@View Share Farm คือฟาร์มสเตย์ (farm stay) ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นของอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้พักผ่อนหย่อนใจแล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรซึ่งเป็นประโยชน์แก่การศึกษาดูงาน บริหารและดำเนินงานโดยกลุ่มคนพิการ ซึ่งนอกจากพวกเขาจะเพาะปลูกพืชผลแล้ว ยังต้องการเพาะปลูก “ความเชื่อมั่น” ให้แก่คนพิการคนอื่นๆ เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างอาชีพ ทั้งนี้ พงษ์เทพ อริยเดช ประธานกลุ่ม @View Share Farm เป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับสถานที่ดังกล่าว
จุดเริ่มต้นก่อนจะเป็น @View Share Farm
ย้อนไปเมื่อปี 2550 ประธานกลุ่มคนพิการทั้ง 32 อำเภอในจังหวัดนครราชสีมาได้ประชุมกัน เพื่อหารือว่าจะทำสิ่งใดเพื่อคนพิการกว่า 8 หมื่นคนในจังหวัดได้บ้าง ส่วนใหญ่คนพิการเหล่านั้นยังไม่ทราบถึงสิทธิต่างๆ ที่ตัวเองควรได้รับ จึงเกิด “โครงการสิทธิประโยชน์ของคนพิการ” ขึ้น เพื่อให้ความรู้ด้านสิทธิต่างๆ แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ทั้งเรื่องการรักษาอุปกรณ์ช่วยเหลือ การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก การรับผลประโยชน์เกี่ยวกับเงินกู้(ยืม)และการทำงาน ในปีต่อมาได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเรื่องการจัดตั้งศูนย์ซ่อมแซมอุปกรณ์ช่วยและกายอุปกรณ์ อาทิ วีลแชร์, แขนเทียม, ขาเทียม, วอล์กเกอร์ (ไม้เท้าสามขา) เพื่อช่วยเหลือด้านการเคลื่อนไหวร่างกายของคนพิการ
เมื่อโครงการให้ความรู้เรื่องสิทธิและการจัดตั้งซ่อมแซมอุปกรณ์ช่วยและกายอุปกรณ์ดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่น พงษ์เทพบอกว่า “หลังจากนั้นในช่วงปี 2557-2558 เราตั้งเป้าหมายเป็นเรื่องการทำงานและอาชีพของคนพิการ ซึ่งในขณะนั้น พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ฉบับปี 2550 ได้รับการปรับปรุงใหม่เป็นฉบับที่ 2 พ.ศ.2556 โดยเพิ่มมาตรา 35 เข้ามา หากสถานประกอบการไม่จ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ก็สามารถดำเนินการตามมาตรา 35 ได้ คือการให้สัมปทานหรือวิธีการพิเศษ สามารถเลือกแนวทางได้ 7 ประเภท คือการให้สัมปทาน การจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ การจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ การฝึกงาน การจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก การจัดให้มีบริการล่ามภาษามือ และการช่วยเหลืออื่นใด ประกอบกับในช่วงนั้นทางเราได้รู้จักกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมที่ต้องการต้นแบบการจ้างงานตามมาตรา 35 ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มคนพิการ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประธานกลุ่มคนพิการบางส่วนอยากเข้าร่วมเป็นต้นแบบด้วย จึงมาประชุมเพื่อหาแนวทาง พร้อมร่างโครงการเกษตรโดยกลุ่มคนพิการไปนำเสนอกับสถานประกอบการ บริษัทที่เห็นความเป็นไปได้ของโครงการจึงให้การสนับสนุน เป็นการจ้างงานตามมาตรา 35 ประเภทที่ 7 ให้ความช่วยเหลืออื่นใด แล้วทางกลุ่มก็ได้เริ่มดำเนินโครงการในปี 2559 เป็นต้นมา”
