สงครามเงิน เงินตรากับความรัก

-

สงครามเงินเป็นนวนิยายของ ‘ว.วินิจฉัยกุล’ ประพันธกรชั้นครู ที่ได้รับการดัดแปลงเป็นบทละครโทรทัศน์ และนำเสนอฉายทางช่องอมรินทร์ 34 ก่อนหน้านี้เคยสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์สี ช่อง 7 เมื่อปี พ.ศ. 2532

นวนิยายนี้มีสถานะที่น่าสนใจในบรรณพิภพไทย กล่าวคือได้ท้าทายคำครหาที่ว่าตัวละครในนวนิยายไทยมักไม่ทำมาหากิน ไม่เห็นภาพชีวิตตัวละครทำงาน ไม่ระบุอาชีพ แต่ร่ำรวยและดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างไม่จำเป็นต้องเล่าภูมิหลังว่าประกอบอาชีพอะไร อาชีพนั้นส่งผลต่อเรื่องราวและวิถีชีวิตของตัวละครในเรื่องหรือไม่ อย่างไร

คำครหาดังกล่าวมีมานาน ตั้งแต่ทศวรรษ 2510 อันเป็นทศวรรษที่นวนิยายแนวชีวิตครอบครัวประสบความสำเร็จสูงสุดในวงวรรณกรรมไทย นวนิยายที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารแข่งขันกันสร้างความนิยมจากผู้อ่าน เป็นยุคที่เกิดนักประพันธ์สตรีจำนวนมาก และมักนำเสนอเรื่องราวของชนชั้นกลางและชนชั้นสูง เรื่องราวก็เกี่ยวข้องกับความรักและปัญหาในครอบครัวมากกว่าประเด็นอื่น ส่วนนวนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวพันกับปัญหาสังคมนั้น มีอยู่จำนวนน้อย

นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารสกุลไทย และรวมพิมพ์เป็นเล่มใน พ.ศ.2530 อีก 2 ปีต่อมา ก็มีการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เมื่อพิจารณาจากสถานะของนวนิยายแล้ว จะเห็นว่าสงครามเงิน เป็นนวนิยายที่ไทยรุ่นบุกเบิกเน้นเรื่องราวของ “ธุรกิจ” หรืออาจจะเป็นเรื่องแรกด้วยซ้ำ อีกทั้งการตั้งชื่อนวนิยายก็ระบุชัดว่ามิใช่เรื่องความรักหรือปัญหาครอบครัวอย่างที่นิยมกัน 

ทศวรรษ 2520 เป็นทศวรรษที่สังคมไทยเผชิญแรงสั่นสะเทือนจากวิกฤตทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดและเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบไปทั่ว ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเผชิญกระแสโลกาภิวัตน์ในยุคแรกที่เริ่มด้วยเช่นกัน สังคมไทยมิอาจหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจในระบบเศรษฐกิจแบบมหภาค เชื่อมต่อกับนานาชาติ การเป็นเมืองพัฒนาให้เป็นจุดแข่งขันถึงความทันสมัย ทั้งหมดส่งผลต่อสภาพวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนไปสู่สังคมสมัยใหม่ ซึ่งเกี่ยวพันกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยมีตลาดหุ้นเป็นตัวชี้เป็นชี้ตาย 

เงินมิใช่เป็นเพียงปัจจัยที่ใช้ซื้อขายกันเท่านั้น แต่เงินกลายเป็นเครื่องมือในการแข่งขัน ฟาดฟันกันส่งผลต่อความสุขและความทุกข์ของตัวละคร ยุคนี้เป็นยุคที่เกิด ‘ธนราชัน’ ขึ้นในสังคมไทย เจ้าพ่อการเงิน ผู้สามารถ ‘ปั่น’ ให้คู่ต่อสู้ต้องพินาศล้มละลายในพริบตาได้ วิชาว่าด้วยการเงินกลายเป็นวิชาซึ่งบรรจุไว้ในหลักสูตรแทบทุกมหาวิทยาลัย เป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ และกลายเป็นคู่มือของคนทันสมัยในทศวรรษดังกล่าว

ตระกูลเลิศวรา ซึ่งเป็นตระกูลของตัวละครเอกในนวนิยาย น่าจะเป็นภาพแทนของตระกูลที่มีธุรกิจหลากหลาย ครอบคลุมไปทั่วประเทศ ติดอันดับมหาเศรษฐีในเมืองไทย เดิมทีพวกเขาทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา และเป็นผู้ผูกขาด โดยมีเพียงประสบการณ์และโอกาสเป็นเครื่องมืออันทรงพลังก็สามารถกำจัดคู่ต่อสู้ได้ แต่มาบัดนี้พวกเขาต้องขับเคี่ยวกับคู่แข่งทางธุรกิจที่ต้องใช้ไหวพริบเชือดเฉือนเพื่อรักษาฐานอำนาจเงินของตนไว้ให้ยั่งยืนสืบไป 

