สงครามเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะสงครามนำมาซึ่งความสูญเสียเหลือคณานับ ทั้งต่อทรัพย์สิน ชีวิต และจิตใจ ประเทศลาวได้เผชิญภาวะสงคราม ทั้งสงครามกลางเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเวียดนาม ในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ภาพจำของสงครามจึงยังฝังใจประชาชนคนลาว และยังสามารถพบได้ในบทเรียน ข่าวสาร และแนวคิดคติสอนใจให้คนลาวเรียนรู้เพื่อกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ເສິກສົງຄາມ เสิกสงคาม คือ ศึกสงคราม คำว่า เสิก ในภาษาลาวเป็นคำเดียวกับคำว่า ศึก ในภาษาไทย หมายถึงการต่อสู้รบพุ่งกัน ในวรรณคดีไทยก็เคยใช้คำว่าเสิก หรือ เศิก ในความหมายเดียวกัน เช่น สงครามความเศิกซึ้ง แสนกล (ลิลิตตะเลงพ่าย) อนึ่ง สงครามในภาษาไทย ใช้ ร ควบกล้ำตามแบบภาษาสันสกฤต ส่วน สงคาม ในภาษาลาว ยึดตามภาษาบาลี ทำนองเดียวกับคำว่า สงกรานต์-สังขาน
ຂ້າເສິກສັດຕູ ข้าเสิกสัดตู คือ ข้าศึกศัตรู เป็นกลุ่มคำที่ใช้คล้ายคลึงกับภาษาไทย เพียงแต่สะกดตรงตามเสียงอ่านเท่านั้น
ຈັກກະພັດ จักกะพัด หมายถึง จักรวรรดินิยมผู้รุกราน (imperialist) เป็นคำที่ใช้เพื่อต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส รวมถึงอเมริกาในสงครามปลดปล่อยประเทศลาว โดยมองว่าประเทศตะวันตกใช้ลัทธิจักรวรรดินิยมเข้ามารุกรานและกดขี่ข่มเหง
ບັ້ນຮົບ บั้นฮบ หมายถึง ยุทธการ, สมรภูมิ ใช้อธิบายถึงเหตุการณ์รบพุ่งต่อสู้กันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น ບັ້ນຮົບບໍ່ແຕນ บั้นฮบบ่อแตน คือสมรภูมิที่เมืองบ่อแตน ตรงกับยุทธการบ้านร่มเกล้าของไทย นอกจากนี้ ยังมีคำว่า ບັ້ນຕີ หมายถึง ยุทธการเข้าบุกโจมตี และ ບັ້ນສະກັດ หมายถึง ยุทธการสกัดกั้น ด้วย
ສິດເປັນເຈົ້າ สิดเป็นเจ้า หมายถึง อำนาจอธิปไตย (sovereignty) เหนือดินแดนหรือการปกครองใดๆ ซึ่งอำนาจสิดเป็นเจ้านี้ โดยหลักการของ สปป.ลาว อยู่กับประชาชนบรรดาเผ่าเสมอภาคกัน
ກະຊວງປ້ອງກັນປະເທດ ป้องกันปะเทด หมายถึง กระทรวงกลาโหม ภาษาลาวใช้คำเรียกตรงไปตรงมาหลังการปฏิวัติ และเป็นคำแปลที่ตรงกับ Ministry of Defence ของชาติต่างๆ
ກຳລັງປະກອບອາວຸດ กำลังปะกอบอาวุด หมายถึง กองกำลังติดอาวุธ ซึ่งอาจเป็นทหารหรือพลเรือนอาสาซึ่งฝึกใช้และครอบครองอาวุธก็ได้ เนื่องจากประเทศลาวไม่มีการเกณฑ์ทหาร แต่มีการฝึกอาสากำลังสำรองเพื่อให้สามารถใช้อาวุธได้ในยามฉุกเฉิน
ກອງຫລອນ กองหลอน หมายถึง กองทหารบ้าน เป็นหน่วยอาสาของชาวบ้านในพื้นที่เพื่อลาดตระเวนตรวจตราและต่อสู้ป้องกัน
ພີລະອາດຫານ พีละอาดหาน หมายถึง วีรกรรมกล้าหาญ มาจากคำ วิระ ในภาษาบาลี และ วีระ ในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า ความกล้าหาญ เป็นคำซ้อนเพื่อเน้นย้ำปลุกใจ พบมากในการยกย่องสรรเสริญทหารหรือพลเรือนที่ประกอบวีรกรรมทั้งในศึกสงครามและการทำงานเพื่อประเทศชาติ
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง / เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข ภาพ: ณัทภัค โสรธร