ด้านการหาพื้นที่ทำโครงการต้นแบบนั้น พงษ์เทพเล่าว่า “เราวางแผนกันว่าจะใช้พื้นที่ในอำเภอเมืองและอำเภอครบุรี แต่ทว่าโดนยกเลิกเสียก่อน เพราะเจ้าของพื้นที่ยังไม่เชื่อมั่นว่าพวกเราจะดำเนินงานให้สำเร็จได้ จุดนั้นทำให้เราได้รับอาสาจาก ‘พี่เอ๋’ สำเภา จงเยือกกลาง ซึ่งอยู่ในกลุ่ม ยอมให้เช่าพื้นที่กว่า 20 ไร่ บนเชิงเขาในอำเภอวังน้ำเขียว เพื่อนำมาทำเป็นฟาร์มเกษตรต้นแบบสำหรับคนพิการ พื้นที่นี้เคยเป็นป่าข้าวโพด ปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาก่อน ตอนแรกเราก็ยังคิดไม่ถึงหรอกครับ ว่ามันจะเป็น @View Share Farm อย่างทุกวันนี้ เราแค่คิดว่าต้องการเป็นต้นแบบให้เห็นว่าคนพิการก็ทำได้นะ”
อุปสรรคในการทำงาน
ในช่วงเริ่มต้น มีประธานคนพิการแต่ละพื้นที่สนใจร่วมเป็นต้นแบบด้วยทั้งหมด 18 คน ก็นัดหมายมาคุยกันว่าจะทำการเกษตรแบบไหนอย่างไรดี “เราเป็นคนพิการ มีความรู้เรื่องการเกษตรค่อนข้างน้อย บางคนแทบจะไม่มีเลย บางสถานประกอบการเลยอาจเกิดความกังวลว่าคนพิการคงทำอะไรมากไม่ได้ ทำแค่ไม่กี่ปีก็คงล้มเลิก คุณอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเขาจะทำได้ภายในปีสองปี คนทั่วไปอาจก้าวไปสองก้าวแล้ว แต่คนพิการยังไม่ทันได้ก้าวเลย มันต้องให้ระยะเวลาและโอกาสในการทำงานอย่างต่อเนื่อง 3-5 ปี หรือ 5-8 ปี ก็ได้ เพื่อให้คนพิการได้พิสูจน์ตัวเอง ดังนั้นสิ่งแรกที่เราต้องทำคือการ ‘เพาะปลูกความเชื่อมั่น’ ให้แต่ละคนในทีมเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในทีม แล้วทุกอย่างก็จะค่อยๆ ขับเคลื่อนไปได้ การสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าวจึงต้องมีการวางแผนดำเนินงานและทำงานกันอย่างต่อเนื่องทุกปี เมื่อวางแผนแล้ว เราก็ต้องพูดคุยให้สถานประกอบการรับรู้ด้วยว่าเรากำลังจะทำอะไร ทั้งหมดนี้เพื่อให้คนพิการได้ทำงานอย่างเต็มที่และมีรายได้ที่มั่นคง”
ในปีแรกของการเริ่มต้น ทางกลุ่มได้ทดลองปลูก “ข่าเหลือง” เป็นอย่างแรก เพราะเป็นพืชที่นิยมปลูกกันมากในช่วงนั้น เนื่องจากปลูกง่ายและขายได้ราคาดี แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ดิน สภาพแวดล้อม สภาพอากาศ ผลิตผลจึงขายได้เพียงครึ่งหนึ่งจากที่ปลูกทั้งหมด แต่ก็ถือว่ายังพอได้กำไร “เราได้ประชุมถึงแผนงานในปีต่อไป เราพบว่าในฟาร์มมีปัญหาเรื่องแหล่งเก็บน้ำ เนื่องจากสถานที่เป็นเชิงเขา ในปี 2560 เราจึงแก้ปัญหาด้วยโครงการพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ เจาะบาดาลลึก 80 เมตร แล้วใช้พลังงานจากระบบโซล่าร์เซลล์ช่วยดันน้ำขึ้นที่สูงมาเก็บไว้ในแทงก์น้ำขนาดใหญ่ อีกทั้งในปีเดียวกันนั้น @View Share Farm ได้เริ่มปลูกเมล่อนสองโรงเรือน โดยใช้ระบบโซล่าร์เซลล์ในการเก็บไฟและตั้งเวลา (ไทม์เมอร์) ในการจ่ายน้ำ” ประธานกลุ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ฟัง
การจัดสรรหน้าที่ภายในฟาร์ม
เมื่อถามถึงการจัดสรรหน้าที่ภายในฟาร์ม พงษ์เทพบอกว่า “ถ้าใครว่างก็จะผลัดกันเข้ามาดูแลภายในฟาร์มครับ เพราะคนพิการแต่ละคนไม่ได้ทำงานที่ฟาร์มอย่างเดียว แต่ละคนก็มีอาชีพของตัวเอง มีกิจการของเขา บางคนขายลูกชิ้น ทำงานราชการ เป็นช่างเสริมสวย อย่างที่กล่าวตั้งแต่ข้างต้นว่าการมาทำงานที่ @View Share Farm ร่วมกัน ก็เพื่อเป็นต้นแบบในมาตรา 35 ที่บริหารจัดการฟาร์มโดยทีมคนพิการ โดยมีความมุ่งหมายสำคัญคือต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้คนพิการคนอื่นๆ ได้เห็นว่าเขาก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
