วินเชนโซ กาซาโน เป็นทนายชาวเกาหลีที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยครอบครัวอุปถัมภ์ที่เป็นตระกูลมาเฟียในอิตาลี เขาทำงานให้แก่ครอบครัวในฐานะทนาย และยังมีบทบาทเป็นคอนซีลเยเร (Consigliere) ซึ่งเป็นเสมือนที่ปรึกษาหรือมือขวาของหัวหน้าครอบครัวมาเฟีย
ดังนั้นหลายๆ งานที่วินเชนโซทำจึงไม่ใช่แค่ขึ้นศาลหรือทำงานตามกรอบกฎหมายเท่านั้น แต่รวมถึงการต่อรองเจรจากับมาเฟียตระกูลอื่น ใช้กลอุบายนอกกฎหมาย (เช่น เจรจาไม่ลงรอยแล้วโดนข่มขู่ก็จัดการเผาไร่ไวน์ของศัตรู) รวมถึงต้องเตรียมพร้อมที่จะหยิบปืนมายิงใส่คนปองร้าย
เกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้วินเชนโซต้องลี้ภัยกลับเกาหลี เขาไม่มีครอบครัวอยู่ที่นั่น แต่มี “ทองคำ” จำนวนมหาศาลที่เขารู้ว่าฝังอยู่ใต้ตึกชื่อ คึมกาพลาซ่า
ภารกิจแรกในเกาหลีของวินเชนโซคือหาทางเอาทองคำที่ซ่อนนั้นออกมา แต่ปัญหาคือ ผู้เช่าคึมกาพลาซ่าแต่ละคนต่างมีบุคลิกประหลาดๆ ไม่ยอมย้ายออก แถมทองคำยังฝังอยู่ใต้วัดซึ่งอาศัยพื้นที่ห้องเช่าในคึมกาพลาซ่า จึงเป็นการยากยิ่งที่คนจิตใจดีอย่างวินเชนโซจะไปบีบบังคับพระ
ระหว่างหาลู่ทางเข้าไปยังที่ซ่อนทอง วินเชนโซก็บังเอิญต้องพัวพันกับฮงชายอง ทนายสาวที่มีบุคลิกโดดเด่น เซี้ยวซ่าไม่กลัวใคร สถานการณ์บังคับให้ทั้งคู่ต้องรับมือกลุ่มบาเบลซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศที่ประกอบธุรกิจผลิตยา, สารเคมี, อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนดำเนินการอย่างไร้จริยธรรม เกี่ยวข้องกับการทุจริตและอาชญากรรม
วินเชนโซมองว่าตนเองเป็นตัวร้าย แต่เมื่อเขาต้องเผชิญกลุ่มบาเบลที่ชั่วร้ายกว่า และเห็นว่ามีทนายดีๆ ที่พยายามใช้กฎหมายเข้าจัดการคนผิดกฎหมาย แต่กลับถูกกลุ่มบาเบลเล่นงานนอกเกมด้วยวิธีการสกปรก วินเชนโซจึงรู้แล้วว่า เขาไม่สามารถใช้กฎหมายจัดการได้อย่างตรงไปตรงมา
จึงเกิดการร่วมมือกันระหว่างวินเชนโซผู้จัดเจนวิธีการแบบมาเฟียอิตาลี กับทนายฮงชายองที่ใช้กฎหมายเข้าจัดการ โดยมีกลุ่มผู้เช่าคึมกาพลาซ่าเป็นมิตรสหายที่คอยหนุนหลัง
Vincenzo เป็นซีรีส์ที่ดูแค่ตัวอย่างอาจเข้าใจผิดว่าเป็นซีรีส์มาเฟียแนวดราม่า เข้มข้น หักเหลี่ยมเฉือนคม แต่ปรากฏว่าซีรีส์จริงออกแนวคอเมดี้ หรือถ้าจะให้เห็นภาพชัดก็คือตลกโปกฮา ผสมกับดราม่าแอ๊คชั่นที่พอถึงฉากโหดก็โหดจริงเลือดนองจริง และหลายฉากก็มีความเหนือจริงแบบแอนิเมชั่นด้วย
