โดนงูกัด อย่าดูดพิษงู

-

เจอบทความบนเพจเฟซบุ๊กด้านการเกษตรเพจหนึ่ง ให้คำแนะนำว่า “เมื่อถูกงูพิษกัด ให้เอาผลมะนาวมาผ่าซีก บีบน้ำมะนาวลงตรงจุดที่งูกัด น้ำมะนาวจะดูดพิษงูไว้ไม่ให้วิ่งเข้ากระแสเลือด จากนั้นให้เอาผ้าขาวซับเลือดไว้ แล้วเอาไปให้หมอตรวจ หมอจะทราบว่างูที่กัดเป็นงูพิษชนิดใด ไม่ต้องไปไล่จับงูให้เสียเวลา”

คำแนะนำแปลกๆ เช่นนี้ อ่านดูโดยใช้วิจารณญาณและความรู้วิทยาศาสตร์ทั่วไป ก็พอจะทราบได้นะว่าเป็นเรื่องมั่วที่ไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด เพราะน้ำมะนาวไม่มีฤทธิ์ช่วยดูดซับพิษงูไม่ให้เข้ากระแสเลือดอย่างที่ว่า ถ้าหลงเชื่อทำตาม ก็จะเสียเวลาโดยใช่เหตุ แทนที่จะรีบนำส่งแพทย์ให้เร็วที่สุด

และที่บอกว่าให้เอาผ้าขาวบางมาซับเลือดไปให้แพทย์ดูนั้น ก็ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องด้วย เพราะแพทย์เองไม่อาจทราบได้จากเลือดบนผ้าว่าเป็นงูอะไร วิธีการที่ถูกต้องคือ ถ้าตีงูตายแล้วก็ให้นำเอาซากของงูตัวที่กัดนั้นมาด้วย หรือใช้กล้องในโทรศัพท์มือถือถ่ายรูปมาให้แพทย์ ถ้าไม่มี ก็ควรพยายามจดจำลักษณะสีสันหน้าตาของงูมาแจ้งแก่ทางแพทย์

ในปีหนึ่งๆ มีคนไทยถูกงูพิษกัดประมาณเจ็ดพันถึงหนึ่งหมื่นคน งูพิษที่พบบ่อยในเมืองไทยมี 7 ชนิด คือ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้ งูแต่ละชนิดนั้นอาจมีลักษณะของรอยเขี้ยว ชนิดของพิษ และอาการที่เกิดแก่ผู้ถูกงูกัดแตกต่างกันไป

 

รอยงูหางกระดิ่ง ที่กัดเด็กผู้ชายคนหนึ่งในต่างประเทศ

 

ตัวอย่างเช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา ซึ่งเป็นงูในวงศ์ Elapidae มีเขี้ยวพิษอยู่ที่กรามบนด้านหน้า มีเขี้ยวสั้นและเคลื่อนไหวไม่ได้ จึงมักไม่เห็นรอยเขี้ยวหลังจากกัด ผู้ป่วยที่ได้รับพิษนั้นจะเกิดอาการต่อระบบประสาท พิษของงูเห่ามีฤทธิ์ cytotoxicity ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อตรงตำแหน่งที่ถูกกัด จึงเกิดอาการบวม ขณะที่งูสามเหลี่ยมและงูทับสมิงคลาไม่มีฤทธิ์ cytotoxicity จึงไม่พบอาการบวมตรงตำแหน่งที่ถูกกัด

ส่วนงูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้ อยู่ในวงศ์ Viperidae ซึ่งมีเขี้ยวพิษอยู่กรามบนด้านหน้า เขี้ยวยาวและเก็บพับได้ เวลากัดจึงมักจะเห็นรอยเขี้ยว ส่วนอาการที่เกิดขึ้นจากพิษของงูนั้น ถ้าเป็นงูเขียวหางไหม้และงูกะปะ จะมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ออกฤทธิ์ทำลายผนังด้านในของหลอดเลือดฝอย ทำให้เลือดออกตามจุดต่างๆ ของร่างกาย และยังมีฤทธิ์ทาง cytotoxicity ด้วย ทำให้แผลที่ถูกกัดบวมและเน่าได้ แต่ถ้าเป็นพิษของงูแมวเซาจะทำให้เกิดอาการเลือดออกตามที่ต่างๆ ของร่างกาย มีพิษต่อไตทั้งทางตรงและทางอ้อม และยังทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้แผลที่ถูกกัดบวม

ดังนั้น เมื่อแพทย์ได้รับผู้ป่วยที่ถูกงูกัดมารักษา แพทย์จะประเมินก่อนว่าเป็นงูชนิดที่มีพิษหรือไม่ ถ้านำซากงูที่กัดมาด้วย แพทย์ก็จะทราบว่าเป็นงูพิษชนิดอะไรและรักษาได้ง่ายขึ้น ไม่เช่นนั้น ก็ต้องคาดคะเนจากการบอกเล่าและอาการที่เกิดขึ้นภายหลังถูกงูกัด เช่น ถ้าแผลที่ถูกกัดไม่มีอาการปวดบวม งูที่กัดก็น่าจะเป็นงูสามเหลี่ยมหรืองูทับสมิงคลา เพราะพิษงูสองชนิดนี้ไม่มีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อ แต่ถ้าแผลที่ถูกงูกัดมีอาการบวม และเลือดมีลักษณะปกติ จับตัวเป็นลิ่มได้ภายใน 20 นาที งูที่กัดก็น่าจะเป็นงูเห่าหรืองูจงอาง ไม่น่าใช่งูกะปะ งูแมวเซา หรืองูเขียวหางไหม้ ที่แผลถูกกัดจะบวม และผลการตรวจเลือดก็จะผิดปกติด้วย คือเลือดไม่จับเป็นลิ่มในเวลา 20 นาที

