“ศพนั้นลืมตาโพลง ลูกตาสีเขียวเรือง ๆ ผมสีน้ำตาล หน้าสีน้ำตาล ตัวผอมเห็นโครงเป็นซี่ ๆ ห้อยเอาหัวลงมาทำนองค้างคาว แต่เป็นค้างคาวตัวใหญ่ที่สุด เมื่อจับถูกตัวก็เย็นชืดเหนียวๆ เหมือนงู ปรากฏเหมือนหนึ่งว่าไม่มีชีวิต แต่หางซึ่งเหมือนหางแพะนั้นกระดิกได้”
นั่นเป็นลักษณะของเวตาลตามที่พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ หรือ น.ม.ส. ทรงอธิบายไว้ในต้นเรื่องนิทานเวตาล ซึ่งทรงแปลจากฉบับอังกฤษเป็นภาษาไทยเมื่อพุทธศักราช 2461 สำนวนแปลยอดเยี่ยมสมภูมินักปราชญ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สยามประเทศ
นิทานเวตาล เดิมเป็นวรรณคดีสันสกฤตมีชื่อว่าเวตาลปัจวิํศติ แปลว่า เรื่องราวของเวตาล 25 เรื่อง แต่งโดย ศิวทาส นักปราชญ์ชาวภารตเมื่อ 2500 ปีมาแล้ว เป็นเรื่องที่ชาวอินเดียรู้จักกันแพร่หลายมาแต่โบราณ เมื่ออังกฤษเข้ามามีอิทธิพลในอินเดียมีโอกาสเข้าถึงและศึกษาอารยธรรมอันล้ำลึกของภูมิภาคตะวันออก มีการนำความรู้ทางภารตวิทยาแปลเป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เซอร์ ริชาร์ด เบอร์ตัน ได้แปล เวตาลปัจวิํศติ ออกเป็นภาษาอังกฤษจำนวน 11 เรื่อง ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Vikrama and Vampire และมีปราชญ์ชาวยุโรปคนอื่นแปลนิทานดังกล่าวตีพิมพ์เผยแพร่ในยุโรปด้วยเช่นกัน
หนังสือนิทานเวตาลที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณทรงแปลนั้นมี 10 เรื่อง ทรงแปลจากฉบับของเซอร์ ริชาร์ด เบอร์ตัน ๙ เรื่องและจากฉบับของ ซี. เอช. ทอว์นีย์ 1 เรื่อง เมื่อนิทานเวตาลของ น.ม.ส. พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในพุทธศักราช 2461 นั้นได้รับความนิยมอย่างสูง ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในแวดวงหนังสือไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า คนไทยรู้จักนิทานเวตาลมาก่อนหน้านี้ช้านาน ดังปรากฏในต้นเรื่องลิลิตพระมงกุฎ ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งเมื่อครั้งเป็นหลวงสรวิชิต สมัยกรุงธนบุรี บอกไว้ตอนต้นเรื่องว่า “ข้อยจะนิพนธ์ลิลิต โดยดำนานนิตยบุรำ ในปกรณำเวตาล แนะนิทานเป็นประถม” ที่น่าประหลาดคือ เรื่องราวในลิลิตเพชรมงกุฎที่ระบุว่า “แนะนิทานเป็นประถม” ตรงกับนิทานเรื่องที่ 1 ซึ่ง น.ม.ส. ทรงแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ หลังจากเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งลิลิตเพชรมงกุฎนับร้อยปี แสดงว่าเรื่องราวของเวตาลต้องเป็นที่รู้จักมาก่อนหน้านั้นแล้ว
