‘เหมือนหั่นหัวหอม’ วรรณกรรมเยาวชนดีเด่น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2566

วรรณกรรมสำหรับเด็กของเธอที่มีชื่อเรื่องว่า เหมือนหั่นหัวหอม ชนะเลิศรางวัลหนังสือดีเด่น สพฐ. ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12 – 18 ปี ประจำปี 2566 และยังคว้ารางวัลหนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2566 ประเภทวรรณกรรมเยาวชน

-

ถนนวรรณกรรมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสสนทนากับนักเขียนนิทานอันโด่งดัง นามปากกา ‘สองขา’ หรือศรีสมร โซเฟร เจ้าของผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักอย่าง นิทานชุดคุณแม่สองขา นิทานชุดป๋องแป๋ง ฯลฯ นับเฉพาะประเภทนิทานก็มีออกมากว่าร้อยเล่มแล้ว ยังไม่รวมงานเขียนแนวอื่นซึ่ง ‘สองขา’ ช่ำชองไม่แพ้กัน พิสูจน์ได้จากวรรณกรรมสำหรับเด็กของเธอที่มีชื่อเรื่องว่า เหมือนหั่นหัวหอม ชนะเลิศรางวัลหนังสือดีเด่น สพฐ. ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12 – 18 ปี ประจำปี 2566 และยังคว้ารางวัลหนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2566 ประเภทวรรณกรรมเยาวชนได้ด้วย ครั้งนี้เป็นการสนทนาระยะไกลผ่านzoom ที่เราตื่นเต้นมากๆ เพราะนักเขียนของเราอาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอล ซึ่งกำลังมีสงครามอยู่ขณะนี้

คุณ ‘สองขา’ ช่วยเล่าประวัติส่วนตัวคร่าวๆ และตอนนี้ทำอะไรอยู่ที่อิสราเอลคะ

            หมอนเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนจบประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยเป็นครูที่หมู่บ้านกะเหรี่ยง พบรักกับสามีซึ่งเป็นชาวอิสราเอล ติดตามความรักไปอเมริกา ที่นั่นหมอนเรียนปริญญาโทด้านการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กกลุ่มออทิสติก ดาว์ซินโดรม หรือเด็กที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูด หลังจากนั้นเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู แล้วเป็นครูประจำชั้นห้องเด็กพิเศษที่ซิลิคอนแวลลีย์ อยู่อเมริกา 15 ปี สามีก็ย้ายมาเป็นอาจารย์และนักฟิสิกส์ที่อิสราเอล หมอนเริ่มทำงานเขียนอย่างจริงจังเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วค่ะ ตอนนี้ประกอบอาชีพนักเขียนเต็มเวลา

            ผลงานช่วงแรกเป็นคู่มือให้พ่อแม่และครูอ่าน เกี่ยวกับทำยังไงให้ลูกอ่าน-เขียนเก่ง การฝึกพูด การเลี้ยงลูกสองภาษา มีเขียนเรื่องสั้นสำหรับผู้ใหญ่ แล้วก็หันมาทำหนังสือเด็ก

ที่คุณหันมาทำหนังสือเด็กเพราะเห็นว่าหนังสือประเภทนี้ยังขาดแคลนในไทยรึเปล่า

            ไม่ได้เป็นคนเก่งขนาดนั้นหรอกค่ะ อาจเพราะอยู่อเมริกาแล้วได้เห็นว่าครูที่นั่นจะอ่านหนังสือให้เด็กฟังวันละ 3 รอบ แล้วเรามีลูกด้วย เลยได้อ่านหนังสือเยอะ และเห็นว่าหนังสือหลายแบบยังไม่มีในไทย ตอนนั้นหนังสือเด็กส่วนมากเป็นแนวสอนให้เป็นเด็กดี เชื่อฟังผู้ใหญ่ กตัญญู เราอยากทำประเด็นอื่นบ้าง แล้วหนังสือสำหรับเด็กอายุ 0-2 ขวบแทบไม่มีในท้องตลาด เลยทำนิทานชุดคุณแม่สองขาส่งไปสำนักพิมพ์ ได้รับกระแสชื่นชมอย่างดี ทว่ายังมีอีกประเด็นสำคัญที่อยากสื่อสารอีก เช่น เรื่องการแปรงฟัน การแต่งตัว ตอนแรกจะให้ตัวเอกเป็นเด็กหญิงชื่อจุ๊บแจง แต่ บก. แนะว่ามีนิทานที่เด็กหญิงเป็นตัวเอกเยอะแล้ว ไม่ค่อยมีที่เป็นเด็กชาย จึงเปลี่ยนเป็นชื่อป๋องแป๋งแทน เลยเป็นเรื่องป๋องแป๋งแปรงฟัน ป๋องแป๋งแต่งตัว มีพ่อแม่เขียนมาบอกว่าลูกเลิกขวดนม เลิกผ้าอ้อมได้เพราะป๋องแป๋ง ชื่นใจมากๆ เลยค่ะ ปัจจุบันป๋องแป๋งออกมากว่า 70 เล่มแล้ว

นิทานชุดป๋องแป๋งยังคงมีเล่มใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง?

