‘นักเขียน’ อาจเป็นงานที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน แต่มีเพียงไม่กี่คนที่สามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้ ด้วยปัจจัยอันหลากหลาย เช่น ความไม่แน่นอนของรายได้ ค่าเรื่อง และระยะเวลากว่าจะได้รับค่าเรื่อง นักเขียนส่วนมากจึงมีอาชีพอื่นไว้เลี้ยงปากท้องและให้การเขียนเป็นงานสำหรับเติมเต็มจิตวิญญาณแทน ทว่ายังมีนักเขียนบางส่วนที่สามารถยึดการเขียนเป็นอาชีพหลักได้ ดังเช่น อุเทน พรมแดง นักเขียนมือดีที่คว้ารางวัลมาแล้วหลายเวที อาทิ รางวัลดีเด่นจาก สพฐ., รางวัลพานแว่นฟ้า, รางวัล 7 Book Awards, และเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ เขาเลือกลาออกจากงานประจำเพื่อมาเป็นนักเขียนเต็มเวลา แม้จะไม่ใช่เรื่องตัดสินใจง่าย แต่เสียงของหัวใจก็บ่งบอกชัดเจนว่าการเขียนหนังสือคืองานที่ทำแล้วมีความสุขที่สุด เขาจึงมุ่งมั่นที่จะก้าวเดินบนเส้นทางนักเขียนอาชีพ
เส้นทางการอ่านหนังสือของคุณเริ่มต้นตั้งแต่ตอนไหน
ช่วงมัธยมปลายผมเข้าร้านหนังสือใกล้ๆ โรงเรียนบ่อย แต่ส่วนใหญ่เข้าไปหาพวกคู่มือเตรียมสอบเตรียมเอ็นทรานซ์ กระทั่งวันหนึ่งนึกอย่างไรไม่รู้ ผมซื้อรวมเรื่องสั้นแปลชื่อ ตายแล้วยังหัวเราะ ของ “มนันยา” ติดมือมาด้วย ซื้อแล้วก็กลับมาลองนอนอ่านดู พบว่ามันสนุกมาก หนังสือเล่มนี้จึงเหมือนเปิดโลกให้ผมรู้จักเรื่องสั้นและวรรณกรรม จากนั้นผมตามอ่านรวมเรื่องสั้นแปลแนวเขย่าขวัญ-หักมุมของ “มนันยา” ไปเรื่อยๆ จนเข้ามหาวิทยาลัยก็ขยับไปอ่านงานเขียนของ “สรจักร” และวรรณกรรมที่จริงจังมากขึ้น
ลงมือเขียนครั้งแรกได้อย่างไร
หลังจากอ่านงานแปลของ “มนันยา” ไปสักพัก ผมรู้สึกว่าตัวเองน่าจะเขียนเรื่องสั้นแบบนี้ได้ บวกกับช่วงนั้นชอบอ่านหนังสือขายหัวเราะ เห็นว่าเขารับพิจารณาต้นฉบับเรื่องสั้น เลยลองเขียนส่งไปเพราะอยากได้เงิน ตอนนั้นผมยังอยู่มัธยมปลาย เขียนด้วยลายมือแล้วไหว้วานเพื่อนผู้หญิงช่วยพิมพ์ให้ จำไม่ได้ว่าเรื่องแรกเป็นเรื่องไหนอย่างไร จำได้แค่ว่าเขียนส่งไปขายหัวเราะ 2-3 เรื่อง แต่ก็ไม่เคยผ่านการพิจารณา
เพระเหตุใดถึงตัดสินใจมุ่งเป็นนักเขียนอาชีพ
เหตุผลเดียวคือการเขียนหนังสือเป็นงานที่ทำแล้วมีความสุขที่สุด ผมมักพูดเสมอว่า เมื่อเราได้ทำงานที่ตัวเองรัก ทำแล้วมีความสุข ก็เหมือนเราไม่ต้องทำงานอีกเลยตลอดชีวิต
ทว่าส่วนที่ยากคือการตัดสินใจลาออกจากงาน เขียนหนังสืออย่างเดียวจะไปรอดไหม จะพอมีเงินดูแลพ่อแม่ให้สมกับที่ส่งเสียเราร่ำเรียนมาไหม คำถามไร้คำตอบเหล่านี้ถือเป็นภาระหนัก แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาเขียนหนังสือ บอกตัวเองว่าหากไม่ลองทำ คงมีคำถามคาใจตัวเองไปจนตาย อย่างน้อยเราได้ลองพิสูจน์ว่าได้หรือไม่ได้ รอดหรือไม่รอด หากไม่รอดจริงๆ ก็ค่อยกลับไปหางานประจำทำอีกครั้ง