‘ว.วินิจฉัยกุล’ ได้ฉายภาพให้เห็นว่าคนในยุคที่ยึดถือเงินเป็นใหญ่นั้น พร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ แต่คู่ต่อสู้ใดๆ ก็ไม่ร้ายเท่าคนในตระกูลเอง ตัวละครอย่างอังกาบ เลิศวรา เศรษฐินีที่ต่อสู้บากบั่นสร้างธุรกิจของครอบครัวมาอย่างยากลำบาก แม้มีลูกโตเป็นหนุ่มสาวแล้ว แต่ก็มิอาจวางมือได้ เธอยังคงกุมบังเหียนธุรกิจและชี้เป็นชี้ตายให้ลูกแต่ละคนต้องดำเนินชีวิตไปในทางที่เธอต้องการ

เอริน ตัวละครเอกของเรื่อง แต่งงานกับอะคร้าว บุตรชายคนโตของอังกาบ ซึ่งอังกาบไว้วางใจมอบหมายให้ดูแลธุรกิจของเลิศวรา เธอแต่งงานกับเขา โดยไม่รู้ว่าอะคร้าวยังไม่ได้หย่าขาดจากลายทอง หญิงแกร่งแห่งแวดวงการการเงินการธนาคาร เมื่อไม่สามารถร่วมชีวิตกับอะคร้าวได้ ลายทองจึงออกไปดำเนินธุรกิจของตน แต่ยังคงเก็บความอาฆาตแค้นไว้ฝังใจและรอคอยเอาคืนตระกูลเลิศวราให้พินาศด้วยมือเธอ ดังนั้นเมื่อเอรินเข้ามาแทนที่ ลายทองจึงมิอาจนิ่งเฉยได้ โดยมีกานตา น้องสาวของอะคร้าวผลักดันและร่วมมือ เอรินจึงจำเป็นต้องสู้เพื่อปกป้องตัวเองและผลประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกชายของเธอควรได้ ยิ่งเมื่อสามีของเธอตาย เอรินก็ยิ่งต้องต่อสู้ และถูกผลักเข้าสู่สมรภูมิที่เธอเรียกว่า ‘สงครามเงิน’ อย่างเต็มตัว 

เอรินเป็นตัวละครที่ ‘ว.วินิจฉัยกุล’ ได้สร้างบุคลิกลักษณะของนางเอกในนวนิยายไทยแบบใหม่ คือไม่ใช่สาวน้อยไร้เดียงสา ยอมจำนน และมีความอดทนเป็นเลิศอีกต่อไป แต่เป็นตัวละครหญิงที่พร้อมจะเป็นช้างเท้าหน้า และต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของผู้หญิง เมีย และแม่ โชคดีที่เธอยังมีพันธุม หรือแพน เพื่อนในวัยเด็กที่มีความรู้สึกดีๆ กับเธอมาตลอดและคอยช่วยเหลือให้กำลังใจเธอ 

‘ว.วินิจฉัยกุล’นำเสนอเรื่องซับซ้อน ผ่านความคุ้นชินของผู้อ่านไทย นั่นก็คือ เอาปัญหาครอบครัว ความรัก ความเป็นแม่ ความโลภ อันเป็นประเด็นพื้นฐานที่มีปรากฏในนวนิยายไทยมาผสานเข้ากับเรื่องการเงินและธุรกิจสมัยใหม่ ผู้ประพันธ์ชี้ให้เห็นว่า ‘เงิน’ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ได้กลายเป็นอาวุธร้ายทำลาย ‘ความรัก’ และ ‘ครอบครัว’ อีกทั้งผู้ประพันธ์ยังเติม ‘ความหวาน’ ของตัวละครเอรินกับพันธุมให้ผู้อ่านได้อมยิ้มและไม่เสียศรัทธาในความรักเป็นระยะๆ 

ไม่น่าเชื่อว่า อีก 10 ปีถัดมา สังคมไทยต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เสมือนกับปูทางให้เห็นว่าตัวละครในนวนิยายสงครามเงินซึ่งห้ำหั่น แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพียงเพื่อได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะนั้น กลายเป็นเชื้อเพลิงร้ายให้ไฟเศรษฐกิจเผาทำลายสังคมไทยในวงกว้าง 

ความวิเศษของผู้ประพันธ์ก็คือความสามารถอันเอกอุในการอ่านปรากฏการณ์ของสังคม และชี้แนะแนวทางออกให้แก่สังคมผ่านวรรณศิลป์นั้น สมกับที่ ‘ว.วินิจฉัยกุล’ ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติของไทย

ขอคารวะ


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ

ภาพ: Amarintv

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!