ปลูกต้นไม้ในห้องนอนได้หรือไม่
ในยุคสมัยที่คนไทยเรา โดยเฉพาะชาวกรุงเทพมหานคร นิยมพักอาศัยอยู่ในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมกันมากขึ้น เพราะใกล้ที่ทำงานและสามารถเดินทางไปทำงานได้สะดวกขึ้นด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โอกาสที่เราจะได้ชื่นใจกับไม้นานาพรรณในสวนหย่อมของบ้านก็ลดน้อยลงด้วย ทั้งๆ ที่ต้นไม้เป็นแหล่งสำคัญในการสร้างก๊าซออกซิเจนและให้ความสดชื่นรื่นรมย์แก่ชีวิต หลายๆ คนจึงหันมาปลูกต้นไม้กระถางไว้ในที่พักของตน
ถ้าเป็นต้นไม้เล็กๆ วางไว้ตามห้องนั่งเล่นของที่พัก ก็คงไม่เป็นอะไร แต่มักมีคำเตือนที่พูดกันมานานแล้วว่า ไม่ควรปลูกต้นไม้ไว้ในห้องนอน เพราะต้นไม้จะแย่งอากาศเราหายใจในเวลากลางคืน ถึงแม้ในเวลากลางวัน ต้นไม้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคายก๊าซออกซิเจนที่ดีต่อสุขภาพของเรา แต่ในเวลากลางคืน ต้นไม้กลับดูดซับก๊าซออกซิเจน และคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทน ในห้องนอนของเราเลยมีอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ นอนแล้วรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก และไม่ดีต่อสุขภาพโดยรวม เรื่องนี้จริงหรือ?
การที่พืชจะคายก๊าซชนิดใดมากกว่ากัน ระหว่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับก๊าซออกซิเจน ในช่วงกลางวันและกลางคืนนั้น เราต้องพิจารณากระบวนการทางชีวภาพทั้ง 2 อย่างภายในต้นไม้ นั่นคือ การสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) และการหายใจ (respiration) ของเซลล์พืช
การสังเคราะห์ด้วยแสง คือการที่พืชสร้างสารอาหารพวกน้ำตาลขึ้นเอง ด้วยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งอากาศผ่านเข้าไปในใบพืชทางปากใบ โดยใช้แสงเป็นแหล่งพลังงานในการทำปฏิกิริยาร่วมกับสารรงควัตถุที่รับแสงได้ เช่น คลอโรฟิลล์ ภายในเซลล์ของใบพืช และสุดท้ายจะมีการปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาด้วย ส่วนการหายใจของพืชเป็นการย่อยสลายโมเลกุลของน้ำตาลที่สร้างขึ้นจากการสังเคราะห์ด้วยแสง เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานของเซลล์ในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยจะต้องนำเอาก๊าซออกซิเจนไปใช้สำหรับหายใจ และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ไม่ต่างอะไรกับการหายใจของสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
จะเห็นได้ว่า พืชมีการสังเคราะห์ด้วยแสงเฉพาะในเวลากลางวัน ขณะที่มีการหายใจตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ปริมาณของก๊าซที่พืชคายในแต่ละช่วงเวลานั้น จึงขึ้นอยู่กับอัตราส่วนสุทธิระหว่างกระบวนการทั้งสองว่ากระบวนการใดทำงานมากกว่ากัน โดยทั่วไปแล้ว ในเวลากลางวัน พืชดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งจากในอากาศและจากการหายใจ ไปใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสง ขณะที่ในเวลากลางคืน พืชส่วนใหญ่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาด้วยการหายใจ โดยไม่มีการดึงเอาไปใช้เนื่องจากไม่มีการสังเคราะห์ด้วยแสง
