สัจจะในชุมโจร โจร วีรบุรุษ และความอยุติธรรม

-

ละครชุดเสือสั่งฟ้า ที่สร้างโดยบริษัทกันตนากรุ๊ป ได้ดำเนินมาถึงภาคที่ 3 แล้ว ใช้ชื่อว่าสัจจะในชุมโจร แต่ยังคงตัวละครหลักคือบรรดาเสือปล้น เรื่องราวยังเกิดขึ้นในชุมโจร ที่มีโจรมากหน้าหลายตา และหลายอุปนิสัย มีเรื่องราวของประเด็นสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง จนดูเหมือนเป็นแนวเรื่องที่คล้ายคลึงกันทุกภาค ถึงกระนั้นทุกภาคทุกตอนก็สร้างความน่าสนใจให้ผู้ชมเฝ้ารอคอยและติดตามดูอยู่เรื่อยมา

บริบททางสังคมที่เป็นฉากหลังของเสือสั่งฟ้า ก็คือเรื่อง “เสือ” หรือ “ชุมโจร” ที่เกิดขึ้นเรี่ยรายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงทศวรรษ 2510 ตลอดระยะเวลาสองทศวรรษในสังคมนี้ คู่ขัดแย้งระหว่างโจรกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ได้เกิดเรื่องเล่าของวีรบุรุษขึ้นมากมาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่คนไทยรู้จักดี คือ ขุนพันธรักษ์ราชเดช นายตำรวจมือปราบจอมขมังเวทย์ ผู้เลื่องชื่อในสังคมไทย ตลอดจนบรรดาเสือร้ายกลับใจ ซึ่งต่อมาได้ยึดผ้ากาสาวพัสตร์ หันหลังให้การปล้นฆ่า แต่กลับใช้ธรรมะสอนผู้คนจนโด่งดัง อาทิ เสือขาว เสือดำ เสือใบ เสือมเหศวร

เสือร้ายในสังคมไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกบันทึกไว้ในรูปวรรณกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของ “ป.อินทรปาลิต” ชุดเสือดำ เสือมเหศวร ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของบรรดา “โจรผู้ดี” และเรื่องราวใน “ชุมโจร” จนกลายเป็นภาพจำของคนในสังคมไทยในเวลาต่อมา ประกอบกับโจรผู้ดีนี้มีครรลองชีวิตคล้ายโรบินฮู้ด นิทานในคติชนของตะวันตก ซึ่งกล่าวถึงจอมโจรที่ปล้นคนรวยไปแจกคนจน กระทั่งได้รับการยอมรับว่าเป็นวีรบุรุษในหมู่คนยากจน  นิทานโรบินฮู้ดแพร่ไปในดินแดนต่างๆ และมีการขยายหรือเพิ่มเติมเหตุการณ์ แล้วผูกเรื่องให้เข้ากับบริบทสังคมที่นิทานเรื่องนี้แพร่หลายอยู่

   “ป.อินทรปาลิต” อาจนำเอาจินตนาการมาผสานกับเนื้อหาของนิทานโรบินฮู้ดที่แพร่เข้ามาในสังคมไทย และเรื่องราวของนิยายก็สวมทับกับเรื่องจริงในสังคมไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นได้ และต่อมาเกิดความนิยมเสพเรื่องราวเกี่ยวกับโจรผู้ดี ที่ปล้นคนรวยมาแจกคนจนให้แพร่ไปทั่วในสังคมไทย ดังจะพบเป็นอนุภาคสำคัญอย่างหนึ่งในนิยายแนวบู๊ซึ่งแพร่หลายในช่วงหลังพุทธศักราช 2500 เป็นต้นมา

แนวเรื่องในเรื่องเล่าไทย ทั้งในรูปแบบนวนิยายและมุขปาฐะของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ “เสือปล้น” ต่างก็เล่าไปในทำนองเดียวกันคือ หัวหน้าชุมโจรเป็นผู้ดี มีชาติตระกูล บางเรื่องมีการศึกษา แต่ทว่าถูกบีบคั้น ได้รับความอยุติธรรม ซึ่งกฎหมายไม่สามารถให้คำตอบแก่เขาได้ เขาจึงเลือกใช้วิธีการของโจรเพื่อทวงคืนความยุติธรรม  ต่อมามีคนรู้เห็นอุดมการณ์ของหัวหน้าชุมโจร ประกอบกับมีคนที่ต้องการทวงคืนความยุติธรรมเช่นเดียวกัน ก็เข้ามารวมตัวกัน จนกลายเป็น “ชุมโจร”