            ใช่ค่ะ เพิ่มไปเรื่อยๆ อยากให้มีถึงเล่มที่ 100 เป็นอย่างน้อย เขียนประเด็นใหม่ๆ เช่น ป๋องแป๋งไม่ยอม พูดถึงเวลาขึ้นรถเมล์แล้วมีคนมาลวนลาม หรือลุงข้างบ้านถูกเนื้อต้องตัว เพื่อให้เด็กรู้จักภัยเหล่านี้ ป๋องแป๋งถูกลืมในรถ ซึ่งเป็นเล่มที่ช่วยเด็กได้เยอะ มีสื่อญี่ปุ่นมาขอทำข่าว หรือเก้าอี้ของป๋องแป๋ง (ฝึกนั่งคาร์ซีท) ป๋องแป๋งอยากรู้ (มีจู๋ทำไม) ช่วงแรกมีกระแสว่าใช้คำหยาบ แต่สุดท้ายก็ได้รับกระแสชื่นชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่เลี้ยงเดี่ยว เขียนมาบอกว่าหนังสือช่วยเขาชี้แจงให้ลูกเข้าใจได้ง่ายขึ้น

วรรณกรรมเยาวชนเรื่องเหมือนหั่นหัวหอม ได้รับแรงบันดาลใจจากอะไร และทำไมถึงใช้ ‘หัวหอม’ เปรียบเทียบ

            ตอนเด็กๆ หมอนถูกเพื่อนล้อว่าไอ้เตี้ย มีเด็กเอาขนมมาให้ เพื่อนก็ล้อว่า ไอ้อ้วนจีบไอ้เตี้ย พอเราโตขึ้นเป็นครูก็ยังเห็นการล้อเลียนดำรงอยู่ในสังคมไทย ส่งต่อมายังรุ่นลูก รุ่นหลาน ไม่หายไปไหน และหลายครั้งครูก็เป็นคนจุดชนวน เรียกนักเรียนว่า ไอ้แว่น ไอ้อ้วน ไอ้ดำ ต่อให้พูดด้วยความเอ็นดู แต่คำเหล่านั้นล้วนสร้างบาดแผล และเราจะต้องอยู่ในสังคมที่เห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติไปถึงเมื่อไหร่ ทั้งที่มันไม่ปกติ น่าจะลดละเลิกไปได้แล้ว เลยอยากเขียนถึงเรื่องนี้

            ส่วนทำไมเลือกหัวหอมมาพูดถึง เพราะเป็นสิ่งใกล้ตัว ตอนอยู่อเมริกาเคยเป็นครูสอนทำอาหารไทย และมีคนถามว่าจะหั่นหัวหอมยังไงไม่ให้น้ำตาไหล ต่อให้มีเคล็ดลับการหั่น สุดท้ายก็น้ำตาไหลอยู่ดี เป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ไม่ร้ายแรงถึงตาย ก็เหมือนกับการถูกบุลลี แม้จะไม่มีเรื่องรุนแรงเกิดขึ้น แต่ก็สร้างบาดแผลไว้ ทว่าอยากให้เด็กๆ ฮึด มันจะผ่านไป เราไม่ร้องไห้ไปตลอดหรอก

ทำไมถึงเลือกเล่าผ่านตัวละครซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ป.4

            เด็ก ป.4 เป็นช่วงกำลังเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น เป็นวัยที่กำลังบ่มเพาะตัวตน อยากเข้าใจโลก เข้าใจตัวเอง อยากพิทักษ์ความยุติธรรม เริ่มอยากดูหล่อดูเท่ คิดว่าถ้าจะพูดเรื่องบุลลี ก็น่าจะปลูกฝังเขาในวัยนี้แหละ

