เป็นเวลาเที่ยง เสียงโทรศัพท์ในสำนักงานดังขึ้นขณะที่พนักงานทั้งหมดออกไปกินข้าวเที่ยง พนักงานคนหนึ่งรับสายนั้น เป็นสายของลูกค้าที่โทร.มาถามเรื่องปัญหาทางเทคนิค พนักงานคนนั้นก็ตอบอย่างคล่องแคล่ว
เมื่อจบบทสนทนา ลูกค้าขอทราบชื่อพนักงานที่คุยด้วย เพื่อที่จะติดต่อกันอีกได้ พนักงานคนนั้นตอบว่า “ไม่เป็นไรครับ ผมไม่ใช่เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ ผมเป็นเพียงภารโรงครับ”
นี่เป็นฉากตัวอย่างของการฝึกพนักงานในองค์กรให้รอบรู้ รู้มากกว่าหน้าที่ เพื่อที่องค์กรจะเคลื่อนไปได้ หากเกิดกรณีพนักงานป่วย ไม่อยู่ ฯลฯ
ในโลกของความจริง หากลูกค้าโทร.ไปสำนักงานตอนเที่ยง มักจะได้รับคำตอบว่า “โทร.มาใหม่ตอนบ่ายโมงนะคะ/ครับ”
แต่ในโลกของอุดมคติ หากจะพัฒนาองค์กร ก็ต้องพัฒนาคนทุกคน
ตามตัวอย่างนี้ การที่ภารโรงคนหนึ่งรู้งานของเจ้าหน้าที่คนอื่น เพราะเขาไม่ได้มองว่าหน้าที่ของเขาคือภารโรง เขามีหน้าที่ช่วยองค์กรเติบโตด้วย
…………………
ผมทำงานทั้งชีวิตในสำนักงานขนาดเล็ก ทำให้ต้องเรียนรู้งานของคนอื่นด้วย เพื่อที่งานจะเดินหน้าอย่างมีความยืดหยุ่นขึ้น และไม่สะดุด
ในระยะยาว การรู้งานของคนอื่นก็เป็นประโยชน์กับตัวเราเอง
สำนักงานของผมเป็นองค์กรที่อาจจะเล็กกว่า ‘S’ ในมาตรฐาน SME นั่นคือมีคนทำงานเพียงสามคน ต่างคนต่างทำงานที่บ้านตัวเอง ไม่ต้องเดินทาง การตัดสินใจทางธุรกิจใดๆ มักเกิดขึ้นในเวลาหลักนาที ไม่มีชั่วโมงทำงานแน่นอน ไม่มีการประชุมแบบมีพิธีรีตอง
ข้อดีคือคล่องตัวสูง ข้อไม่ค่อยดีคือต้องทำงานหนัก ไม่มีวันหยุด องค์กรแบบนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่ไม่มีวินัยการทำงาน วางแผนไม่เป็น และชอบทำงานตามชั่วโมงการทำงานปกติ
อย่างไรก็ตาม ก็มีคนไม่น้อยเลือกทำงานในองค์กรเล็กตลอดชีวิต คนแบบนี้ไม่ชอบทำงานในองค์กรที่มีหลายสิบแผนก เพราะรู้สึกเหมือนหลงทางในป่ากว้าง บางคนเปิดร้านค้าเล็กๆ บ้างเปิดบริษัทเล็กๆ เพราะชอบความคล่องตัว
คนที่ทำงานในองค์กรเล็กมากๆ อย่างนี้ต้องแคล่วคล่องว่องไว ต้องทำงานหลายหน้าที่ รู้รอบตัว ไม่เช่นนั้นอยู่รอดยาก
ฝรั่งมีคำว่า well-rounded หมายถึงคนที่พัฒนาทุกด้าน
well-rounded มักเกิดกับคนที่รู้รอบตัว เดินทางมาก สนใจเรื่องทั้งโลก และเรียนรู้ตลอดเวลา
ถ้าเช่นนั้นเราจะพัฒนาตนเองเป็นมนุษย์ well-rounded ได้ไหม?