การใช้คำว่า “ชุมโจร” ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจรนั้นมีจำนวนมาก เสมือนเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งบรรดาผู้ชายในหมู่บ้าน (ชุมโจร) นั้นประกอบอาชีพปล้นชิงและฆ่าคนจนกลายเป็นตำนาน มีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะหากฝ่าฝืนกฎเหล็กของชุมโจรก็หมายถึงความตาย เช่นเดียวกับเสือเดช ตัวละครหลักในเรื่องสัจจะในชุมโจร ตั้งกฎเหล็กไว้ว่า เสือในชุมโจรของตนต้องไม่ฆ่าคนบริสุทธิ์ และปล้นเฉพาะคนเลว เศรษฐี ผู้มีเบื้องหลังทุจริต คดโกง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนหรือสังคม เมื่อปล้นแล้วก็จะไม่ยักเอาทรัพย์สมบัติที่ปล้นมาไว้เป็นของตัว แต่ต้องแจกจ่ายให้คนจนที่ด้อยโอกาส เสือเดชยังแจ้งเบาะแสไปยังตำรวจให้มาจับคนทุจริตที่เขาปล้นอีกด้วย  เสือเดชดำรงตนเป็นโจรผู้ดีอย่างแท้จริง อุดมการณ์ของเขานี้มาจากพ่อผู้ถูกกฎหมายอันไม่ยุติธรรมรังแกจนเสียชีวิต ส่วนแม่ก็ตรอมใจตาย มีเพียงมรดกคือคำสอนกับดาบที่พ่อฝากไว้ให้เขาใช้ทวงคืนความยุติธรรม ภาพจำของเสือเดชก็คือ เมื่อปล้นแล้ว จะเอาดาบของพ่อปาดใบหน้าให้เป็นแผล เพื่อบอกแก่คนทั่วไปว่าเป็นฝีมือของเสือเดช

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในละครชุดเสือสั่งฟ้าก็คือ อาคมไสยศาสตร์ที่บรรดาตัวละครในเรื่องใช้กัน ซึ่งน่าจะมาจากเรื่องเล่าของบรรดาโจรที่มักมีวิชาอาคมและเครื่องรางไว้ป้องกันตัว จนกระทั่งขุนพันธรักษ์ราชเดชจำต้องเรียนวิชาขมังเวทย์เพื่อปราบโจร ชุดความจริงนี้นอกจากแสดงให้เห็นถึงการมีวิชาที่อยู่ “เหนือธรรมชาติ” และ “เหนือเหตุผล” แล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของการท้าทายกฎหมายในสังคมไทยว่ามิอาจปราบคนเหล่านี้ได้ ไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้ เป็นสิ่งคลุมเครือ มิต่างจาก “ความยุติธรรม” ที่กลายเป็นสิ่งคลุมเครือในสังคมไทยนั่นเอง   คาถาอาคมยังเป็นเครื่องแสดงออกถึงความเป็น “ลูกผู้ชาย” เพราะผู้ที่จะได้รับการถ่ายทอดวิชาไสยศาสตร์ ต้องยึดถือสัจจะ มีข้อห้ามบางประการที่ต้องยึดถืออย่างเคร่งครัด มิใช่ว่าผู้ชายทุกคนในสังคมไทยจะมีได้เท่าเทียมกัน ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการถ่ายทอดไว้ในละครเรื่องสัจจะในชุมโจร    ในประเด็นเรื่องการปล้นคนรวยไปแจกคนจน แสดงให้เห็นถึงความเป็น “วีรุบุรุษ” ในกลุ่มชาวบ้าน ผู้ซึ่งต้องการเรียกร้องความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และโกรธคนรวยที่เอารัดเอาเปรียบพวกเขา เมื่อเสือเดชไม่สามารถใช้กฎหมายช่วยเหลือชาวบ้านได้ เขาจึงต้องใช้กฎของชุมโจร นั่นก็คือ “สัจจะ” ที่เขาให้สัญญาแก่บิดานั่นเอง

แม้จะมีเสือสั่งฟ้าอีกกี่เวอร์ชัน คนดูก็ยังคงติดตามชมอยู่ ทั้งที่แนวเรื่องและการนำเสนอยังซ้ำรอยเดิมๆ เรื่องเสือสั่งฟ้าก็ยังมีเสน่ห์ เพราะสามารถตอบโจทย์สิ่งที่อยู่ในใจของผู้ชมได้

ตราบใดที่สังคมไทยยังมีคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ และการถูกรังแกจากคนที่มีฐานะทางสังคมสูงกว่า คนอย่างเสือเดชก็ยังคงเป็นวีรบุรุษซึ่งสังคมไทยต้องการ เพียงแต่ “เสือเดช” ในชีวิตจริงไม่ได้ใช้การปล้นคนรวยไปแจกคนจนอย่างในละคร  หากแต่เสือเดชในชีวิตจริงได้ปรากฏโฉมในรูปแบบของนักการเมืองที่สัญญาว่าจะทำนั่นทำนี่ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทยในเชิงลึกได้


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง เรื่อง: “ลำเพา เพ่งวรรณ” ภาพ: https://www.facebook.com/Ch7HD

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!