“ส่วนการแบ่งหน้าที่ภายในฟาร์มนั้น คนพิการแต่ละคนมีความพิการไม่เหมือนกัน เราก็ต้องดูว่าแต่ละคนทำอะไรได้บ้าง เราจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงานตรงนี้ว่าจะให้แต่ละคนทำหน้าที่ไหน บางคนคิดเลขเก่ง เราก็ให้เขามาเป็นการเงิน บางคนพูดให้ความรู้ได้ เราก็ให้เขาไปแนะนำสถานที่ คนที่รู้จักเทคโนโลยี ใช้คอมพิวเตอร์เป็น ใช้โทรศัพท์เก่ง เราก็ให้เขาถ่ายรูป อัพเดตโพสต์กิจกรรมในเฟซบุ๊ก เป็นต้น”
จากฟาร์มเพาะปลูกสู่เกษตรเชิงท่องเที่ยว
นอกจาก @View Share Farm ที่วังน้ำเขียวแล้ว เรายังเพิ่มพื้นที่ในอำเภออื่นๆ อย่าง “อำเภอพิมาย” และ “อำเภอโชคชัย” ด้วย โดยดำเนินงานทั้งสามที่ไปพร้อมกัน และในปี 2560 ทางกรรมการกลุ่ม @View Share Farm เลือกอำเภอวังน้ำเขียวเป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อเน้นดำเนินงานที่นี่เป็นหลัก ปี 2561 สถานประกอบการเล็งเห็นว่าวังน้ำเขียวสามารถจัดทำเป็น “ศูนย์การเรียนรู้” และ “เกษตรเชิงท่องเที่ยว” ได้ ดังนั้นจึงจัดสรรพื้นที่ภายในฟาร์มใหม่ แบ่งเป็นโซนต่างๆ โซนปลูกพืชผล เช่น กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า มะยงชิด เงาะ ลำไย กะท้อน มะละกอฮอลแลนด์ ผักหวานป่า โซนพืชไร่ ปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวหวาน มันสำปะหลัง มัลเบอร์รี่ และโรงเรือนเมล่อน ในฟาร์มปรับมาปลูกพืชแบบผสมผสานเพื่อให้ผลิตผลมีการหมุนเวียน และโซนสิ่งปลูกสร้าง เป็นส่วนออฟฟิศและที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว แบ่งที่พักเป็นเรือนไม้ กระท่อมไม้ไผ่ และลานกางเต็นท์ แล้วแต่ลูกค้าจะเลือกตามความชอบ นอกจากนั้นยังมีสระน้ำเล็กๆ ที่เด็กลงเล่นได้ มนุษย์ล้อก็ลงได้ มีสนามหญ้า ที่จอดรถ ห้องน้ำ ที่เก็บน้ำ ฯลฯ ล่าสุดในปี 2563 ที่ผ่านมามีการเพิ่มเติมอาคารแปรรูปเข้ามา เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยประสบปัญหาผลผลิตออกพร้อมกันจนขายไม่ทัน ทางกลุ่มจึงเล็งเห็นการแก้ปัญหาด้วยวิธีแปรรูป ผลไม้ที่นำมาแปรรูป ได้แก่ กล้วย มะเขือเทศแบบแช่อิ่มและอบแห้ง มัลเบอร์รี่สกัดเข้มข้น แบบพร้อมดื่ม และแยม เป็นต้น
“พื้นที่ต่างๆ ภายในฟาร์มนั้นพวกเราล้วนปรับปรุงให้คนธรรมดาทั่วไปและคนพิการเที่ยวชมได้ ซึ่งก็นับว่าเป็นความท้าทายในการทำงานเหมือนกัน เพราะพื้นที่ของ @View Share Farm เป็นเชิงเขา เราต้องทำการเกษตร ที่พัก และทุกอย่างบนเขา โจทย์หลักคือเราจะทำอย่างไรให้คนพิการและทุกคนเข้ามายังฟาร์มได้ ซึ่งเรื่องนี้เรามีเครือข่ายการทำงานเข้ามาช่วยเหลือให้คำปรึกษาแนะนำเพิ่มเติมครับ เมื่อได้หลักการมาแล้ว เราก็นำหลักการนั้นมาปรับใช้ให้พ้องกับความพิการที่เราเป็น ใช้หลักของเขาและหลักของเรามาประยุกต์ไว้ด้วยกัน”
พงษ์เทพบอกว่าทางกลุ่มได้รับความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน “อย่างระบบโซล่าร์เซลล์ ระบบน้ำ เราได้รับคำปรึกษาจากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) เรื่องแปลงผัก การวางแผนเพาะปลูก และการแปรรูป จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน การจัดการแผนการเงินจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 6 ผมต้องขอขอบคุณหลายหน่วยงานที่มาช่วยเหลือตรงนี้ด้วย”
ผลตอบรับจากลูกค้า