 

การรีดพิษงู เพื่อนำไปผลิตเป็นเซรุ่มแก้พิษงู

 

เมื่อชัดเจนแล้วว่าผู้ป่วยได้รับพิษงูเข้าสู่ร่างกาย แพทย์จะใช้เซรุ่มแก้พิษงูตามชนิดของงูที่กัด ในปริมาณที่มากพอจะทำลายพิษงูให้หมดจากกระแสโลหิต และจะให้ซ้ำเรื่อยๆ เช่น ถ้าเป็นพิษที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท อาจให้เซรุ่มซ้ำทุก 2-6 ชั่วโมง ส่วนพิษที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด จะต้องให้ซ้ำทุก 6 ชั่วโมง ร่วมกับการให้ยาอื่นๆ เพื่อรักษาตามอาการ

ประเด็นหนึ่งที่น่ากังวลไม่แพ้เรื่องของจำนวนผู้ถูกงูพิษกัด คือ การที่ประชาชนจำนวนมากยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด เช่น ถ้าถูกงูกัด ให้กรีดแผล ให้ใช้ไฟจี้แผล ให้ใช้ปากดูดพิษงูออกจากแผล รวมทั้งการสอนให้ขันชะเนาะ ห้ามเลือดที่มีพิษงูเข้าสู่หัวใจ ฯลฯ วิธีการเหล่านี้ แม้ว่าบางอย่างอาจเคยมีการแนะนำให้ทำจริงๆ แต่ปัจจุบันนั้น เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าไม่มีประโยชน์อย่างที่คิด แถมยังจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยที่ถูกงูกัดได้

 

โปสเตอร์คำเตือนของกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับความเชื่อผิดๆ เมื่อถูกงูกัด

 

การพยายามดูดเลือดที่มีพิษงูออกจากแผลที่ถูกงูกัด ไม่ว่าจะใช้ปากดูดหรือใช้อุปกรณ์ปั๊มดูด นอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจทำให้เกิดผลร้ายโดยตรงต่อจุดที่ถูกงูกัดด้วย  มีผลการศึกษาพบว่า การดูดพิษงูช่วยขจัดพิษของงูจากร่างกายได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือประมาณหนึ่งในพันของปริมาณพิษงูที่เข้าสู่ร่างกาย จึงไม่เพียงพอที่จะลดอันตรายอันเกิดจากพิษของงูได้ แรงของการดูดยังอาจทำให้เกิดอาการเซลล์เนื้อตายตรงจุดที่ถูกดูด และการดูดพิษด้วยปากนั้นยังมีความเสี่ยงที่ผู้ดูดเองจะได้รับพิษเข้าไปผ่านเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก แถมเชื้อแบคทีเรียในปากของผู้ที่ช่วยดูดพิษยังสามารถเข้าสู่บาดแผลและทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้

การกรีดเนื้อตรงจุดที่ถูกงูกัด ซึ่งมักชอบทำกันก่อนดูดพิษงู ก็เป็นอีกวิธีที่ไม่แนะนำให้ทำอีกต่อไป เพราะจะทำให้เกิดบาดแผลขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ วิธีการอื่น ๆ ที่คล้ายกัน เช่น การใช้ไฟจี้แผล หรือการหยดด้วยสารซิลเวอร์ไนเตรต ก็ไม่ควรทำเพราะจะเป็นอันตรายแก่บาดแผลได้เช่นกัน

แม้แต่การใช้ผ้าและไม้ ขันชะเนาะเหนือรอยแผลที่ถูกงูกัด ซึ่งมักถูกสอนให้ทำกันมาในวิชาลูกเสือเนตรนารี ปัจจุบันก็ไม่แนะนำให้ทำอีกต่อไป เพราะพบว่าไม่ค่อยได้ผลในการยับยั้งพิษงูมิให้ไปทั่วร่างกายอย่างที่เชื่อกัน ซ้ำร้ายกลับเป็นอันตรายแก่ผู้ป่วย เนื่องจากเลือดไม่ไหลไปเลี้ยงอวัยวะส่วนที่ขันชะเนาะไว้ และทำให้เนื้อเน่าตายได้

วิธีที่ถูกต้องเมื่อพบผู้ถูกงูกัด คือ ตั้งสติให้ดี สังเกตลักษณะของงูที่กัด รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่ พยายามให้อวัยวะที่ถูกกัดเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด อาจดามด้วยแผ่นไม้หรือวัสดุแข็งแล้วใช้ผ้าพันแผลยางยืดรัดให้แน่น ให้จุดที่ถูกกัดอยู่ในระดับต่ำกว่าหัวใจเพื่อชะลอการซึมของพิษงู ห้ามขันชะเนาะ ห้ามกรีดแผลและดูดพิษงู ห้ามใช้เหล้า ยาสีฟัน สมุนไพร ฯลฯ ทาพอกแผล เนื่องจากอาจทำให้แผลติดเชื้อ รวมถึงห้ามผู้ถูกงูกัดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนด้วย


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!