ถ้าคุณเคยดูซีรีส์ The Fiery Priest ที่กวาดรางวัลมามากมายในปีที่ออกฉาย ก็จะพบว่าทั้งสองเรื่องแทบใช้สูตรเดียวกัน (เพียงแต่เนื้อหายังไม่ดาร์คเท่า Vincenzo) แคแรกเตอร์ตัวละครหลายคนก็มีบุคลิกคล้ายกัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนางเอกทั้ง 2 เรื่องที่ราวกับถอดแบบกันมา) ทั้งนี้เพราะคนเขียนบทเป็นคนเดียวกันคือ พัคแจบอม
The Fiery Priest เล่าเรื่องบาทหลวงคิมแฮอิลซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง ครั้งหนึ่งเขาตัดสินใจผิดด้วยการโยนระเบิดเข้าไปตามคำสั่งหัวหน้าเพราะเข้าใจว่าทำลายรังกบดานศัตรู แต่สถานที่นั้นกลับมีเด็กกลุ่มหนึ่งซ่อนตัวอยู่ เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นตราบาปจนเขาออกจากงานแล้วหันหน้าเข้าหาศาสนา
แต่ก็เหมือนฟ้าลิขิตให้เขาหนีไม่พ้นกลุ่มคนชั่วร้าย เมืองกูดัมที่เขาย้ายไปอยู่กำลังถูกปกครองโดยเครือข่ายของนักการเมืองโกงกิน+หัวหน้าอัยการ+นายตำรวจใหญ่ประจำพื้นที่+มาเฟีย หัวหน้าของหน่วยงานราชการสำคัญๆ ที่ควรรักษาความยุติธรรมและปกป้องประชาชนกลายเป็นคนชั่วแล้วเอากฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือปกป้องพวกพ้อง
บาทหลวงจึงต้องสวมวิญญาณอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองผู้เชี่ยวชาญภาคสนาม ตามจัดการคนชั่วในเมือง โดยได้รับความร่วมมือจากพลเมืองของเมืองกูดัมที่ยังอยากให้บ้านเมืองตัวเองดีขึ้น คอยสันบสนุนบาทหลวงเพื่อสู้เครือข่ายอิทธิพล
โครงสร้างที่เหมือนกันระหว่าง Vincenzo กับ The Fiery Priest คือการที่พระเอกมีอดีตฝังใจว่ามือเคยเปื้อนเลือด (ฆ่าเด็กโดยไม่ตั้งใจ) และเป็นหน้าใหม่เข้ามาในชุมชนที่ชาวบ้านกำลังถูกกดขี่รังแกจาก “เครือข่ายมาเฟีย” ซึ่งประกอบด้วยมาเฟียตัวจริง จับมือข้าราชการของรัฐผู้มีอำนาจระดับสูง จนชาวบ้านหรือข้าราชการตัวเล็กๆ ไม่สามารถใช้กฎหมายเข้าต่อกรอย่างตรงไปตรงมา
ทนายฮงชายองใน Vincenzo กับอัยการพัคคยองซอนใน The Fiery Priest นอกจากถูกวาดภาพให้มีแคแรกเตอร์โปกฮาเซี้ยวซ่าคล้ายกัน ทั้งคู่ยังถูกคนเขียนบทกำหนดค่าศีลธรรมพื้นฐานให้ค่อนไปทางคิดถึงผลประโยชน์มากกว่าความถูกต้อง เป็นทาสของอำนาจเงินและชื่อเสียง ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนมายืนเคียงข้างประชาชนที่ถูกรังแก
ผู้เช่าคึมกาพลาซ่าที่คอยสนับสนุนวินเชนโซใน Vincenzo กับทีมผู้พิทักษ์เมืองกูดัมที่คอยสนับสนุนบาทหลวงใน The Fiery Priest ก็เป็นกลุ่มนักแสดงสมทบซึ่งทำหน้าที่คล้ายกันคือเสริมความตลกขบขัน ก่อนจะมาเปิดเผยภายหลังว่าแต่ละคนมีความลับเบื้องหลังที่สามารถช่วยเหลือพระเอกของเราได้