จนถึงปัจจุบันเดินอยู่บนเส้นทางนักเขียนมาแล้วกี่ปี
ถ้านับจากเรื่องสั้นเรื่องแรกผ่านการตีพิมพ์ในหน้านิตยสาร ก็ 22 ปีครับ (ตอนนี้ผมอายุ 41 ปี)
คุณอุเทนมีชื่อเสียงจากการเขียนเรื่องสั้น เสน่ห์ของเรื่องสั้นสำหรับคุณคืออะไร
หากเอาเรื่องสั้น 1 เรื่องมาเทียบกับนวนิยาย 1 เรื่อง นึกไม่ออกครับว่าอะไรคือเสน่ห์ของเรื่องสั้นที่แตกต่างจากเรื่องยาว แต่ถ้าพูดถึงหนังสือรวมเรื่องสั้นกับนวนิยาย แน่นอนว่ารวมเรื่องสั้นมีความหลากหลายทางความคิดมากกว่า ในส่วนของคนอ่านก็จะได้ลิ้มรสชาติที่หลากหลายกว่าด้วย
ผลงานที่โดดเด่นของคุณคือเรื่องสั้นเขย่าขวัญ-หักมุม ทำไมถึงสนใจแนวนี้
ดังที่ผมตอบคำถามไปตอนต้นนะครับ ผมเริ่มอ่านงานแปลแนวเขย่าขวัญ-หักมุมของ “มนันยา” พอมาช่วงเรียนมหาวิทยาลัยก็เริ่มอ่านงานเขียนของ “สรจักร” และ “สรจักร” ก็เป็นนักเขียนอีกท่านที่ผมชื่นชอบผลงานมากๆ (ถ้าจำไม่ผิด ตอนผมเรียนมัธยม พี่สรจักรยังไม่มีหนังสือรวมเรื่องสั้นตีพิมพ์ออกมา)
ด้วยความที่เริ่มอ่านวรรณกรรมจากเรื่องสั้นแนวเขย่าขวัญ-หักมุม จึงไม่แปลกที่ผมจะยังคงชอบอ่านและชอบเขียนงานแนวนี้ แต่การเขียนงานแนวนี้ถือว่าเป็นเรื่องยากมากๆ กว่าจะคิดและเขียนได้แต่ละเรื่องต้องใช้เวลานาน มองอย่างผิวเผินเหมือนจะง่าย แต่เอาเข้าจริงแล้วยากกว่างานวรรณกรรมสร้างสรรค์หรืองานหนักๆ อีกครับ
คุณเขียนงานหลายแนว แล้วการเขียนเรื่องสั้นเขย่าขวัญ-หักมุมต้องศึกษาเพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนอะไรจากการเขียนแนวอื่นๆ บ้างไหม
ผมไม่เคยปรับเปลี่ยนแนวเขียนไปจากเดิม เพราะผมเขียนหนังสือหลายแนวมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว หรือพูดให้ถูกคือผมเริ่มต้นหัดเขียนเรื่องสั้นในแนวเขย่าขวัญ-หักมุมมาก่อนแนวอื่นๆ ด้วยซ้ำ ผมไม่เคยจำกัดหรือขีดกรอบให้ตัวเอง อยากเขียนอะไรก็เขียน อีกอย่างผมเขียนหนังสือเป็นอาชีพ ยิ่งทำงานได้หลากหลายสไตล์ยิ่งเพิ่มโอกาสจะอยู่รอดให้มากขึ้น
อะไรคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดของการเขียนแนวเขย่าขวัญ-หักมุม
เป็นเรื่องที่ใครๆ น่าจะรู้อยู่แล้วว่าเขียนงานหักมุมก็ต้องพยายามล่อหลอกคนอ่าน จบเรื่องให้คาดเดาได้ยาก ทว่าการคิดพล็อตให้จบอย่างหักมุมยังไม่ใช่ส่วนที่ยากที่สุด แต่การจบอย่างหักมุมด้วยความสมจริงและสมเหตุสมผลต่างหากที่ยากที่สุด กว่าจะคิดพล็อตได้แต่ละพล็อต กว่าจะหาข้อมูลต่างๆ มาใช้ประกอบในเรื่อง ทุกอย่างเป็นงานยากทั้งสิ้น จะง่ายหน่อยก็ในส่วนของการลงมือเขียน เพราะผมเขียนหนังสือเป็นอาชีพมานาน ถ้าคิดพล็อตดีๆ ได้ ข้อมูลพร้อม ตอนลงมือเขียนมักใช้เวลาไม่นาน