ต้นเรื่องนิทานเวตาลย่อๆ ที่เรารับรู้เล่าเรียนกันมา ตัวเอกของเรื่องคือ พระวิกรมาทิตย์ รับปากโยคีชื่อศานติศีล ว่าจะไปนำตัวเวตาล อมนุษย์ซึ่งแขวนตัวอยู่ปลายกิ่งอโศกในป่าช้า ขณะเมื่อนำตัวเวตาลไป พระวิกรมาทิตย์ต้องไม่เผยพระโอษฐ์ตรัสคำใดๆ หากเผลอพระองค์ตรัสเมื่อใด เวตาลก็จะลอยกลับแขวนอยู่ที่กิ่งอโศกดังเดิม เวตาลเล่านิทานที่ตอนท้ายแฝงด้วยปริศนาซึ่งต้องใช้ปัญญาอันชาญฉลาดจึงจะแก้ได้ ด้วยถ้อยคำเยาะเย้ยถากถางของเวตาลทำให้พระวิกรมาทิตย์ตรัสแก้ปัญหา และกลับไปเอาตัวเวตาลทุกเรื่อง จนกระทั่งนิทานเรื่องที่ 25 มิได้ตรัสอะไรเลย จึงนำตัวเวตาลไปให้โยคีศานติศีลได้สำเร็จตามสัญญา
เรื่องราวของเวตาลตามที่กระผมเล่าขานมานั้นอยู่ในรูปนิทานซ้อนนิทานตามขนบวรรณคดีนิทานสันสกฤต คติ แนวคิด สังคม ผู้คน ดำเนินตามวิถีวัฒนธรรมอินเดียโบราณ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพบต้นฉบับเวตาลปกรณัม และหอพระสมุดวชิรญาณนำมาตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อพุทธศักราช 2463 เป็นเวตาลกลิ่นอายแบบไทยแท้ สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นกลอนเพลงยาว 1,517 คำกลอน ขึ้นต้นด้วย ‘วรรครับ’ และลงท้ายด้วย ‘เอย’ ตามขนบนิทานคำกลอน เป็นนิทานคำกลอนเก่าที่สุดเท่าที่พบในปัจจุบัน
เวตาลแบบไทยในคำกลอนท่านว่า เป็นยักษ์บริวารพระอิศวร แต่ประมาทเลินเล่อขาดขึ้นเฝ้าสามครั้ง จึงถูกพระอิศวรสาปให้มีหน้าเป็นยักษ์ดุจเดิม มีปีกและเท้าดังแร้ง ห้อยหัวอยู่บนยอดกำมพฤกษ์ ตราบจนได้เป็นพาหนะของพระจักรพรรดิจึงจะพ้นคำสาป
เลยสาปสั่งว่าตั้งแต่ใจจร ด้วยอาวรณ์สวาดิเล่นพนมชม
ไปสถิตยังยอดกำมพฤกษ์ จงสำนึกอาตมาให้สาสม
จงผ่อนผิดจริตรูปโดยนิยม แต่ประถมปางนี้ไปคงวาย
จงมีปีกแลเท้าดังคิชฌา แต่พักตราอย่าให้เพี้ยนเปลี่ยนสลาย
ห้อยเศียรเปลี่ยนบาทขึ้นบนปลาย จงกำจายฤทธิ์กล้ากำลังวัง
ตัวเอกของเวตาลไทยไม่ใช่พระวิกรมาทิตย์กษัตริย์ผู้กล้าในเวตาลฉบับสันสกฤต แต่เป็นราชกุมารนามว่าพระอไภยสินสุริยา ที่ต้องออกผจญภัยตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เดินทางไปขอพรพระอิศวร ครั้นได้รับพรแล้วกลับมาปกครองบ้านเมือง จนได้ตกปากรับคำกับโยคีเจ้าเล่ห์ว่าจะนำตัวเวตาลไปให้ แต่ขณะนำไปต้องไม่เผยวาจาใดๆ เช่นเดียวกับเวตาลแขก เวตาลจึงเล่านิทานที่มีการแก้ปัญหาท้ายเรื่องให้พระอไภยสินสุริยาตอบ รวม 12 เรื่อง เค้าโครงของนิทานแต่ละเรื่องเป็นแนวคิดอย่างนิทานไทยๆ เช่นนิทานเรื่องที่ 2 เรื่อง สมภารอยากฉันปลา มีเรื่องย่อว่า
สมภารอยากฉันปลาสดต้มยำจึงกล่าวกับนางชี นางชีไปตลาดไม่กล้าซื้อปลาเป็นจึงบอกแม่ค้า แม่ค้าจึงตีปลาให้ตาย เวตาลถามพระอไภยสินสุริยาว่าบาปจะตกแก่ใคร
เวตาลปกรณัม ฉบับพิมพ์พุทธศักราช 2467 ความยังไม่ครบ ขาดหายไปเกือบ 200 คำกลอน ทราบมาว่าตอนนี้กำลังชำระใหม่ มีข้อมูลใหม่ๆ แปลกๆ น่าสนใจทีเดียว น่าจะหาอ่านกันได้เร็วๆ นี้ครับ
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์