ด้วยลูกเล่นที่เล่าคล้ายแอนิเมชั่น ทั้งสองเรื่องจึงชวนให้คนดูคิดถึงหนังแนวซูเปอร์ฮีโร่ที่ฝ่ายตัวเอกมีความสามารถพิเศษ และทำตัวเสมือนศาลเตี้ยเพื่อจัดการคนชั่วร้ายที่กฎหมายไม่อาจแตะต้อง
เพียงแต่ Vincenzo คือการอัพเกรดหลายอย่างจาก The Fiery Priest ไม่ว่าจะในแง่ทุน งานสร้าง ฯลฯ ซึ่งออกมาดูอลังการกว่า ยิ่งใหญ่กว่า และในแง่ของความโหดเหี้ยมกับความมืดหม่นของตัวละครก็รุนแรงกว่า แต่จุดด้อยของ Vincenzo คือการเขียนบทให้วินเชนโซและพวกพ้องชนะศัตรูง่ายเกินไป คนดูแทบไม่ต้องลุ้นเอาใจช่วยนักในแต่ละด่านที่วินเชนโซเจอ เรียกได้ว่าตั้งแต่ต้นจนจบฝ่ายตัวร้ายดูจะมีดีแค่อย่างเดียวคือรวย
ความยุติธรรมที่อ่อนแอกับระบบมาเฟียที่แทรกซึมในทุกวงการ คือสิ่งซึ่งวินเชนโซพยายามพูดถึงตั้งแต่ตอนต้นจนจบเรื่อง
เขามองตัวเองว่าคือวายร้าย แต่ก็ยังอยากมีชีวิตในสังคมที่สงบสุข แต่เมื่อกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้อย่างเที่ยงธรรม แนวคิดของวินเชนโซที่เป็นตัวละครสีเทาคือจำเป็นต้องมีคนเข้ามาทำหน้าที่แบบศาลเตี้ยเพื่อเก็บกวาดกลุ่มคนที่เขาเรียกว่าขยะโดยวิธี “นอกกฎหมาย” และทำให้ทนายฮงชายองซึ่งตามวิชาชีพควรเชื่อมั่นกฎหมายยอมคล้อยตามวิธีการของเขา
นั่นจึงท้าทายจุดยืนคนดูที่เชื่อมั่นระบบว่าจะคล้อยตามแนวคิดของวินเชนโซหรือไม่ เพราะในซีรีส์เกาหลีเราจะเห็นการต่อสู้แบบที่ตัวเอกต่อกรกับ “เครือข่ายอำนาจ” อยู่หลายเรื่อง เช่น Stranger (หรือ Secret Forest) คู่พระนางมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย (อัยการ+ตำรวจ) เฉกเช่น Vincenzo ต้องรับมือเครือข่ายคอรัปชั่นที่เป็นการจับมือของคนมีอำนาจในภาครัฐ (อัยการ, ตำรวจ) กับเอกชน (นักธุรกิจ) เหมือนกัน แต่คู่พระนางใน Stranger เป็นตัวละครที่เชื่อมั่นการเคารพกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และพยายามเอาคนร้ายเข้ามารับโทษตามกรอบกติกาตั้งแต่ต้นจนจบ
ไม่ว่าคนดูจะมีจุดยืนข้างใด แต่อย่างน้อยก็คงเห็นตรงกันว่า ระบบที่ดีจะปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐผู้ซึ่งยังยึดมั่นกฎหมายให้ปกป้องประชาชนที่ถูกรังแก
แต่เมื่อระบบถูกทำลายกลายเป็นรูปแบบมาเฟียอย่างที่วินเชนโซว่า ก็ยากเหลือเกินที่ประชาชนจะคาดหวังว่าได้รับความยุติธรรมภายใต้การต่อสู้แบบตรงไปตรงมา แล้วผู้คนก็จะโหยหามาเฟียที่ดีกว่ามาจัดการมาเฟียคนเดิม
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou ,i_behind_you@yahoo.com)