาธาตุมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดสลัก ซึ่งอยู่ด้านเหนือพระบรมมหาราชวังเป็นวัดมหาธาตุ และวัดเลียบซึ่งอยู่ด้านใต้พระนครเป็น วัดราชบูรณะ

วัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะเป็นพระอารามสำคัญ และเป็นที่สถิตของพระราชาคณะผู้ใหญ่ซึ่งพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงศรัทธานับถือ ทั้งเป็นสำนักเรียนที่ผู้ดีชาวพระนครนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาเล่าเรียนอักขรสมัยตามคตินิยมของยุคนั้น สำนักเรียนวัดราชบูรณะมีชื่อเสียงขจรขจายเป็นแหล่งกำเนิดของหนังสือแบบเรียนไทยก่อนที่จะปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงสองเล่มคือ ประถมมาลา และ ปทานุกรม

ผู้แต่ง ประถมมาลา คือพระเทพโมฬี (พึ่ง) แห่งสำนักวัดราชบูรณะ แบบเรียนไทยเล่มนี้ได้รับความนิยมแพร่หลาย พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) กล่าวถึงประถมมาลาไว้ในเรื่อง “โบราณศึกษา” ตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ ปีที่ ๕ รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ ว่า “ประถมมาลาที่พระเทพโมฬี (พึ่ง) วัดราชบูรณะแต่งนั้นเป็นหนังสือที่โบราณนักปราชญ์ชมเชยสรรเสริญยกย่องมาก แลได้เป็นหนังสือปรากฏคุณวิชาแก่กุลบุตรมานานหลาย ๑๐ ล้านคนแล้ว ด้วยเป็นโบราณตำราใช้อยู่ตลอดพระราชอาณาจักร”

หนังสือแบบเรียนไทยเล่มสำคัญที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาคือ จินดามณี ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างยาก เน้นการประพันธ์ชั้นสูง ไม่เหมาะกับการเริ่มเรียนเขียนอ่าน ส่วนประถมมาลาเริ่มเนื้อหาตั้งแต่การประสมอักษร แม่ ก กา และมาตราตัวสะกดตั้งแต่แม่กกจนถึงแม่เกย ตอนปลายอธิบายกลอักษรแบบต่าง ๆ เช่น กลอักษรฤๅษีแปลงสาร กลอักษรไทนับสาม ไทนับห้า และกลอักษรไทยหลง ซึ่งกลอักษรดังกล่าวปรากฏอยู่ในจินดามณี ดังนั้นประถมมาลาจึงเป็นเสมือนแบบเรียนที่แต่งขึ้นมาเพื่อขยายความหรืออธิบายความในจินดามณี ตอนท้ายของประถมมาลาเป็นคำอธิษฐานของผู้แต่ง ประพันธ์เป็นวสันตดิลก ฉันท์ ๑๔ แสดงปณิธานขอให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข เช่น

๏ อ้าหมู่พยูหพรรษพลา    หกเทพยโจษจล

การุญจงอวยพรุณชล     ปวัดติชอบฤดูกาล

๏ จงให้เจริญสรรพพืชโภ      ชนธัญกระยาหาร

เพียบภูลผลาผลตระการ      จังหวัดรอบบริเวณ

                 พระเทพโมฬี (พึ่ง) เป็นกวีสำคัญผู้หนึ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏนามเป็นผู้หนึ่งที่แต่งกวีนิพนธ์ในจารึกวัดพระเชตุพนฯ คราวปฏิสังขรณ์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ ด้วย แต่บั้นปลายชีวิตของท่านต้องอธิกรณ์ถูกถอดจากสมณศักดิ์เป็นนายพึ่งเทพโมฬี ตะพุ่นเกี่ยวหญ้าเลี้ยงม้าหลวง ช้างหลวง เหลือแต่ผลงานแบบเรียนไทย ประถมมาลา ของสำนักวัดราชบูรณะไว้ให้อนุชนได้ศึกษาจนปัจจุบัน

หนังสือแบบเรียนไทยอีกเล่มหนึ่งของสำนักเรียนวัดราชบูรณะได้แก่ ปทานุกรม ผู้แต่งคือพระปิฎกโกศล (อ่วม) พระราชาคณะรูปหนึ่งของวัดราชบูรณะ ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระอารามต่าง ๆ ในพระนครเปิดเป็นโรงเรียนหลวงสำหรับสอนเด็กขึ้น เจ้าคุณพระปิฎกโกศล (อ่วม) เป็นหนึ่งในพระราชาคณะที่เป็นกรรมการสอบความรู้พระภิกษุผู้สมัครเข้าเป็นครูสอนในโรงเรียนหลวง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๘

พระปิฎกโกศล (อ่วม) แต่งหนังสือ ปทานุกรม ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๐ ปทานุกรมมีความหมายว่า เรียงลำดับคำตามมาตราตัวสะกด แต่งเป็นกลอนเพลงยาวคือ เริ่มด้วยกลอนวรรครับ จบคำกลอนสุดท้าย “ลงเอย” เนื้อหาในแบบเรียนปทานุกรมดำเนินตามประถมมาลาทุกประการ ตั้งแต่บทนมัสการ จนถึงฉันท์และโคลงท้ายเรื่อง ในที่นี้จะยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพียงตอนเดียวคือ บทนมัสการ ซึ่งประถมมาลาแต่งเป็นกาพย์ยานี ๑๑ ว่า

๏ ข้า  ฃ  ย  ชุลี                            พระมุนีมีมะหา

คุณะกะรุณา                               แลปฤชาล้ำโลไกย

๏ ปรานีมานำหมู่                         ประชาสู่ศิวาไลย

ไหว้ธำม์ที่อำไพ                            นำเวไนยละโลกีย์

ปทานุกรมแปลงเป็นกลอนดังนี้

๏ นะมามิพระมุนีมีตะบะ

ละโทษาราคาที่มานะ                  แลโมหะโลภานิราไกล

พระปรานีปฤชามานำหมู่              ประชาสู่ศิวาราคาไข

ตูข้าไซร้ไหว้ธำม์วะรำไพ              นำเวไนยลุบุรีนิพานา

แม้ว่าปทานุกรมของพระปิฎกโกศล (อ่วม) จะไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเท่าประถมมาลา ของพระเทพโมฬี (พึ่ง) แต่แบบเรียนไทยทั้ง ๒ เล่มต่างถือกำเนิดและสืบทอดจากสำนักวัดราชบูรณะ มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อการศึกษาไทยในอดีต


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!