 ผลงานเรื่องนี้มีส่วนที่ยากหรือท้าทายกว่าเรื่องอื่นๆ ไหม

            เขียนไม่ยากนะ เพราะเรื่องในหัวชัด แต่สิ่งที่ยากคือการขาย อย่างที่รู้กันว่าหนังสือไทยที่ขายยากมากคือรวมบทกวี และวรรณกรรมเยาวชน ขนาดเหมือนหั่นหัวหอมได้รางวัลสองสถาบันการันตี ยังขายไม่หมดเลย เรามีไอเดียอยากเขียนโน่นเขียนนี่นะ แต่เขียนแล้วพิมพ์ยาก ขายยาก สำนักพิมพ์ก็ไม่อยากเสี่ยงขาดทุนหรอก อยากให้มีการส่งเสริมผลักดัน และมีหลายคนพูดว่าที่ป๋องแป๋งขายดีเพราะเป็นเรื่องสำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่มีการบ้าน เด็กไทยการบ้านเยอะ เรียนหนัก จะเอาเวลาที่ไหนมาอ่านหนังสืออื่น

ระหว่างเขียนเกิดเหตุการณ์ประทับใจอะไรบ้าง

            ในเรื่องได้กล่าวถึงสำนวนอาหรับ ‘ยม บะซัล ยม อะซัล’ แปลว่า วันหนึ่งหัวหอม วันหนึ่งน้ำผึ้ง หมายความว่าคนเราย่อมมีวันที่แย่และวันที่ดี ระหว่างเขียนมีอยู่วันหนึ่งหัวหอมถูก เราจึงซื้อตุน แล้วก็ลืมกิน จนส่งกลิ่นเน่า เราเลยลอกเปลือกที่เน่าออก ข้างในยังกินได้ บางส่วนก็เอาไปปักดิน งอกเป็นต้นหอม เราเห็นชีวิตผ่านหัวหอมนะ อย่ามองคนที่เปลือก ค่อยๆ ลอกออกจะเจอความงดงามภายใน และต่อให้มีส่วนเสียหาย แต่ก็สามารถงอกงามขึ้นใหม่ได้ ส่วนตัวไม่ชอบกินหัวหอม กลายเป็นชอบเพราะเขียนเรื่องนี้

สารที่อยากส่งผ่านผลงานเรื่องนี้

            อยากบอกเด็กๆ ให้สะบัดบ็อบใส่คนที่มาล้อเรา แกล้งเรา นั่นเป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา ยังมีสิ่งดีๆ รออยู่ อย่าเพิ่งสิ้นหวัง เหมือนการหั่นหัวหอม เราอาจน้ำตาไหล แต่ไม่กี่นาทีน้ำตาก็หยุด อย่าไปกลัวน้ำตา อย่ากลัวว่าต้องร้องไห้ตลอดไป เรื่องการบุลลีก็อยากให้เลิกเถอะ แทนที่จะบุลลีเปลี่ยนมาชื่นชมกันดีกว่า สมัยหมอนไปอเมริกาใหม่ๆ ภาษายังไม่ดี สิ่งแรกที่เขาสอนคือเขียน Thank you note ชมคนอื่น ช่วยส่งเสริมเรื่องของมุมมองที่ดี

ความรู้สึกต่อรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด

            หมอนไม่คิดเลยว่าจะได้รางวัลอะไรอีกแล้ว เพราะเราเคยโดนแบน โดนวิจารณ์อย่างหนักจากการทำนิทานวาดหวัง พอได้รางวัลนี้ก็ดีใจมากๆ ไม่คิดไม่ฝัน แถมเงินรางวัลก็สูงด้วย สูงที่สุดตั้งแต่เคยได้มา หมอนจะเอาเงินที่ได้นี้ไปซื้อหนังสือส่งให้เด็กๆ และเป็นทุนรอนทำนิทานวาดหวังต่อ

หนังสือในสไตล์ของ ‘สองขา’ มุ่งนำเสนอและไม่นำเสนออะไร

            อ่านแล้วรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเอง สนุก มีความสุข ชีวิตมีความหวัง อย่างเรื่องเหมือนหั่นหัวหอม เด็กทุกคนมีปัญหา แต่ชีวิตก็ไปต่อได้ อยากบอกเด็กๆ ที่อ่านว่าเราทำได้ เราแปรงฟัน เราอาบน้ำเองได้ อยากให้เด็กๆ ใฝ่รู้ใฝ่เรียนในโลกกว้างไม่เพียงแต่ในห้องเรียน เช่น ผลงานนิทานเอ๊ะ (เป็นสุขที่สงสัย) หรือ ฉันคือใคร คือใครนะ? อยากให้เด็กมีคำถาม มีความสงสัย ไม่เหมือนเด็กเจเนอเรชันก่อนที่ถูกปิดปาก ส่วนหนังสือที่จะไม่นำเสนอคือเรื่องความรุนแรง การทำร้ายผู้อื่น อคติ เรื่องงมงายไสยศาสตร์ จะไม่ชักจูงเด็กในทางนั้น

