วานวาสนา นิทานจักรๆ วงศ์ๆ ในสื่อสมัยใหม่

-

นวนิยายเรื่องวานวาสนา เป็นอีกหนึ่งผลงานที่จะต้องจารึกไว้ในประวัติวรรณกรรมไทย เป็นนวนิยายของสาวน้อยวัย 17 ปี ผู้ใช้นามปากกาว่า “ร่มเกศ” นวนิยายของเธอได้รับคัดเลือกจากโครงการวันอ่านเอา ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างสถานีโทรทัศน์ช่องวัน กับสำนักพิมพ์อ่านเอา และได้รับการผลิตเป็นละครโทรทัศน์เมื่อเธอมีอายุ 18 ปี

อายุน้อยของผู้ประพันธ์เป็นเพียงตัวเลขที่มิอาจนำมายกย่องได้ เนื่องจากในปัจจุบันมีเยาวชนจำนวนมากเขียนนวนิยายออนไลน์ลงในแอปพลิเคชัน แต่ความสำเร็จในฐานะนักเขียนต่างหากที่แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์สำคัญนี้  ที่น่าสนใจก็คือ สาวน้อยวัยเพียง 17 ปี ควรจะเขียนเรื่องแนวฟีลกู๊ด แนวรักใสๆ นวนิยายวาย หรือแนวจีนโบราณ อย่างที่ได้รับความนิยมกันอยู่ แต่ “ร่มเกศ” กลับเขียนนวนิยายแนวพีเรียดย้อนยุค เล่าเรื่องราวของครอบครัวชั้นสูงที่ร่ำรวยอยู่บนกองเงินกองทอง สืบเชื้อสายราชนิกุลเป็นที่นับหน้าถือตาของคนในสังคม แต่ทว่ากลับหาความสุขมิได้

วานวาสนาเป็นนวนิยายที่อาจเรียกว่า “น้ำเน่า” ได้เต็มปาก “ร่มเกศ” ผูกเรื่องให้สูตรน้ำเน่าของไทยมาเรียงร้อยต่อเนื่องกันอย่างลงตัว ประหนึ่งว่าเธอรวมมิตรสูตรสำเร็จของน้ำเน่าไทยมาไว้ในบทประพันธ์เรื่องนี้ และเมื่อได้รับการผลิตเป็นละครโทรทัศน์ก็ถูกเติมเต็มด้วยการแต่งแต้มสีสันให้น่าติดตามยิ่งขึ้น

                เรื่องราวในนวนิยายวานวาสนา มีลักษณะการดัดแปลงและใช้สูตรการดำเนินเรื่องแบบ “นิทานจักรๆ วงศ์ๆ” ในอดีตของไทย เริ่มเรื่องด้วยการใช้ขนบของตอนสำคัญของนิทาน คือกำเนิดและการพลัดพรากออกจากบ้านเมือง ชะตากรรมอันเลวร้ายของการแย่งชิงทรัพย์สมบัติและความต้องการเป็นใหญ่ในบ้าน ไม่ต่างจากความขัดแย้งของมเหสีเอกกับบรรดานางสนมริษยาที่หมายจะช่วงชิงอำนาจ โดยมีความรักของพระราชาเป็นเดิมพัน ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อ “โชค” กับ “ชายภาส” กำเนิดขึ้น เรื่องวุ่นวายก็เกิดขึ้นตามมา ส่งผลให้พี่น้องต้องแยกจากกัน ชายภาสยังสุขสบายอยู่ในวัง ส่วนโชคต้องเผชิญชะตากรรมทุกข์ยาก โดยไม่รู้กำเนิดที่แท้จริงของตนว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร

                ตัวเอกในนิทานหลายเรื่องของไทยมักมีกำเนิดอันคลุมเครือ เพราะต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ แต่ด้วย “วาสนา” ที่สร้างสมมาแต่อดีตชาติก็ทำให้ได้กลับสู่บ้านเมืองและอ้อมอกพ่อแม่ของตนในภายหลัง ส่วนคนร้ายผู้ช่วงชิงหรือก่อเหตุให้เจ้าชาย-เจ้าหญิงต้องพลัดพรากออกจากเมืองก็ได้รับการลงโทษในบั้นปลาย ขาดแค่เหตุผลที่จะให้แก่ตัวละครเท่านั้น ว่าที่มีชะตากรรมเช่นนี้ เป็นเพราะผลกรรมจากชาติภพก่อน  ชีวิตของโชค ซึ่งต้องเผชิญการดูถูกดูหมิ่น ยากจน อดอยาก ทำงานหนัก ก็มิต่างจากตัวละครในนิทานที่ต้องเผชิญอุปสรรคและศัตรูตัวร้ายในป่าซึ่งตัวละครต้องเดินทางเร่ร่อนแสวงหาบางสิ่งนั่นเอง

