ข่าวเกี่ยวกับ “ยูเอฟโอ” วัตถุบินลึกลับ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของมนุษย์ต่างดาวเดินทางมาเยือนโลก ได้สร้างกระแสฮือฮากันอีกครั้ง เมื่อมีรายงานข่าวเครื่องบินรบของประเทศสหรัฐอเมริกายิงจรวดทำลายวัตถุบินลึกลับไปถึง 3 ลำภายในหนึ่งสัปดาห์ ที่รัฐมิชิแกนและรัฐอะแลสกา และอีกหนึ่งจุด ที่ประเทศแคนาดา หลังจากก่อนหน้านั้นก็ได้ยิงทำลายบอลลูนลึกลับใกล้ชายฝั่งอเมริกา เหนือมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบอลลูนสอดแนมของประเทศจีน
เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของตุรกีและซีเรีย ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.8 ในบริเวณพรมแดนของทั้งสองประเทศ ทำให้อาคารบ้านเรือนนับหมื่นหลังพังทลาย และมีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก มียอดผู้เสียชีวิตรวมกันกว่า 4 หมื่นราย นอกจากนี้ยังมีรายงานแปลกๆ ตามมาถึงการสังเกตเห็นวัตถุบินลึกลับเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุ บางคนจึงเชื่อว่าเป็นมนุษย์ต่างดาวมาเตือนภัยชาวโลก
อย่างไรก็ตาม มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ผู้คนพบเห็นและถ่ายรูปส่งต่อกันทางสื่อโซเชียล ซึ่งดูคล้ายจานบินยูเอฟโอขนาดใหญ่ สีแดง ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าของประเทศตุรกี เหนือภูเขาของเมืองที่ต่อมาได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นนั้น จริงๆ แล้วเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า เมฆเลนติคิวลาร์ (lenticular cloud) เมฆชนิดนี้เป็นเมฆที่ค่อนข้างอยู่นิ่งในบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ (troposphere) ได้นานนับวัน และด้วยเหตุที่มีรูปทรงโดดเด่นดูคล้ายแผ่นเลนส์ สีแดงปนขาวเทา จึงทำให้คนเกิดจินตนาการกันไปถึง “จานบิน” ยานบินต่างดาวอยู่เรื่อยๆ และมันก็ไม่ได้มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวในเวลาต่อมาอีกด้วย
คำว่า “ยูเอฟโอ (UFO)” นั้น จริงๆ แล้วไม่ได้หมายถึง “จานบินต่างดาว” อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน แต่เป็นคำย่อของ unidentified flying object หรือวัตถุบินได้ ที่ยังไม่อาจระบุได้ว่าคืออะไร แต่จากการตรวจสอบแล้ว ยูเอฟโอส่วนใหญ่เป็นวัตถุที่เรารู้จักกัน หรือเป็นปรากฏการณ์บนฟากฟ้าที่เกิดขึ้นได้ มีเพียงจำนวนน้อยที่ยังไม่อาจหาคำอธิบายได้อย่างชัดเจน
ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ถึงทศวรรษ 1950 วัตถุบินได้อันลึกลับพวกนี้ยังไม่มีชื่อเรียกว่า “ยูเอฟโอ” แต่นิยมเรียกกันว่า “จานบิน” ตามรายงานข่าวที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1974 โดยนักบินพลเรือนชื่อ เคนเนท อาร์โนลด์ ได้รายงานการพบเห็นวัตถุบินรูปร่างคล้ายจานรองแก้ว จำนวน 9 ลำ ใกล้ภูเขาเรเนียร์ ในสหรัฐฯ และต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1953 กองทัพอากาศของสหรัฐฯ เป็นหน่วยงานแรกที่ใช้คำศัพท์ UFO (หรือ UFOB) เพื่อเรียกวัตถุบินได้ในอากาศ ซึ่งมีรูปทรงหรือการเคลื่อนที่แบบผิดแปลก และไม่สามารถยืนยันได้ว่ามันเป็นเครื่องบินหรือจรวดมิสไซล์ชนิดใด เดิมทีเป้าหมายในการใช้คำนี้ก็เพียงเพื่องานด้านความมั่นคงของประเทศเท่านั้น
ตามโครงการสมุดสีฟ้า (Project Blue Book) ซึ่งเป็นโครงการของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่เคยศึกษาเรื่องยูเอฟโอย่างเป็นทางการ ได้อธิบายไว้ว่า คำว่า “จานบิน” นั้นไม่ครอบคลุมเพียงพอ เพราะมีวัตถุบินได้ลึกลับที่รูปทรงแตกต่างกันหลายแบบ ไม่ใช่แค่แบบที่ดูเหมือนจานรองแก้ว แต่ถึงกระนั้น ตามความเชื่อของคนทั่วไปแล้ว คำว่า ยูเอฟโอ (หรือปัจจุบันมีการใช้คำว่า ยูเอพี UAP หรือปรากฏการณ์ทางฟากฟ้าที่ยังระบุไม่ได้ unidentified aerial phenomenon) ได้กลายเป็นคำที่ใช้เรียกยานอวกาศของสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว
แม้ว่ามีรายงานอย่างประปรายของการเห็นสิ่งบินลึกลับมาเนิ่นนานตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจเป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ดาวหาง ดาวตก หรือเมฆประหลาดแบบเมฆเลนติคิวลาร์ ฯลฯ แต่รายงานถึงยูเอฟโอกลับเพิ่มขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และเพิ่มขึ้นเยอะระหว่างสงครามเย็น (Cold War) ในศตรวรรษที่ 20 ซึ่งมีการแข่งขันกันด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างชาติมหาอำนาจของโลก
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะระบุให้ชัดเจนว่าแต่ละกรณีของยูเอฟโอคืออะไรกันแน่ เพราะรูปและข้อมูลตามรายงานนั้นมักไม่ค่อยชัดเจน มีคุณภาพไม่สูง และไม่ได้ถูกสังเกตการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงมักแฝงการรับรู้ (perception) ตามความเชื่อของตนเองด้วย แต่จากการตรวจสอบของหน่วยงานในสังกัดรัฐบาลประเทศต่างๆ ทำให้จำนวนของกรณียูเอฟโอที่ยังไม่สามารถระบุได้เหลืออยู่ไม่มากนัก ดังเช่น หลังจากปิดโครงการสมุดฟ้าใน ค.ศ. 1970 พบว่ามีเหลือเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ทั้งนี้จะใช้คำว่า “ไอเอฟโอ IFO” (ย่อจาก identified flying object) เมื่อระบุสาเหตุที่แท้จริงได้แล้ว
กว่าร้อยละ 80 ของไอเอฟโอถูกพบว่าเป็นเครื่องบิน ยานพาหนะที่บินได้อื่นๆ บอลลูน และปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศและดาราศาสตร์ ซึ่งประมาณร้อยละ 30 เป็นแสงจากดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ รายงานการพบเห็นยูเอฟโอส่วนใหญ่นั้น เมื่อตรวจสอบกับตำแหน่งของดวงดาวต่างๆ ในเวลาดังกล่าว กลับกลายเป็นแสงของดาวศุกร์ที่สว่างมาก และอีกประมาณร้อยละ 10 ของยูเอฟโอจะเป็นดาวตก ขยะอวกาศหรือซากดาวเทียมที่ตกสู่โลก
นอกจากบอลลูน เฮลิคอปเตอร์ หรือโดรน (drone) ซึ่งสามารถบินอยู่กับที่ได้ ตลอดจนแสงไฟของเครื่องบินที่อยู่ในมุมซึ่งบินตรงมายังผู้พบเห็น จะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นยานบินลึกลับแล้ว อาการล้าของสายตาเราเองขณะที่จ้องมองวัตถุเล็กๆ บนท้องฟ้า หรือมองขณะที่อยู่ในรถแล่น ก็สามารถหลอกตาเราได้ว่ามันกำลังเคลื่อนตัวในทิศทางที่แปลกประหลาด รวมถึงปรากฏการณ์อื่นๆ อย่างเช่น ภาพสะท้อนมิราจ (mirage) ของวัตถุที่อยู่ระยะไกล แสงสะท้อนของดวงอาทิตย์ เช่น ปรากฏการณ์ซันด็อก (sundog) แสงออโรรา (aurora) แสงสปอตไลต์ฉายขึ้นฟ้า ฟ้าแลบฟ้าผ่า ข้าวของที่ถูกลมพัดปลิวขึ้นฟ้า ฯลฯ หรือแม้แต่การเกิดอุปาทานหมู่ มโนกันไปเอง ก็ล้วนแต่เป็นสาเหตุของการเห็นยูเอฟโอได้
จนถึงวันนี้ แม้ว่าเรายังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันอย่างชัดเจนถึงการมีอยู่ของ “สิ่งมีชีวิตต่างดาวอันทรงภูมิปัญญา” ผู้เดินทางมาเยือนโลกของเราด้วยยานอวกาศข้ามระบบสุริยะและกาแล็กซีได้ แต่โลกนั้นคงไม่ใช่แค่ดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มีสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้น ในอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาลแทบไร้ขอบเขต และมีดาวฤกษ์นับล้านๆ ดวงอย่างแน่นอน เราได้แต่หวังว่าสักวันคงจะมี “ยูเอฟโอ” และมนุษย์ต่างดาวลงมาจอดทักทายกันชัดๆ ไปเลย
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์