วรรณกรรมสำหรับเด็กเจนอัลฟา หรือเด็กรุ่นใหม่ มีส่วนไหนที่ต้องพัฒนาขึ้นจากเดิม

            หมอนเป็นเด็กเจนเอกซ์ ลูกหมอนเป็นเด็กเจนวาย หลานของหมอนเป็นเด็กเจนเอ หรืออัลฟา หมอนว่าเด็กทุกยุคทุกสมัย ทั่วทั้งโลก มีลักษณะสากลร่วมกัน เขาอยากเติบโตงอกงาม อยากได้รับความรักความเข้าใจ เห็นคุณค่า ธีมของหนังสือสำหรับเด็กจึงไม่เปลี่ยนไปนัก คือส่งเสริมให้เขาได้เติบโต เพียงแค่สภาพแวดล้อมในเรื่องเปลี่ยน จะให้มาหยอดเหรียญกดตู้โทรศัพท์คงไม่ใช่ แล้วประเด็นต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เรื่องสิ่งแวดล้อม โลกร้อน สมัยนี้ต้องให้ความสนใจมากขึ้น เรื่องเทคโนโลยีก็ต้องมีการพูดถึงด้วย

หนังสือยังจำเป็นแก่พัฒนาการเด็กๆ ในวันที่โตมาแล้วมีเทคโนโลยีพร้อมไหม

            มีงานวิจัยทั่วโลกว่าช่วง 2 ขวบปีแรกเด็กยังไม่ควรติดจอ หนังสือจึงจำเป็นสำหรับเด็กเล็กมาก เพราะเป็นเพื่อนที่พาสู่โลกกว้าง ส่วนจอก็ไม่ใช่เรื่องแย่ แค่ต้องรอเวลาที่พร้อม หมอนเคยเป็นครูสอนในเมืองที่เป็นแหล่งกำเนิดคอมพิวเตอร์ของโลก แต่เด็กแถบนั้นแทบไม่ใช้คอมฯ เลย ลูกเราก็ไม่เล่นเกม เพราะมีกิจกรรมให้เขาทำเยอะ ทั้งดนตรี กีฬา ศิลปะ เขาได้เล่น ได้ปีนป่ายกับเพื่อน

3 เล่มในดวงใจของ ‘สองขา’

  • โลกของหนูแหวน

แต่งโดย ‘ศราวก’

ชอบมาก เปิดตาเปิดใจเรา มีบทหนึ่งเขียนว่า หนูแหวนอยากเป็นอะไร หนูแหวนยกมือสากๆ ของพ่อที่เป็นชาวนาแตะแก้ม “พ่อจ๋า หนูอยากเป็นมือพ่อ” หรือหนูแหวนกินข้าวโพด มีเมล็ดหนึ่งสีน้ำตาลต่างจากเมล็ดอื่น จึงมีอีโก้คิดว่าตัวเองเด่น หนูแหวนครุ่นคิด สุดท้ายเธอก็ถูกกินเหมือนกัน จบหักมุมทุกตอนเลย หนูแหวนเป็นเด็กช่างคิดไม่ต่างจากเจ้าชายน้อย สามีของหมอนอยากเรียนภาษาไทย เราก็ให้เล่มนี้ไปอ่าน เขาเลยแปลเป็นภาษาฮิบรู

  • ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก

แต่งโดย ‘อี.บี.ไวท์’

มิตรภาพในเรื่องดีมาก แมงมุมไม่ใช่ตัวร้ายเหมือนภาพจำ และความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

  • แวววัน

แต่งโดย: ‘โบตั๋น’

นางเอกเกิดในครอบครัวยากจนปลูกใบพลูขาย แต่รักเรียนได้เข้าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชอบผลงานแนวสู้ชีวิตของคุณ ‘โบตั๋น’ เป็นแรงบันดาลใจว่า แม้เกิดมายากลำบากขนาดไหน You have to be strong และถ้าแวววันทำได้ ฉันก็น่าจะทำได้ ลองฮึดดูนะ แวววันจึงเหมือนพระไตรปิฎกสำหรับชีวิตของหมอนเลย เปลี่ยนชีวิตเรา เราทำได้นะ ไม่ต้องมีพระเอก เราก็อยู่คนเดียวได้ เป็นนางเอกของชีวิตตัวเอง


คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!