เมื่อ @View Share Farm เริ่มทำเกษตรเชิงท่องเที่ยว ก็มีกลุ่มลูกค้าเข้ามาเที่ยวชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ครอบครัว วัยเกษียณ และคนพิการ พงษ์เทพเล่าอย่างมีความสุขว่า “อย่างวัยรุ่นเขาจะชอบอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ วัยทำงานก็มาพักผ่อน ครอบครัวก็จะพาลูกหลานมาพักผ่อนและเรียนรู้ วัยเกษียณส่วนใหญ่จะมาเพื่อเรียนรู้เลย สอบถามขอความรู้ต่างๆ คนพิการจะเป็นตามที่เอ่ยมาข้างต้นทุกประการ ทั้งพักผ่อน อยากเรียนรู้ และอยากทำอะไรหลายๆ อย่าง หากคนทั่วไปอยากท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ คนพิการก็อยากไปเหมือนกัน ทว่าจะมีสักกี่พื้นที่ที่เขาไปได้ แต่ @View Share Farm เราคือพื้นที่สำหรับทุกคน ความตั้งใจของเราคืออยากให้ทุกคนเข้ามาแล้วมีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ ได้รับความรู้ต่างๆ กลับไป”
การทำงานร่วมกับชุมชน
คนพิการก็คือคนที่อยู่ในชุมชนเหมือนกับคนอื่นๆ พงษ์เทพจึงตั้งมั่นว่า เมื่อเราอยู่ในชุมชน เราก็ต้องทำงานร่วมกับคนในชุมชนด้วย จึงมีการจ้างงานทั้งผู้สูงวัยและเด็กนักเรียนที่ใช้เวลาว่างในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ให้มาช่วยงานในฟาร์ม ซึ่งนอกจากพวกเขาจะได้รับค่าจ้างแล้ว ยังได้รับความรู้กลับไปด้วย นอกเหนือจากนั้น นักเรียนที่เข้ามาทำงาน ยังได้ใกล้ชิดกับกลุ่มคนพิการ เราพยายามจะสื่อสารให้เขารู้ว่าคนพิการถึงจะทำบางสิ่งช้าไปบ้างแต่ก็ทำได้ เขาก็จะเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนพิการ มันก็จะไม่มีคำว่าภาระในสังคม ถ้าเราเรียนรู้และเข้าใจกันและกัน
วิกฤติจากโควิดและแผนการดำเนินงานในอนาคต
ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวและจำหน่ายผลผลิตตามสถานที่ต่างๆ ก็พลอยหยุดชะงักไปด้วย พงษ์เทพบอกว่า “จากที่คิดว่ากิจการกำลังจะไปได้เลย พอโควิดเข้ามาก็ส่งกระทบไปหมด แต่เราก็ต้องยอมรับสภาพครับ ใช้ช่วงเวลานั้นเก็บตัวทดลองการทำเมล่อนแปรรูป ทั้งแบบแช่อิ่มและอบแห้ง ศึกษาเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีว่าสิ่งไหนควรปรับปรุงแก้ไข ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ ได้อะไรเยอะแยะเลยจากวิกฤติครั้งนี้ จนสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย คนเริ่มกลับมาท่องเที่ยวได้แล้ว หลายทริปที่เข้ามาเยี่ยมชมก็ช่วยให้คำแนะนำเรื่องการปลูกผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น พุทรานมสด ซึ่งเราก็มองแนวทางในอนาคตถึงการทดลองปลูกและสร้างเอกลักษณ์ทำให้คนต้องนึกถึงฟาร์มเรา และต่อไปอาจมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าแปรรูปต่างๆ และขยายช่องทางจำหน่ายสู่โลกออนไลน์มากขึ้นด้วย”
พงษ์เทพปิดท้ายว่า “หากมีบริษัทใดต้องการพูดคุยขอคำปรึกษาเรื่องการใช้มาตรา 35 จ้างงานคนพิการ พวกเราก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือ เพราะหลายสิ่งที่พวกเราทำ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองหรือคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการสร้างต้นแบบเพื่อส่วนรวม ในทุกคนเห็นว่าคนพิการก็ทำได้ การทำงานกับคนพิการยังมีคำว่าเวทนาอยู่ แต่ถ้ามันลดความเหลื่อมล้ำลงได้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสร้างความเท่าเทียมและให้โอกาสคนพิการได้พิสูจน์ความสามารถก็คงดี”
จนถึงตอนนี้การเป็นต้นแบบในการสร้างอาชีพให้คนพิการของพวกเขายังคงดำเนินต่อไป ศักยภาพและการเติบโตของ @View Share Farm ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าความสามารถของพวกเขาไม่อาจถูกความพิการมาปิดกั้นไว้อีกต่อไป
ติดตาม @View Share Farm เพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/View-Share-Farm-102024257892234
คอลัมน์: ยุทธจักร ฅ.ฅน
เรื่อง: กัตติกา
ภาพ: @View Share Farm
All magazine พฤษภาคม 2564