ดอกไม้ไหว้ครู

-

อนึ่งข้าคำนับน้อม                                      ต่อพระครูผู้การุญ
โอบเอื้อและเจือจุน                                          อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ                                 ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน                                             ขยายอรรถให้ชัดเจน

จิตมากด้วยเมตตา                                    และกรุณา บ เอียงเอน

เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์                              ให้ฉลาดและแหลมคม

ฯลฯ

กระผมเชื่อว่าชาวเราหลายท่านคงคุ้นเคยกับบทสวดมนต์ทำนองสรภัญญะที่เคยใช้สวดในโรงเรียนมาตั้งแต่ยังอยู่ในชั้นประถมและมัธยม บทที่คัดมานี้เป็นบทสรรเสริญคุณครูอาจารย์ซึ่งเป็นส่วนท้ายของบทสรรเสริญคุณานุคุณที่เริ่มต้นด้วยบทสรรเสริญพระพุทธคุณว่า “องค์ใดพระสัมพุทธ  สุวิสุทธสันดาน”

ผู้แต่งบทสรรเสริญคุณานุคุณดังกล่าวคือ พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดีพิริยพาหะ (น้อย  อาจารยางกูร) ปูชนียาจารย์ผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อการศึกษาไทยสมัยแรกเริ่มปฏิรูปในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เกิดเมื่อพุทธศักราช 2365 ที่บ้านคลองโสธร แขวงเมืองฉะเชิงเทรา ครั้นเจริญวัยได้เข้ามาศึกษาในพระนคร บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสระเกศ ได้เล่าเรียนในสำนักอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายสำนัก ในรัชกาลที่ 3 เมื่ออุปสมบทแล้ว สอบพระปริยัติธรรมสนามหลวงได้เปรียญธรรม 7 ประโยค ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นพระราชาคณะที่พระประสิทธิสุตคุณ เมื่อพุทธศักราช 2395

ปีรุ่งขึ้นถวายพระพรลาสิกขาบทเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้สอยงานด้านหนังสือ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนประสิทธิอักษรสาตร ถึงรัชกาลที่ 5 เป็นขุนสารประเสริฐ ปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางรากฐานปฏิรูปการศึกษาไทยมาตั้งแต่เริ่มรัชกาล ขุนสารประเสริฐ (น้อย) ได้คิดแต่ง “แบบสอนหนังสือไทย” ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรวม 5 เรื่อง คือ มูลบทบรรพกิจ วาหะนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน และพิศาลการันต์ โปรดเกล้าฯ ให้ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง สำหรับเป็นแบบในการเล่าเรียนหนังสือไทย จากผลงานดังกล่าวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสารประเสริฐ

ตอนต้นของหนังสือมูลบทบรรพกิจมีโคลงนำเรื่อง อธิบายความเป็นมาของหนังสือว่า

 

๏ หลวงสารประเสริฐน้อย                     นามเดิม

คิดจัดจำแนกเติม                                      ต่อตั้ง

ใดพร่องปราชเชิญเสริม                             แซมใส่  เทอญพ่อ

ต้นแต่นโมทั้ง                                             หมู่ไม้เอกโท

๏ ระบิลระบอบนี้                                  นามสฤษดิ์

มูลบทบรรพกิจ                                          ประกอบถ้อย

สำหรับฝึกสอนศิษย์                                   แรกเริ่ม  เรียนฤๅ

จงพ่อหนูน้อยน้อย                                     เล่าอ้ออ่านจำ

ต่อมาท่านได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ และโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวัง ท่านได้คิดหนังสือแบบเรียนไทยเพิ่มขึ้นอีกหลายเรื่อง ได้แก่ ไวพจนพิจารณ อนันตะวิภาคย เขมรากษรมาลา นิติสารสาธก ปกิรณำพจนาตถ์ พรรณพฤกษา และสัตวาภิธาน

พุทธศักราช 2425 โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร ต่อมาในพุทธศักราช 2426 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (ต่อมาคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ออกผนวช ประทับจำพรรษาที่วัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน ทรงเปิดสำนักเรียนสอนเด็ก ๆ ชาวชนบทขึ้นที่พระอารามนั้น มีพระดำริว่า บทสวดมนต์ก่อนเล่าเรียนของเด็กที่ใช้กันมาแต่เดิมแต่งเป็นภาษาบาลี เด็กท่องจำได้ยากและไม่เข้าใจความหมาย จึงทรงมีหนังสือขอให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) แต่งบทสวดมนต์เป็นภาษาไทยส่งขึ้นไปถวายเพื่อให้เด็กในสำนักเรียนวัดนิเวศธรรมประวัติใช้เป็นสำนักแรก ครั้นลาผนวชกลับมารับราชการเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ จึงทรงกำหนดให้ใช้บทสรรเสริญคุณานุคุณดังกล่าวในโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในพระนครและหัวเมืองซึ่งยังคงใช้สืบทอดแพร่หลายมาจนปัจจุบัน

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เป็นพระอาจารย์สอนหนังสือเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ทั้งยังได้รับสมญานามว่าเป็น “ศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทย”

พุทธศักราช 2564 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศเชิดชูเกียรติให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เป็นบุคคลสำคัญของโลก


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี / เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์  ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!