วัคซีนเข็มสาม กับการติดเชื้อโอมิครอน อย่างไหนดีกว่ากัน

-

นี่เป็นคำถามที่ต้องตอบด้วยวิธีเดาเพราะยังไม่มีการตีพิมพ์ผลวิจัยวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโอมิครอนออกมาแม้แต่ชิ้นเดียว มีแต่การให้ข่าว หมายความว่าข้อเท็จจริงยังมีไม่ครบ แต่ข้อมูลที่มีอยู่ก็พอวิเคราะห์ได้ว่า

ประเด็นที่ 1. โอมิครอนแพร่ได้เร็วมาก อันนี้แน่นอน ศูนย์ข้อมูล ZOE ประเมินว่าทุก 1 ใน 2 คนที่เป็นหวัดในอังกฤษตอนนี้ เป็นผู้ติดเชื้อโอมิครอน คือมากขนาดนั้น และอาการหลักของโอมิครอนคือ ปวดหัว เปลี้ย คัดจมูก เจ็บคอ จาม นั้นก็แยกไม่ออกจากอาการหวัดเสียด้วย

ประเด็นที่ 2. โอมิครอนเล็ดลอดภูมิคุ้มกันได้มาก หรือพูดแบบบ้านๆ ก็คือโอมิครอนดื้อวัคซีน ข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรค (CDC) พบว่าดื้อได้ถึงร้อยละ 43 กลไกที่มันดื้อนี้ก็ทราบกันดีแล้ว ว่าวัคซีนที่นิยมกันในปัจจุบันนั้นออกแบบให้มุ่งทำลายโปรตีนหนาม (spike protein) แต่ว่าเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนนี้เปลี่ยนส่วน spike protein ของมันไปมากที่สุดจนไม่กลัววัคซีนเสียแล้ว

ประเด็นที่ 3. ไม่มีวัคซีนใดในขณะนี้ที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ต่อโอมิครอนได้ เพราะวัคซีนที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อเชื้อแบบนี้ได้ต้องเป็นวัคซีนที่นอกจากเข้าสู่ร่างกายและออกฤทธิ์ได้เร็วมากแล้ว ยังต้องมีประสิทธิผลระดับ 100% ด้วย ซึ่ง ณ ขณะนี้ไม่มีวัคซีนแบบนั้น

 

 

ประเด็นที่ 4. การติดเชื้อจริงให้ภูมิคุ้มกันโควิดมากกว่าฉีดวัคซีนเข็มสาม งานวิจัยขนาดเล็กที่มหาวิทยาลัยโอเรกอนเฮลท์ไซน์ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA พบว่าการติดเชื้อจริงหลังได้วัคซีนให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ (เข็มสาม) ถึง 10 เท่า ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยฮ่องกงได้รายงานผลวิจัยการตัดเอาเนื้อเยื่อปอดและหลอดลมของอาสาสมัครมาเพาะเลี้ยง แล้วใส่เชื้อโควิดสายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งโอมิครอนเข้าไป จากนั้นก็สรุปการวิจัยว่าโควิดสายพันธ์โอมิครอนเติบโตในเนื้อเยื่อแขนงหลอดลม (bronchus) ได้มากกว่าโควิดสายพันธ์ดั้งเดิมถึง 70 เท่า แต่ว่าเติบโตในเนื้อเยื่อถุงลม (alveoli) น้อยกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 10 เท่า เรื่องนี้มันเกี่ยวกับวัคซีนตรงที่สงครามที่ทำกันในระดับหลอดลมนั้นเป็นการสู้รบกันในสมรภูมิเสมหะ จึงต้องอาศัยโมเลกุลภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งซึ่งวงการแพทย์เรียกว่า IgA ภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะเกิดขึ้นก็ด้วยการติดเชื้อธรรมชาติเท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากวัคซีน วัคซีนนั้นสร้างภูมิคุ้มกันแบบ IgG และ IgM ซึ่งจะถนัดสมรภูมิในกระแสเลือดมากกว่า ไม่ได้เข้าไปตะลุมบอนในเสมหะ วัคซีนเลยได้ผลน้อยกับเชื้อโอมิครอน

ประเด็นที่ 5. วัคซีนเข็มสามกับการติดเชื้อโอมิครอนอะไรมีความเสี่ยงมากกว่ากัน นี่เป็นคำถามสำคัญสุดยอดแต่ยังไม่มีใครตอบได้ เพราะสถิติการตายจากโอมิครอนยังไม่มี มีแต่ตายจากการป่วยหลายโรคแล้วเหมารวมว่าตายจากโอมิครอนซึ่งเป็นข้อมูลชักจูงให้เข้าใจผิด ตอนนี้รู้แต่ว่าในภาพใหญ่เชื้อโอมิครอนมีความรุนแรงต่ำ มีอัตราตายน้อยมาก เช่นที่อังกฤษ รัฐบาลแถลงว่าตรวจพบโอมิครอนยืนยันแล้ว 69,147 คน เข้าโรงพยาบาล 195 คน ในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดเป็นการเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคอื่น ทั้งหมดนี้ตายไป 18 คน (อัตราตาย 0.02%) ที่ออสเตรเลียมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน 5,266 เคส ไม่มีคนตายเลย (อัตราตาย 0%) ที่ประเทศสหรัฐฯ ติดเชื้อลามไปมากแต่จนป่านนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลอัตราตายออกมาให้เห็น สรุปว่าในภาพใหญ่โอมิครอนอัตราตายต่ำ แต่จะต่ำเท่ากับความเสี่ยงของการฉีดวัคซีนเข็มสามหรือไม่ยังไม่รู้

สุดท้ายแล้วจะฉีดเข็มสามหรือปล่อยให้ติดเชื้อโอมิครอนดี ผมแนะนำว่าเอาแบบที่ท่านชอบก็แล้วกัน เพราะข้อมูลยังไม่อาจชี้ชัดได้ แต่อย่าลืมว่าที่คุยกันมายืดยาวนี่ใช้ได้เฉพาะในกรณีประเทศไทยเต็มไปด้วยเชื้อโอมิครอนเหมือนอย่างในอังกฤษหรือแอฟริกาแล้วเท่านั้น หากทุกวันนี้เชื้อพระเอกในถิ่นที่อยู่ของท่านยังเป็นเดลต้าอยู่ ผมว่าเลือกวัคซีนเข็มสามปลอดภัยกว่านะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่อยู่ในกลุ่มมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคแบบรุนแรง


คอลัมน์: สุขภาพ / เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!