คำตอบย่อมคือได้
การพัฒนาและปรับปรุงอาจเริ่มที่การเปลี่ยนนิสัยและความเคยชิน
บางคนไม่ชอบรู้เรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับวิชาชีพของตน ยกตัวอย่างเช่น ไม่อ่านงานวรรณกรรม เพราะดูเหมือนไม่มีประโยชน์ต่องาน ไม่อ่านเรื่องจักรวาล เพราะเห็นชัดว่าไม่เกี่ยวกับหน้าที่ เป็นต้น
แต่จะเป็นคน well-rounded ก็ต้องหัดลองสำรวจโลกภายนอกจริงๆ สนใจเรื่องต่างๆ ที่ดูเผินๆ ไม่เกี่ยวกับชีวิตของตนโดยตรง
หัดมองโลกและคนอื่นด้วยมุมมองที่ไม่ใช่เรา
หัดรู้จักขี้สงสัยทุกเรื่อง และแสวงหาความรู้ที่จะตอบความสงสัยนั้น หาความรู้หรือข้อมูลสิ่งที่สงสัยเสมอ อย่างนี้จะทำให้รู้รอบตัวมากขึ้น
ริเริ่มทำกิจกรรมใหม่ๆ กิจกรรมที่ไม่เคยทำ เปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยลอง ทำงานที่ไม่เคยทำ
เปิดใจกว้าง เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ไม่ต้องเชื่อ แต่อย่างน้อยก็กล้าเปิดรับ
สร้างนิสัยเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการศึกษาที่เราได้รับจากโรงเรียนจะล้าสมัย ต้องรับข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะมุมมอง (perspectives) เป็นเรื่องสำคัญ
อ่านหลากหลาย อย่าอ่านแค่ข้อความสั้นๆ ปริมาณข่าวสารที่ได้รับไม่ได้หมายความว่ามันจะดีกับเราเสมอไป
การเดินทางก็ช่วยได้มาก แต่ควรเป็นการเดินทางที่เราเปิดโลกทัศน์ เคยมีนักเรียนไทยไปอยู่สหรัฐฯ แต่อยู่ในกลุ่มคนไทยด้วยกัน ผ่านไปหลายปี ก็ไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศใหม่ที่ไปอยู่อาศัยเลย
ลองพบปะคนใหม่ๆ ต่างกลุ่ม ต่างสังคม ต่างวัฒนธรรมเรียนรู้วิธีคิด วิธีมองโลกของคนเหล่านั้น มันช่วยทำให้เรามองโลกกว้างขึ้น ผ่านสายตาของคนอื่นๆ แลเห็นมุมมองมุมอื่นๆ
เช่นกัน ก็เรียนรู้มุมมองต่างของคนอื่นๆ ในสังคมที่อยู่ ทำให้ลดอคติลงได้
พัฒนาความสัมพันธ์กับคนอื่น รู้จักประนีประนอม รู้จักรับฟัง การคุยกับคนอื่นช่วยเพิ่มความหลากหลายของข้อมูล
หัดมองภาพกว้าง ทำให้เห็นภาพรวมชัดขึ้น เพราะสิ่งต่างๆ ในโลกล้วนมีความสัมพันธ์กัน ศาสตร์ต่างๆ ก็เชื่อมโยงกัน
นี่คือการพัฒนาอัพเกรดตัวเราเป็นเวอร์ชันที่สูงขึ้น
โลกเปลี่ยนไปทุกวัน และเปลี่ยนเร็วมาก หากเราไม่อัพเกรดตัวเอง เราก็จะถูกกลืนหายไปในมหาสมุทรแห่งความเปลี่ยนแปลง รู้ตัวอีกที ก็อยู่ที่ก้นสมุทรแล้ว
วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
คอลัมน์: ลมหายใจ
เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