ความสนุกของเรื่องสั้นเขย่าขวัญ-หักมุมที่ดึงดูดคุณคืออะไร
ความตื่นเต้น ระทึกขวัญ และการจบอย่างคาดเดาได้ยาก ในมุมมองของผมเรื่องสั้นแนวเขย่าขวัญ-หักมุมที่ดีไม่ใช่เรื่องที่คาดเดาไม่ได้หรือไม่มีทางเดาถูก คนอ่านย่อมนึกคาดเดาไปร้อยแปดในหัวขณะอ่านอยู่แล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่นักเขียนจะหลอกนักอ่านทุกคนได้ ผมมองว่าเรื่องสั้นเขย่าขวัญ-หักมุมที่ดีคือเรื่องที่เล่าเรื่องได้สนุก มีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป ข้อมูลต่างๆ ถูกต้อง และจบแบบมีกิมมิก แม้เราอ่านแล้วจะเดาตอนจบได้ ก็ยังอ่านสนุกอยู่ดี
กามอนธการ เป็นแนวอีโรติก ซึ่งคุณอุเทนเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขียนยาก ตอนนี้ยังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่
ไม่แน่ใจว่าผมเคยให้สัมภาษณ์ทำนองนั้นไว้ตอนไหน แต่ถ้าถามตอนนี้งานเขียนแนวอีโรติกก็ยังยากอยู่ แต่ไม่ได้ยากไปกว่างานเขียนแนวอื่นๆ
“อินทุ รุจิรา” เป็นนามปากกาที่ใช้สำหรับเรื่องสั้นเขย่าขวัญโดยเฉพาะใช่หรือไม่ คุณมีเกณฑ์ในการแยกใช้นามปากกายังไงบ้าง
ผมตั้งใจใช้นามปากกานี้กับงานเขียนแนวเขย่าขวัญ-หักมุมเป็นหลัก รวมถึงงานหักมุมจบที่อาจไม่ใช่แนวเขย่าขวัญด้วย อย่างกรณีรวมเรื่องสั้น กามอนธการ ผมนิยามว่าเป็นงานเขียนแนวอีโรติก-หักมุม อีกนามปากกาที่ผมเพิ่งเริ่มใช้คือ “วรรณมันตา” ซึ่งเป็นชื่อลูกสาว ตั้งใจจะใช้สำหรับงานเขียนจำพวกวรรณกรรมเยาวชน ถึงตอนนี้ใช้กับหนังสือไปแล้ว 3 เล่มด้วยกัน
นอกเหนือจากงานแนวหักมุมหรือวรรณกรรมเยาวชน ผมยังคงใช้ชื่อ-นามสกุลจริง อุเทน พรมแดงทั้งสิ้น
มีแนวไหนที่ยังไม่ได้เขียนและอยากเขียนในอนาคตไหม
ผมไม่เคยคิดหรือวางแผนว่าอยากเขียนงานแนวนั้นแนวนี้ นึกคิดอะไรได้ มีเรื่องราวอะไรมากระทบความรู้สึก ผมก็หยิบไปเขียน เรื่องประเภทของงานเขียนก็เช่นกัน ผมไม่เคยจำกัดตัวเองว่าจะเขียนเรื่องสั้นหรือนวนิยายเป็นหลัก อยากเขียนอะไรก็เขียน ตอนคิดประเด็นหรือพล็อตเรื่องขึ้นมา เราจะรู้เองว่ามันควรเป็นเรื่องสั้นหรือนวนิยาย ทว่าบทกวีผมไม่ชอบอ่านจึงไม่ชอบเขียน
คุณอุเทนได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนมือรางวัล คิดว่ารางวัลมีความจำเป็นและสำคัญต่ออาชีพนักเขียนหรือไม่