                สูตรสำเร็จของนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ “อนุภาคการซ่อนตัว” ตัวละครมักซ่อนตัวอยู่ในสถานภาพและบทบาทต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากชาติกำเนิดอันควรจะเป็น ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ดังที่ โชค ทายาทราชนิกุลหนุ่ม ต้องซ่อนตัวอยู่ในร่างของชายผู้สิ้นไร้ ยากจน มีสมบัติติดตัวเพียงประการเดียวเท่านั้นคือ “ความดี” ที่เป็นเสมือนเกราะกำบังภัยให้เขา บางช่วงชีวิตเขาต้องซ่อนตัวอยู่ในร่างของคนใบ้เพื่อปกปิดอะไรบางอย่าง ส่วนตัวละครที่ชื่อมนัส ซึ่งเป็นเสมือนกุญแจที่จะเปิดเผยเรื่องราวสำคัญ ก็ซ่อนตัวอยู่ในชื่อหลง มีความจำเสื่อม จำเหตุการณ์อะไรไม่ได้ ทำให้สถานภาพและบทบาทของตัวละครต้องเปลี่ยนไปจากเดิม

                อนุภาคสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือตำหนิหรือของวิเศษติดตัว เพื่อยืนยันให้รู้ “ตัวตน” ที่แท้จริงของตัวละคร เช่น โสนน้อยเรือนงาม ถือกำเนิดมาพร้อมกับเรือนงาม ดังนั้นเรือนงามจึงแสดงให้เห็นตัวตนที่ยืนยันถึงชาติกำเนิดได้ ตัวละครในนิทานหลายๆ เรื่องก็มักมีตำหนิ มีร่างกายที่พิเศษบางประการที่ช่วยยืนยันให้กลับคืนสู่สถานภาพเดิม เมื่อนิทานเหล่านั้นได้พัฒนามาเป็นนิยายสมัยใหม่ ก็เปลี่ยนเป็นการสร้างตำหนิบนร่างกายให้แก่ตัวละคร เช่น ไฝ ปาน หรือมีของติดตัวเพื่อยืนยันชาติกำเนิดดังกล่าว วานวาสนาก็สร้างให้ตัวละครมีสร้อยประจำตระกูลติดตัว และสร้อยนี้ก็มักมีชะตากรรมเช่นเดียวกับที่ตัวละครสำคัญประสบอยู่ คือพลัดพรากจากโชค ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง

เนื้อหาของวานวาสนา ดำเนินรอยตามนิทานจักรๆ วงศ์ๆ หลายประการ เช่น การที่ตัวเอกต้องอยู่ท่ามกลางศัตรูมากมาย แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือหรือรอดพ้นมาได้ด้วยความดี หรือประเด็นความรักระหว่าง ม.ร.ว. เพชราวสีกับโชค ก็คือรักต่างชนชั้น แต่ไม่อาจรักกันได้ เนื่องจากความแตกต่างเรื่องชาติกำเนิดและฐานะทางเศรษฐกิจนั่นเอง

                ความสำเร็จของวานวาสนาคือการสร้างเรื่องเล่าที่มีรสชาติแบบไทยๆ เป็นรสชาติซึ่งผสานกับเรื่องราวที่ฝังอยู่ในความทรงจำของผู้เสพชาวไทยมานับร้อยๆ ปี “ร่มเกศ” อาจไม่เคยเทียบเคียงนิยายตนเองกับสูตรนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ด้วยซ้ำ แต่กลับดำเนินรอยตามได้อย่างลงตัวและน่าสนใจยิ่ง สาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการซึมซับทางวัฒนธรรมที่ได้รับจากสื่อต่างๆ มาโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง

ความย้อนแย้งระหว่างผู้เสพกับผู้สร้างงานวรรณศิลป์เป็นประเด็นที่น่านำมาพูดถึง ในบริบทสังคมที่ต่างก็เรียกร้องความทันสมัย และต้องการให้เรื่องน้ำเน่าไทยหมดไปจากบรรณพิภพ มีถ้อยคำเย้ยหยันนานา ซึ่งสรุปลงตัวที่เชย ไม่มีคุณค่าเพียงพอสำหรับโลกสมัยใหม่ แต่ช่องวันกลับหยิบเรื่องนี้มาทำละครและสร้างให้มีรสชาติชวนติดตาม อาจเป็นเพราะตระหนักว่าคนดูส่วนใหญ่ยังนิยมเรื่องราวและรสชาติแบบไทยๆ ที่ดำเนินสืบเนื่องกันมานับร้อยปี จึงสร้างนิยายเรื่องนี้เป็นละครโทรทัศน์ และต้องการดึงคนดูกลุ่มใหม่ให้กลับมาเสพงานเก่าด้วย เป็นการขยายฐานผู้ชมให้กว้างมากขึ้น

                ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสำเร็จของวานวาสนาก็คือ การสะท้อนเรื่องราว “ความเป็นไทย” ซึ่งมิใช่รูปแบบทางวัฒนธรรม แต่เป็นวิถีชีวิตของคนไทยที่ยังผูกติดชะตากรรม การใช้ความดีเอาชนะความชั่วและอุปสรรคต่างๆ การถวิลหาชาติกำเนิด และความเป็นครอบครัว ซึ่งบางครั้งโลกสมัยใหม่มิสามารถชี้ทางออกได้ นอกจาก “วานวาสนา” ช่วยเท่านั้น


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ

ภาพ: https://www.facebook.com/one31Thailand

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!