ความจริงเกี่ยวกับความทรงจำ

-

มนุษย์มักเชื่อว่าตนเองจำอะไรได้แม่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวานหรือเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าเสียใจว่าโดยแท้จริงแล้วความจำของมนุษย์เรานั้นมิได้แม่นยำอย่างที่คิดเลย นอกจากนี้มนุษย์ยังมีความรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงของเรื่องความจำน้อยมากจนอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ในกรณีเป็นพยานในศาล

มนุษย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าในหัวเรามีสิ่งที่คล้ายกับ “กล้องวิดีโอ” บันทึกทุกเหตุการณ์ที่เราเห็นและได้ยินไว้เพื่อที่เราจะสามารถเปิดดูได้ในภายหลัง  ความเชื่อนี้ผิดอย่างสิ้นเชิง

คำถามสำคัญก็คือความทรงจำทำงานอย่างไร เรื่องนี้อธิบายได้โดยสมมติว่าในสมองลึกๆ ของคุณมีคนแก่ใจดีนั่งอยู่ ลุงใจดีคนนี้ตั้งใจช่วยแต่ไม่สามารถเล่าเรื่องอดีตของคุณได้อย่างแม่นยำ เท่าที่ลุงทำได้ที่สุดก็คือเล่าเรื่องของคุณโดยตัดแต่งบ้างเพื่อให้เกิดความกะทัดรัดและมีความชัดเจนขึ้น

ลุงจะเล่าเรื่องที่นึกว่าคุณจำเป็นต้องรู้ บางครั้งก็แต่งเติมสีสันเพื่อเพิ่มรสชาติโดยไม่แยแสเรื่องความแม่นยำ หรืออาจละเลยบางเรื่องเพื่อไม่ให้คุณเจ็บปวดหรือรู้สึกอับอาย บางครั้งลุงเล่าเรื่องหลายๆ เรื่องที่ผิดอย่างมิได้ตั้งใจ บางครั้งลุงก็สับสน หรือเล่าอย่างหละหลวม มองข้ามเรื่องสำคัญไป ลุงอาจเอาข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาใส่ในเรื่องด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือความจริงเกี่ยวกับความทรงจำซึ่งไม่เป็นระเบียบ บางส่วนไม่มีเหตุมีผลซึ่งต่างจากไฟล์ข้อมูลในฮาร์ดไดรฟ์ของคอมพิวเตอร์ซึ่งจัดเรียงตามวันที่ไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ ความทรงจำของมนุษย์จะถูก “ฝัง” ไว้ข้างในและเชื่อมต่อกับความทรงจำอื่นๆ ในลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องมีตรรกะเสมอไป

 

 

ความทรงจำในเรื่องหนึ่งมักโยงใยกับความทรงจำในเรื่องอื่นๆ มิได้อยู่โดดๆ ตามลำพังเสมอไป ความทรงจำมาถึงเราในลักษณะที่คล้ายกับนักสืบ หรือนักมานุษยวิทยาผู้ใช้ข้อมูลอย่างละนิดอย่างละหน่อยมาประกอบกันเพื่อสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์และเหตุการณ์ในอดีต สิ่งพึงระวังเกี่ยวกับความทรงจำก็คือ ความทรงจำของมนุษย์เชื่อถือไม่ได้ทั้งหมด ความทรงจำของเราทำงานโดยไม่คำนึงถึงการเก็บความแม่นยำ หรือรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต มันสมองของเราไม่ใช่เครื่องบันทึกภาพและเสียงส่วนตัว เราอาจเชื่อว่าเราสามารถ “รีเพลย์” บางสิ่งจากอดีต แต่แท้จริงแล้วเราทำไม่ได้ เราอาจนึกเห็นภาพในอดีตอย่างชัดเจนในใจของเรา แต่นั่นไม่ใช่ภาพแท้จริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด  มันเป็นเพียงวิดีโอสารคดีชนิดที่จำลองเหตุการณ์จำลองอย่างมีสีสันแทรกอยู่ด้วยเท่านั้น (docudrama)

เมื่อเราจำสิ่งใดได้ ความทรงจำของเราที่เกิดขึ้นจะเล่าเรื่องให้สมองฟัง และส่วนหนึ่งจะหายไปในการส่งผ่านนี้ เราควรมองว่าความทรงจำของเราให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่สมอง แต่มันเป็นชุดของข้อมูลที่ถูกส่งออกไปเพื่อช่วยให้เราสามารถต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและวางแผนต่อไปในอนาคตได้  มันมิใช่ “ข้อความที่ถอด” ออกมาเป็นตัวหนังสือจากคำพูดที่ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ เลยของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

พอฟังแล้วอาจคิดว่ามันทำให้ชีวิตเรายุ่งยากซับซ้อน แต่ในความเป็นจริงนั้นมันทำงานได้ดี ตลอดเวลากว่า 2 ล้านปีที่มีมนุษย์ถือกำเนิดในโลก เราอยู่รอดและดำรงชีวิตสืบกันมาก็เพราะความทรงจำของเราแบบนี้ทำงานได้ดีพอควร  เราไม่มีความทุกข์มากเกินไปกับอดีต เพราะความทรงจำจะถูกขัดแต่งและตัดส่วนที่อาจทำให้เราไม่สบายใจทิ้ง แล้วเติมสีสันอย่างแตกต่างจากความเป็นจริงโดยเราไม่รู้ตัว

เพราะว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์ของความทรงจำเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่ควรไว้ใจความทรงจำมากเกินไป เราควรมีความสุขกับความทรงจำโดยตระหนักว่ามันมีส่วนของความจริงอยู่มากแต่ไม่ทั้งหมด

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ข้างต้นมาจากนักจิตวิทยาด้านความทรงจำกาย พี.แฮร์ริสัน (Guy P. Harrison) และรอเบิร์ต แนช (Robert Nash) แห่งมหาวิทยาลัยแอสตัน (Aston University) ในอังกฤษ


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!