เรื่องความจำเป็นตัดทิ้งไปก่อนเลย ไม่มีรางวัลใดๆ ในโลกที่ “จำเป็น” สำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ ส่วนเรื่องความสำคัญของรางวัล ผมมองว่าไม่สำคัญ แต่เราก็ต้องยอมรับว่ารางวัลช่วยเติมกำลังใจและเป็นแรงกระตุ้นที่ดีอย่างหนึ่ง เงินรางวัลช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตเราได้ ส่วนในแง่การขายหนังสือ ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่ารางวัลมีส่วนช่วยให้นักอ่านสนใจซื้อหนังสือไปอ่านมากขึ้น
สรุปคือการเป็นนักเขียนมือรางวัลมีแต้มต่อมากกว่า แต่รางวัลไม่ได้เป็นสิ่งการันตีฝีมือของนักเขียนหรือคุณค่าของงานเขียน การได้รับรางวัลทางวรรณกรรมบอกความจริงได้ข้อเดียวคือ มีคนกลุ่มหนึ่ง (คณะกรรมการ) ชื่นชอบงานเขียนของเรามากกว่าของคนอื่นๆ ในบริบทของรางวัลนั้นๆ ก็เท่านั้น
คุณมีมุมมองต่อเส้นทางนักเขียนอาชีพอย่างไร และทำยังไงถึงจะหากินกับอาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน
เส้นทางการเป็นนักเขียนอาชีพนั้นพูดเลยว่ายากแน่นอนครับ ผมเชื่อว่าในประเทศนี้มีคนที่อยู่ได้อย่างมีกินมีใช้ด้วยการเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวไม่มากนัก ถ้าอยากเป็นนักเขียนอาชีพที่อยู่ได้จริง เราจะเขียนหนังสือเก่งอย่างเดียวไม่พอ อย่างผมนอกจากเขียนหนังสือแล้ว ในกระบวนการผลิตหนังสือผมสามารถจัดการเองได้หมด ตั้งแต่เลย์เอาต์ ออกแบบปก จนถึงทำการตลาด ทุกวันนี้ผมไม่ได้เขียนต้นฉบับเพื่อเสนอสำนักพิมพ์ต่างๆ แล้ว แต่เป็นเขียนและพิมพ์หนังสือขายเอง
มีผลงานใดที่ชอบเป็นพิเศษ หรือมีเล่มใดที่เขียนยากกว่าเล่มอื่นบ้าง
เล่มที่รักมากกว่าเล่มอื่นไม่มีครับ ผมรักหนังสือทุกเล่มเท่าๆ กัน ส่วนเล่มที่เขียนยากมากๆ ก็คงพูดถึงได้ไม่เต็มปากเต็มคำ เพราะเป็นนวนิยายขนาดยาวที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ตีพิมพ์
6
3 เล่มในดวงใจของ อุเทน พรมแดง
- หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
เขียนโดย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel Garcia Marquez)
ชอบเพราะเป็นวรรณกรรมแนวซีเรียสที่อ่านโคตรสนุก
- เพอร์ซีย์ แจ็กสัน
เขียนโดย ริก ไรออร์แดน (Rick Riordan)
เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ผมชอบที่สุด ทั้งสนุกและมีอารมณ์ขันโดดเด่นเหลือร้าย
- เพชรพระอุมา
เขียนโดย “พนมเทียน”
คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอะไรกันมาก นอกจากความสนุกสนานตื่นเต้นแล้ว ผมทึ่งกับความรู้ลึกรู้จริงในเรื่องสัตว์ป่าและอาวุธปืนของลุงฉัตรชัยเป็นอย่างยิ่งครับ
คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม
ภาพ: อุเทน พรมแดง