ค้นหาเสียงให้รถยนต์ไฟฟ้า

-

รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกวันเพราะใช้งานได้ดีเหมือนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยการเผาไหม้น้ำมันหรือก๊าซ อีกทั้งประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และแบตเตอรี่ก็มีราคาลดลงมาก อย่างเดียวที่เป็นปัญหาก็คือเสียงเครื่องยนต์ที่เบาเกินไปจนอาจเป็นอันตรายแก่คนเดินถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บกพร่องด้านการเห็นและได้ยิน ผู้ขับขี่จักรยานและมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ  วิศวกรรถยนต์จึงพยายามแก้ไขเรื่องเสียงกันอย่างแข็งขัน

เรื่องเสียงกับรถยนต์นั้นเกี่ยวพันกันมานานแล้ว มีความพยายามที่จะสร้างเอกลักษณ์ของรถยนต์แต่ละยี่ห้อด้วยเสียงเครื่องยนต์ เเละเสียงที่ออกมาเมื่อรถแล่นเพื่อสร้างความประทับใจโดยสื่อความมีประสิทธิภาพ ความคล่องตัว ความอลังการ ฯลฯ

ถ้ารถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยเสียงที่เงียบเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ถนนซึ่งแต่เดิมอาศัยเสียงเครื่องยนต์เป็นสิ่งเตือนภัย เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.2020 ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาเริ่มใช้กฎหมายกลางที่มีผลบังคับทั่วประเทศให้รถยนต์ไฟฟ้ามีเสียงที่สร้างขึ้นประกอบการขับเคลื่อนในขณะมีความเร็วต่ำและหยุดอยู่กับที่ เสียงต้องดังพอขณะเร่งความเร็วและขณะวิ่งเพื่อให้สามารถเตือนคนเดินถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นวิศวกรของบริษัทต่างๆ ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจึงแข่งขันกันหาเสียงที่เหมาะสมมาใช้

บริษัทรถยนต์ลิงคอล์นจ้างนักดนตรีจากวงออร์เคสตราให้หาเสียงเตือนที่ฟังแล้วรื่นหูสำหรับรถเอสยูวีรุ่นล่าสุด บีเอ็มดับเบิลยูก็ไม่น้อยหนา จ้างนักดนตรีมีชื่อของโลกสร้างเสียงแบบซาวด์แทร็กในภาพยนตร์ประเภทตื่นเต้น ส่วนวอลโวใช้เสียงกิ่งไม้หักเป็นเสียงคลิกเมื่อยกสัญญาณเลี้ยวของรถยนต์ไฟฟ้าเอสยูวีรุ่นใหม่สุด

อย่างไรก็ดี เรื่องไม่ง่ายดังที่คิดแต่แรกเพราะเสียงที่ออกมามีลักษณะแตกต่างกันยามรถวิ่งอยู่ในเขตเมืองที่มีสารพัดเสียง ยามวิ่งในชนบท ยามวิ่งช้าและเร็วที่มีเสียงยางบดกับถนน ฯลฯ การออกแบบเสียงจึงต้องคำนึงถึงคลื่นความถี่ของเสียง ตลอดจนความดังของเสียงในสถานการณ์ต่างๆ

 

 

สถาบันวิจัยวิศวกรรมรถยนต์ระหว่างประเทศจึงเป็นตัวหลักในการออกแบบเสียงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยมีงานวิจัยอย่างกว้างขวาง ในปี 2018 มีการทดลองให้ผู้ร่วมทดสอบฟังเสียงแต่ละแบบที่อัดเทปมาจากจุดที่นั่งคนขับ จากคนเดินถนนใกล้รถที่ระดับความเร็วต่างๆ กัน และประเมินว่ารู้สึกอย่างใด

งานวิจัยในปี 2019 ถามคน 8 คน ซึ่งเป็นคนสายตาพิการ 3 คน และคนปกติที่มีผ้าปิดตา 5 คน ให้กดปุ่มเมื่อได้ยินเสียงรถยนต์วิ่งเข้ามาใกล้ ส่วนรถยนต์ที่ทดลองก็มีลำโพงขยายเสียงที่ปรับระดับเสียงได้ การทดลองพบว่าเสียงจะก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อนำสถานการณ์นอกรถยนต์มาพิจารณาด้วย เช่น ในตอนกลางคืนเสียงต้องดังพอจะทำให้ตื่นตัว ในสถานที่แออัดเสียงต้องดังเป็นพิเศษ ฯลฯ เสียงจากรถยนต์ไม่ควรเป็นเสียงเดียวสำหรับทุกสถานการณ์ ผลจากงานวิจัยนี้ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องปรับความเข้าใจใหม่

รถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพียงบริษัทเจเนอรัลมอเตอร์สของสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็ตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 20 รุ่น ก่อนถึงปี 2023 การแข่งขันค้นหาเสียงที่ใช้ประจำรถจึงเข้มข้นเพราะจะต้องเหมาะสมกับทุกสถานการณ์เพื่อให้ได้ผลในด้านความปลอดภัย อีกทั้งระรื่นหู ถูกใจผู้ใช้ และผู้อาจเป็นลูกค้าในอนาคตด้วย

คนทั่วไปอาจคิดว่าการค้นหาเสียงเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของรถไฟฟ้ายี่ห้อต่างๆ น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ซับซ้อน แต่เมื่อมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์จึงรู้ว่ามีอีกหลายแง่มุมให้คิด ต่อไปนี้เมื่อคุณได้ยินเสียงสัญญาณจากการนั่งรถยนต์ไฟฟ้าหรือเดินอยู่บนถนนใกล้รถ คงจะรู้สึกเคารพเสียงที่ได้ยินมากขึ้นกระมัง


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!