โลกเรานิยมจัดอันดับในแทบทุกเรื่อง! ในทางการเงิน เศรษฐกิจและธุรกิจ เรามีมาตรของ Moody’s (Moody’s Investors Service), Standard & Poor’s และ Fitch Group จัดเรทเครดิตธุรกิจ เช่น Moody’s ให้คะแนน Aaa, Aa, A, Baa, Ba, B, Caa, Ca, C ฯลฯ Standard & Poor’s กับ Fitch ให้คะแนน AAA, AA, A, BBB, BB, B, CCC ฯลฯ
ในด้านมาตรฐานการค้ามนุษย์ ก็มีมาตรของสำนัก Office To Monitor and Combat Trafficking in Persons แบ่งเป็นระดับต่างๆ เช่น Tier 1, Tier 2, Tier 2 Watch List และ Tier 3
แม้แต่ในเรื่องอาหาร ก็มีหลายสำนักหลายมาตรฐาน มากมายนับไม่ถ้วน
ในการใช้ชีวิตของเราๆ ก็มีมาตรวัดเป็นสนุกกับไม่สนุก สมมุติว่าเราใช้มาตรฐานขององค์กรทางการเงินคือ A B C มาวัดชีวิตเรา ไล่จาก AAA สนุกมาก ไปจนถึง CCC ไม่สนุกมาก ก็อาจได้รายการดังต่อไปนี้
A เช่น เล่นกับหมา
AA เช่น ดูหนัง เล่นเกม
AAA เช่น เที่ยวต่างจังหวัด กินอาหารอร่อย
B เช่น คุยกับลูกค้า
BB เช่น รถติด
BBB เช่น ไปจ่ายตลาด ทำรายงานการประชุม
C เช่น พักฟื้น
CC เช่น เจาะเลือด ฉีดยา
CCC เช่น ผ่าตัด ป่วย นอนซม
หากเรามุ่งหาแต่กิจกรรม AAA และบ่นทุกครั้งที่พบ BBB และ CCC ชีวิตก็ไม่สนุก เพราะชีวิตประกอบด้วย A B C คละกัน ตลอดอายุขัยของเราทุกคน
ทางพุทธสอนให้ไม่ยึดมั่น ไม่ยึดมั่นทั้งเรื่องดีและไม่ดี
อยู่กับสุขก็มีสติ อยู่กับทุกข์ก็มีสติ จึงไม่ทรมาน
ดังนั้นดูเหมือนว่าทางดีที่สุดในการใช้ชีวิตคือ ไม่ยึดมั่นทั้ง A B C
เมื่อไม่จัดอันดับ ไม่มี A B C ก็ไม่มีข้อแม้ว่าตอนนี้สนุกหรือไม่สนุก สุขหรือทุกข์ เพราะไม่ว่าจะเจอ A B C หรือ AAA BBB CCC ก็อยู่อย่างสงบได้
พระไพศาล วิสาโล เขียนในหนังสือ ลำธารริมลานธรรม เรื่องการป่วยของหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ว่า ในปี พ.ศ. 2549 หลวงพ่อป่วยหนักเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาการหนักจนต้องรักษาในห้องไอซียู เพราะก้อนมะเร็งทำให้คอบวมเกือบเท่าหน้า และกดหลอดลมจนหายใจไม่สะดวก แต่หลวงพ่อกลับไม่แสดงอาการทุกข์ร้อนแต่อย่างใด
ขณะที่ญาติโยมทั้งหลายตกใจ พยายามจะปลอบท่าน ท่านกลับเป็นฝ่ายปลอบญาติโยมว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหา
ต่อมาหมอตรวจพบก้อนเนื้อในตับอ่อนอีก ท่านรู้สึกเจ็บมาก แต่ไม่ร้องสักเสียง หมอถามท่านว่า “เจ็บกี่เปอร์เซ็นต์?” หลวงพ่อคำเขียนตอบว่า “เกินร้อย”
พยาบาลถามว่า “ทำไมไม่ร้อง?”
ท่านตอบว่า “ปวดแล้วจะร้องอีกทำไมให้ขาดทุน”
ท่านพูดต่ออีกว่า “อาการเอาไว้ดู ไม่ได้เอาไว้เป็น”
ก็คือหลักที่หลวงพ่อสอนศิษย์มาโดยตลอด คือมีสติรู้กายรู้ใจ ท่านว่า “เห็น อย่าเข้าไปเป็น”
นั่นคือรู้ แต่ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับมัน ดังนี้แม้ท่านจะต้องเจ็บปวดทางกายซึ่งเป็นผลมาจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดและการฉายแสง แต่ไม่ทุกข์ร้อน
เพราะความทุกข์เกิดจากความคิด ปรุงแต่งเป็นทุกข์ เมื่อไม่ปรุงแต่งเสียอย่าง ก็ไม่เกิดทุกข์
หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ผ่านการรักษานานแปดเดือน เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล ท่านพูดหลังออกจากโรงพยาบาลว่า “สนุกป่วยเกือบปี”
หากจัดอันดับตามมาตรฐานของคนทั่วไป อาการป่วยของหลวงพ่อคำเขียนไม่ใช่ระดับ CCC แต่คือ DDD หรือ FFF เลวร้ายมาก แต่เมื่อจิตไม่ปรุงแต่งโรคภัยเป็นทุกข์ ก็อยู่ได้โดยไม่ทุกข์ร้อน
เราคนธรรมดาที่ไม่ค่อยหรือไม่เคยฝึกจิต อาจรู้สึกว่ามันเกินความสามารถของเรา แต่หากไม่เริ่มฝึกจิตเตรียมพร้อม เราอาจผ่านไม่พ้นด่าน CCC อย่าว่าแต่ FFF
บางทีทางแรกคืออย่ายึดมั่นถือมั่นว่า ท่อนใดในชีวิตเป็น AAA หรือ BBB หรือ CCC
เมื่อไร้การยึดมั่น ก็ไร้มาตรวัด เมื่อไร้มาตรวัด ความไม่สนุกหรือไม่สบายกายก็เป็นแค่เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ
วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
คอลัมน์ ลมหายใจ
เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