แล้วอย่างนี้ เราไม่ต้องห่วงเรื่องที่พืชจะดูดออกซิเจนและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในห้องนอนของเราเวลากลางคืนหรือ? คำตอบคือ ไม่ต้องกังวลขนาดนั้น ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่พืชปล่อยออกมาในเวลากลางคืนนั้น นับว่าน้อยมากๆ รวมถึงปริมาณของก๊าซออกซิเจนที่พืชใช้ไปในเวลากลางคืน ก็นับว่าน้อยมากๆ เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ต้นไม้หนึ่งต้นที่มีใบไม้ปริมาณ 1 ปอนด์ (0.45 กิโลกรัม) ใช้ก๊าซออกซิเจนประมาณ 0.1 ลิตร เมื่อเทียบกับคนหนัก 150 ปอนด์ (68 กิโลกรัม) ที่กำลังนอนพัก จะใช้ก๊าซออกซิเจนถึง 71 ลิตรในเวลาเท่ากัน หรืออาจกล่าวได้ว่า การที่เรานอนร่วมห้องกับคนอีกคนหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรามากกว่าการปลูกต้นไม้ไว้ในห้องนอนหลายสิบหลายร้อยเท่า
ข้อกังวลเรื่องปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพืชที่ปลูกไว้ในห้องนอน จะยิ่งลดน้อยลงอีกถ้าเลือกปลูกพืชชนิดที่เป็น CAM (Crassulacean Acid Metabolism plant) ซึ่งเป็นพืชที่มักพบในเขตแห้งแล้งหรือทะเลทราย เนื่องจากมีโอกาสสูญเสียน้ำมากในเวลากลางวันที่อากาศร้อนจัด มันจึงมีวิวัฒนาการหลายอย่างเพื่อให้สามารถลดการสูญเสียน้ำ เช่น มีลำต้นอวบไว้เก็บสะสมน้ำ ใบลดรูปเล็กลงหรือกลายเป็นหนาม และที่สำคัญคือ พวกมันสามารถปิดปากใบในเวลากลางวันเพื่อลดการคายน้ำ แล้วเปิดปากใบในเวลากลางคืนที่อากาศเย็นกว่า ด้วยเหตุนี้พืชกลุ่ม CAM จึงรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศและจากการหายใจของมันเองมาเก็บสะสมไว้ในเวลากลางคืน พร้อมกับปล่อยความชื้นและก๊าซออกซิเจนออกมา ผิดกับพืชชนิดอื่นๆ ทั่วๆ ไป และกลายเป็นกลุ่มพืชที่เหมาะแก่การปลูกไว้ในห้องนอน ตัวอย่างของพืช CAM ที่นิยมปลูกในห้องนอน ได้แก่ กล้วยไม้หวาย กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส ต้นลิ้นมังกร ต้นว่านหางจระเข้ พืชทะเลทรายต่างๆ เช่น กุหลาบหิน แคคตัสหรือกระบองเพชร ฯลฯ
การปลูกต้นไม้ในอาคารบ้านเรือนยังมีข้อดีอีกหลายประการ ผลการศึกษาขององค์การ NASA พบว่า นอกจากต้นไม้ที่ปลูกไว้ในห้องจะช่วยสร้างออกซิเจนสะสมไว้ในเวลากลางวัน ซึ่งช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้นในเวลากลางคืนแล้ว ต้นไม้ยังช่วยลดปริมาณของสารระเหยที่เป็นพิษในห้อง เช่น เบนซีน (benzene) ฟอร์มัลดีไฮด์ (formaldehyde) ไตรคลอโรเอทีลีน (trichloroethylene) ไซลีน (xylene) และโทลูอีน (toluene)
ไม่เพียงช่วยปรับปรุงคุณภาพของอากาศในห้องนอน ใบของต้นไม้ยังทำหน้าที่เหมือนเครื่องลดความชื้นที่มีมากเกินไปในอากาศ จึงเป็นประโยชน์มากถ้าห้องนั้นอับชื้นหรือมีเชื้อรา การที่มีต้นไม้สีเขียวอยู่ในห้อง ยังช่วยลดระดับความเครียดลงได้ ทดแทนการเดินชมสวนข้างนอก ขณะที่การปลูกไม้ดอกในห้องนอน เช่น มะลิ ลาเวนเดอร์ จะช่วยเพิ่มกลิ่นหอมภายในห้อง ซึ่งช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามต้องระวังด้วยว่า การปลูกต้นไม้ในห้องนอนอาจจะทำให้ห้องของคุณเลอะเทอะได้จากดินและน้ำที่ใช้ปลูก รวมทั้งถ้ามีสัตว์เลี้ยง เช่น หมาหรือแมว ก็ต้องเลือกให้ดีว่าต้นไม้ที่จะปลูกนั้นเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงหรือไม่ หากพวกมันบังเอิญกินเข้าไป
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ / เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์